รางวัลชมเชย วัดที่ฉันหวัง : วัดในอุดมคติของฉัน

 

 

“เราจึงควรใช้สองมือนี้ให้มีค่าและมีประโยชน์ในการก่อให้อุดมคตินั้น เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเป็นความจริง เมื่อใดที่วัดได้มีลักษณะเป็นไปตามอุดมคตินี้แล้ว ฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อนั้นย่อมเกิดความเจริญอย่างยิ่งแก่พระพุทธศาสนา” ประเทศชาติ และประชาชน เพราะนั่นหมายความว่าเมื่อนั้นประชาชนได้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนาและแก่นของศาสนธรรมแล้ว
.
นายกิตติพิชญ์ เชาวน์ไวย , โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รางวัล “ชมเชย” โครงการประกวดงานเขียน ธรรมวรรณศิลป์ ครั้งที่ ๗ หัวข้อ “วัดที่ฉันหวัง”
.
.
ผลงานความเรียง : วัดในอุดมคติของฉัน
.
ท่ามกลางสภาวะที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีความเจริญอย่างยิ่งทางด้าน “วัตถุ” ประชาชนสนใจและขวนขวายเข้าวัดทำบุญ หลายวัดได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นอย่างงดงามอลังการเพื่อให้เป็นจุดสนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จนมีผลสำรวจออกมาว่าในหนึ่งปี วัดใหญ่ๆอาจมีเงินหมุนเวียนถึงหลักร้อยล้านบาท และในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็ได้เสื่อมโทรมและสั่นคลอนอย่างหนักจนน่าสะเทือนใจและเกิดความสังเวช ดังที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งจนคุ้นหูคุ้นตาตามสื่อต่างๆ เช่น ข่าวพระทุศีล ไม่ว่าจะเป็นการลวงข่มขืน ดื่มสุรา เสพยา ค้ายา ฟอกเงิน ตั้งวงเล่นการพนัน หรือแม้กระทั่งไวยาวัจกรโกงเงินวัด เป็นต้น
.
เหตุผลดังกล่าวกระตุ้นให้ฉันขบคิดว่า “วัด” ควรจะเป็นอย่างไร และคิดวาดหวังสร้างอุดมคติในเรื่องวัดขึ้นมา ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมาย “อุดมคติ” ไว้ว่า “จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน” โดยหวังว่าจะเป็นมาตรฐานและเป็นเป้าหมายที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันพัฒนาไปให้ถึง
.
วัดในอุดมคติของฉัน จะต้องงามด้วยวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร มิใช่งามด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ วัดจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทางจิตใจมากกว่าเรื่องทางวัตถุ คือ วัดต้องเป็นสถานที่ที่ชี้นำอบรมสั่งสอนประชาชนให้เข้าถึงแก่นของศาสนธรรม มีเหตุผล เกิดปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตหรือในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข มิใช่อบรมสั่งสอนให้ประชาชนงมงายในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือแม้กระทั่งสอนให้ “หลงบุญ” และ “บ้าบุญ” หลงสร้างโบสถ์ วิหาร สิ่งก่อสร้าง หรือสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เป็น “จุดขาย” อันโอ่อ่าสวยงามอย่างหน้ามืดตามัว โดยเห็นความสำคัญทางเรื่องจิตใจเป็นรอง
.
พระในวัดจะต้องมีศีลาจารวัตรในการครองสมณเพศ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ครองศีล ครองธรรม ต้องมีความรู้สำหรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอบรมสั่งสอนประชาชน ต้องเป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการประพฤติปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชน มิใช่เป็นพระทุศีล หรือเป็น “โจรในคราบผ้าเหลือง” ปล่อยให้กิเลสตัณหามาแฝงเร้นครอบครองจิตใจ
.
พระภิกษุสงฆ์จึงต้องเป็นผู้ที่มี “สัจจะ” คือ ความสัตย์ซื่อ ประพฤติจริงและประพฤติตรง ทั้งต่อความดี ต่อหน้าที่ ต่อการงาน ต่อวาจา และต่อบุคคล ถึงแม้ว่าสัจจะอาจเปรียบเทียบได้ดุจยาขม ที่มีรูป รส กลิ่น สี ไม่เย้ายวนชวนให้ดื่มกิน การที่จะกลืนลงคอไปก็ทำได้ยาก เพราะขัดต่อกิเลสอันเป็นธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันหากกลั้นใจกลืนลงไป ยอมทำตัวขวางกิเลสที่มีอยู่ ยานั้นก็จักให้คุณประโยชน์อนันต์นัก สัจจะจึงเป็นคุณธรรมที่พระสงฆ์ควรถือครองและควรใช้เป็นมาตรฐานในการไตร่ตรองตน อีกทั้งต้องตระหนักอยู่เสมอว่า สมณเพศมิสมควรแก่การสะสมทรัพย์สมบัติภายนอก หากแต่มีหน้าที่ในการสร้างและแนะนำให้ประชาชนสร้าง “อริยทรัพย์” ทรัพย์ภายในอันประเสริฐต่างหาก
.
นอกจากนี้วัดจะต้องเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในสังคม เป็นสถานที่ที่หล่อหลอมจิตวิญญาณให้เกิดความรัก ความสามัคคีกันของคนในสังคม เป็นสถานที่ที่สนับสนุนให้เกิดความสงบและสันติสุข เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าเพศใด วัยใด หรือศาสนาใด ดังเช่นในอดีตที่วัดเคยเป็นสถานที่ศึกษา เป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมและศิลปะวิทยาการทั้งหลาย เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็ต้องอบรมสั่งสอนประชาชนให้รู้จักยอมรับในความแตกต่าง โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมและในประเทศชาติอย่างสันติสุข
.
อุดมคติ อันเป็นจินตนาการหรือความคิดที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ด้วยความหวังนั้น จักเป็นจริงมิได้เลย หากขาดความร่วมมือจากทุกคน เราจึงควรช่วยกันก่อให้อุดมคตินั้น เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเป็นความจริง เมื่อใดที่วัดได้มีลักษณะเป็นไปตามอุดมคตินี้แล้ว ฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อนั้นย่อมเกิดความเจริญแก่พระพุทธศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน เพราะนั่นหมายความว่าประชาชนได้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนาและแก่นของศาสนธรรมแล้ว
.
.
ติดตามบทความ และ การอบรม #เขียนเปลี่ยนชีวิต ได้ที่ : www.dhammaliterary.org