ที่มาและหลักการ เขียนเปลี่ยนชีวิต

โดย อนุรักษ์ เม่นหรุ่ม C.Ht (ครูโอเล่) 

สถาบันธรรมวรรณศิลป์

ปัจจุบันมีการนำการเขียนมาใช้ในวงการการศึกษาทางเลือก การบำบัดเยียวยาสุขภาพจิต ส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพร่างกาย และการอบรมพัฒนาศักยภาพอย่างแพร่หลายมากขึ้น  ลักษณะการเขียนเช่นนี้มาจากสามสายหลักๆ ได้แก่ 1 การเขียนบำบัด (Therapeutic Writing and Expressive Writing) ในวงการการแพทย์และสุขภาพ  2 การเขียนเพื่อการใคร่ครวญ (Reflective Writing)  และการเขียนบันทึกสร้างสรรค์ (Creative Writing) ในกลุ่มนักฝึกอบรม  3 และการเขียนเชิงจิตวิทยาในกลุ่มนักจิตวิทยาและนักฝึกอบรมที่เน้นกระบวนการการเขียน

 

สองสายหลังริเริ่มและพัฒนาแพร่หลายก่อนสายแรกในช่วงราวทศวรรษที่ 76-79 ซึ่งเพิ่งมีการศึกษายอมรับอย่างเป็นจริงเป็นจังในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมาเกี่ยวกับคุณประโยชน์จากการเขียนเชิงประจักษ์ด้านสุขภาพ จนมีงานศึกษาวิจัยจากกลุ่มบุคคลต่างๆ มากกว่า 200 ชิ้น

 

สำหรับ หลักสูตร “เขียนเปลี่ยนชีวิต” ของสถาบันธรรมวรรณศิลป์ ใช้แนวทางองค์ความความรู้ที่พัฒนาจากทั้งสามสาย โดยดึงจุดเด่นของแต่ละแนวทางที่เคยมีการศึกษาวิจัย เผยแพร่ความรู้ และดำเนินงานมาแล้ว  ผสานกับองค์ความรู้ด้านการรู้จักตนเอง อาทิ จิตวิทยาเชิงกระบวนการ (Process Work)  จิตวิทยาตัวตน (Voice Dialogue)  เด็กน้อยภายใน  พุทธธรรม  เป็นต้น เกิดเป็นหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาชีวิตในหลากหลายด้าน ได้แก่ เขียนค้นตน : เขียนเพื่อการรู้จักตัวตนหลากหลายด้าน , เขียนข้ามขอบ : เขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงมุมมองความคิดและดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง , เขียนเยียวยา : เขียนเพื่อการบ่มเพาะความสุขและเยียวยาความทุกข์ในจิตใจ และ เขียนภาวนา : เขียนเพื่อกำกับจิตและพินิจหลักธรรมประสานกับจังหวะลมหายใจ โดยได้ดำเนินการมาแล้วมากกว่า 45 รุ่น ในปี พ.ศ.2563

 

มีหนังสือตีพิมพ์เกี่ยวกับการเขียนเพื่อพัฒนาชีวิตอย่างหลากหลายด้านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Journalution , Writing as a Way of Healing , Write Yourself, Writing the Natural Way เป็นต้น นอกเหนือจากด้านสุขภาวะและการรู้จักตนเอง ยังเป็นหัวเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การบ่มเพาะเชิงจิตวิญญาณ การเขียนบันทึกเพื่อเข้าใจคัมภีร์ไบเบิ้ล เป็นต้น มีการจัดตั้งองค์กรเพื่ออบรมหรือบำบัดโดยใช้การเขียนอีกจำนวนไม่น้อย เกิดเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ ขายหนังสือ ประชาสัมพันธ์คอร์ส และเป็นชุมชนผู้เขียนบำบัด หลายสถาบันสุขภาพนำการเขียนเป็นกระบวนการช่วยบำบัดเยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาสุขภาพจิตและร่างกาย กับผู้ป่วยหลายอาการ ทั้งอาการทางจิต เช่น การซึมเศร้า การวิตกกังวล ผู้ติดเหล้าและสารเสพติด ผู้ถูกกระทำจากความรุนแรง ทั้งได้รับความเจ็บปวดทางกายและทั้งจิตใจ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวช  ผู้มีคดีความต้องขัง ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษา อีกทั้งบุคคลทั่วไปที่มีความเครียด มีความไม่สบายใจ ติดอยู่กับปมปัญหา มีความไม่กล้าแสดงออก กำลังสับสน เผชิญปัญหาทางใจเรื่องต่างๆ หรือประสบปัญหาสุขภาพกาย เป็นต้น