คำแนะนำในการจดบันทึกความฝัน | คอร์ส ท่องแดนฝัน

 

ในการอบรมคอร์ส “ท่องแดนฝัน Dreamland Journal” กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งคือการหมั่นสังเกตความฝันยามหลับใหล และการจดบันทึกความฝันเหล่านั้นเอาไว้ ทั้งความฝันก่อนหน้านี้ในชีวิตที่ผ่านมา ความฝันก่อนเริ่มเรียน และความฝันในระหว่างการอบรม

ทางเราขอแนะนำให้ผู้เรียนมีสมุดบันทึก หรือสร้างเป็นโน๊ตในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือสำหรับการจดบันทึกความฝันโดยเฉพาะ

ก่อนเริ่มการอบรมขอให้จดบันทึกความฝันยามหลับที่ผ่านมาตลอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องจำรายละเอียดได้ชัดเจน จดในสิ่งต่างๆ ที่จำได้โดยไม่ต้องตัดสินตีความ และไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ จดได้มากหรือน้อยไม่สำคัญเท่าการได้ทบทวนและทยอยจดบันทึกลงไปเรื่อยๆ

พร้อมกันนั้นก็ขอให้ลองฝึกจดบันทึกความฝันหลังจากตื่นนอน กล่าวคือ เมื่อตื่นนอนแล้วให้จดความฝันไว้โดยทันทีหรืออย่างน้อยให้ทบทวนในใจก่อนจะจดบันทึกเมื่อมีเวลาสะดวกของวันนั้น

เทคนิคสำคัญคือ อย่าด่วนตัดสินตัวเองว่า ไม่ได้ฝัน หรือ จำไม่ได้ ให้ค่อยๆ ทบทวนไปว่า

  1. ตอนตื่นนอนรู้สึกอย่างไร คิดนึกอะไรแรกๆ ตอนที่ตื่นขึ้นมา
  2. เมื่อคืนนี้เรานอนหลับอย่างไร หลับไปตอนไหน
  3. การหลับเมื่อคืนมีความรู้สึกอย่างไร เกิดอะไรขึ้นขณะที่หลับในคืนที่ผ่านมาบ้าง เช่น ตื่นขึ้นมาเป็นช่วงๆ เมื่อใด รู้สึกตัวตอนไหน หรือมีอารมณ์ความรู้สึกใดเกิดขึ้นขณะนอนบ้าง
  4. เราฝันอะไร หรือรับรู้ภาพ ความคิด และสิ่งใดอีกบ้างขณะนอนหลับเมื่อคืน

บางครั้งฝันก็มีภาพชัดเจน บางครั้งฝันก็อยู่ในรูปพลังงาน ความรู้สึก และความนึกคิดที่ปรากฎขึ้นมาในหัว บ้างก็ยาวนาน บ้างก็ชั่วขณะ ดังนั้นจึงไม่ควรรีบตัดสินว่าตัวเองฝันหรือไม่ แต่ปล่อยให้การทบทวนและความใส่ใจ ค่อยๆ เปิดผ้าคลุมจิตใจตัวเองออกมา

อีกข้อควรระวังคือ ไม่ควรรีบด่วนคิดถึงสิ่งต่างๆ หลังจากตื่นนอนเร็วเกินไป ให้สนใจความคิดแรกที่เกิด แต่ก็ให้ลองอยู่ในความสงบและทบทวนการนอนการฝันเสียก่อน เพื่อไม่ให้ความฟุ้งซ่านและความคิดต่างๆ กลบความฝันของเมื่อคืน

 

เทคนิคและคำแนะนำ

ดัดแปลงจากเอกสารการอบรม “เขียน = มหัศจรรย์ชีวิต” โดยสถาบันธรรมวรรณศิลป์ ประจำปี 2557

 

 เราเป็นผู้สร้างความฝันนั้นขึ้นเอง ด้วยจิตใต้สำนึกของเราและการเลือกที่ไม่รู้ตัว เราสามารถเลือกสร้างความฝันนั้นขึ้นใหม่ได้ทุกเมื่อ และสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

 เราทุกคนต่างมีความฝันยามหลับใหล เว้นแต่ผู้ละนิวรณ์ได้สิ้นแล้ว แต่เรารู้ตัวได้มากน้อย ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของจิตใจ สติรู้ตัว และสภาพร่างกาย

 ความฝันแสดงออกหลายรูปแบบ นอกจาก ภาพในใจยามหลับแล้ว เสียง ความคิด ความรู้สึก สัญลักษณ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น อาการทางกาย เช่น การละเมอ และอาการแปลกๆ ของร่างกายในชีวิตประจำวัน ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของฝัน

 อย่าด่วนพูด เขียน หรือตัดสินตัวเองว่า จำไม่ได้ ให้บอกหรือเขียนว่า “จำได้ว่า…” , “ฝันเกี่ยวกับ…” หรือ “จำได้เกี่ยวกับ…”

 รายละเอียดของฝันอยู่ในจิตใจเราอยู่แล้ว เมื่อเรารับฟังและให้เวลา ย่อมเห็นรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น

 ให้การเล่าหรือการเขียนเรื่อยๆ นำไป จิตใจเราจะเติมรายละเอียดต่างๆ เอง จากข้อมูลที่ซุกซ่อนในจิตใต้สำนึก

 การสังเกตความฝัน ต้องฝึกฝนพยายามสังเกต เราจะเริ่มจดจำได้มากขึ้น และเห็นรูปแบบเฉพาะของความฝันเรามากขึ้น รูปแบบเฉพาะนั้นอาจสะท้อนบางแง่มุมเกี่ยวกับตัวเรา

 สำหรับผู้ต้องการทำงานกับฝันอย่างเต็มที่ อาจวางอุปกรณ์บันทึกไว้ข้างที่นอน พร้อมบันทึกยามตื่น

 เทคนิคฝันช่วยฝัน

…หลับตาลง นึกภาพตนเองกำลังเข้านอน นึกไว้ในใจอย่างชัดเจนถึงอาการนอนและความรู้สึกของการนอนหลับนั้น ก่อนบอกตัวเองย้ำในใจว่า “ฉันสามารถหลับได้อย่างเป็นปรกติ ผ่อนคลาย และสามารถจดจำรายละเอียดของความฝันได้ดี”

…ให้จินตนาการเห็นเวลาผ่านไป เรานอนหลับอยู่บนที่นอน ขยับตัวเล็กน้อยบ้าง ดวงตาหลับ ไม่มีสิ่งใดรบกวน เราสามารถนอนอย่างผ่อนคลาย ดวงตาภายใต้เปลือกตาขยับเล็กน้อย เรากำลังฝัน ให้ระลึกว่าความฝันเหล่านั้นมีพลังงานเป็นรังสีหรือแสงสว่างแผ่ออกมารอบๆ ตัวเราและแปรเปลี่ยนลักษณะหรือสีสันต่างๆ

…เวลาล่วงเลย เราค่อยๆ ตื่นขึ้น พลังงานจากความฝันยังคงอยู่บริเวณนั้น ให้นึกเห็นตัวเองลงมือจดบันทึก ระลึกเห็นภาพในใจอย่างชัดเจน เรากำลังเขียนแล้วมีรายละเอียดต่างๆ มากมายปรากฏบนกระดาษแผ่นนั้น บอกตัวเองย้ำอีกครั้งว่า “ฉันสามารถหลับได้อย่างเป็นปกติ ผ่อนคลาย และสามารถจดจำรายละเอียดของความฝันได้ดี”

…เพียงเท่านี้เราก็สามารถบันทึกและทำงานกับความฝันได้อย่างเต็มที่แล้ว