6 อ. ที่แอบทำให้จิต…โง่ (ตอนแรก)

 

หลังจากเขียนบทความชุด จิตโง่ vs จิตฉลาด ได้สามตอน ก็ถึงเวลาเฉลยว่า จิตโง่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรคือจิตโง่ อะไรคือจิตฉลาด เราจะเข้าใจคำตอบได้ก็ด้วยการตระหนักว่า อ. อะไรบ้างซึ่งส่งผลให้จิต…โง่เขลาลง

ใครยังไม่ได้อ่านสามตอนก่อนหน้า เปิดอ่านที่เว็บไซต์ตามลิงก์ดังนี้ หรือจะข้ามไปก่อน ค่อยย้อนมาก็ย่อมได้

จิตโง่ Vs จิตฉลาด (ตอนแรก)
https://www.dhammaliterary.org/จิตโง่-vs-จิตฉลาด-ตอนแรก/

จิตโง่ Vs จิตฉลาด (ตอนสอง)
https://www.dhammaliterary.org/จิตโง่-vs-จิตฉลาด-ตอนสอง/

จิตโง่ VS จิตฉลาด (ตอนสาม)
https://www.dhammaliterary.org/จิตโง่-vs-จิตฉลาด-ตอนสาม/

.
.
อ.แรก อวิชชา

สิ่งที่ทำให้เกิด จิตโง่ ก็คือความ โง่ นั่นเอง เป็นคำตอบแรกแบบกำปั้นทุบดินดัง ตุ้บ แต่ความโง่คืออะไร ความโง่ก็คือความไม่รู้ นี่ก็เป็นคำอธิบายตรงๆ แบบกำปั้นทุบดินอีกหนดัง ตั้บ !

อวิชชา คือความโง่ ความไม่รู้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาดสติปัญญา …ไม่รู้…ในที่นี้หมายถึงไม่รู้ความเป็นจริงอย่างที่เป็นจริง

ความโง่นี้ ไม่ได้หมายถึงความไม่ฉลาดเฉลียวเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการไม่ยอมรับความจริงอีกด้วย

เมื่อขาดทั้งสติ ขาดทั้งปัญญา จิตก็โง่แล้ว เป็นผลทำให้เกิดความโลภ โกรธ และหลงตามมาจนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

อวิชชา จะแปลว่าขี้ขลาดต่อความเป็นจริงด้วยก็ย่อมได้ หมายถึงหลอกตัวเองด้วยก็ได้

จิตเดิมแท้แล้ว เป็นจิตที่ฉลาด มีพุทธะคือความพร้อมที่จะตื่นรู้ มีศักยภาพและปัญญาที่พร้อมเข้าใจโลก แต่เพราะมีความโง่มาครอบงำใจ จิตก็พยายามหลอกตัวเองจากความเป็นจริง

สังเกตดูตอนที่เราไม่มีสติ ช่างแสนโง่เขลาขนาดไหน ทำสิ่งที่ไม่น่าทำ พลาดอย่างไม่น่าจะพลาดได้ แต่พอมีสติแล้ว เราก็รู้ว่าควรทำอะไร ระมัดระวังอะไรมิให้พลาด

บ่อยครั้งเราก็รู้อยู่แล้วเต็มอกว่า สิ่งนั้นๆ ไม่ควรทำ ทำแล้วเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทำแล้วจะส่งผลร้ายอย่างไร แต่เราก็ยังเผลอใจทำลงไป นั่นเพราะมีอวิชชา มีความไม่ยอมรับความเป็นจริงบังตาเรา หรือไม่กล้าพอที่จะยอมรับอย่างเต็มใจ

การยอมรับความเป็นจริงในพุทธศาสนา หมายถึงยอมรับ 3 สิ่งด้วยกัน ได้แก่

ทุกอย่างล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงแท้
ทุกอย่างเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์และไม่สมบูรณ์แบบ
ทุกอย่างไม่ใช่ตัวตนหรือความเป็นของตน

3 ความจริงนี้ จิตใดๆ ล้วนแต่รู้อยู่แล้ว แต่พยายามบ่ายหน้าหนีไม่ยอมรับ เมื่อนั้นที่เกิดอวิชชา

การไม่ยอมรับความจริงทั้งสามประการ ส่งผลทำให้โลภ โกรธ และหลงตามมา เจ้าสามกิเลสนี้มันก็ชักนำให้เราทำสิ่งที่โง่เขลาต่อตนเอง คนอื่น และต่อความเป็นจริง มันก็ทุกข์แล้วทุกข์อีก ทั้งที่รู้ความจริงอยู่เต็มอกว่า

สิ่งที่คิดว่าเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอยู่
สิ่งที่คิดว่าเป็นสุขและสมบูรณ์แบบ ไม่มีอยู่
สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวตนและของๆ ตน ไม่มีอยู่

จิตที่ครอบงำด้วยโง่ ซึ่งหวาดกลัวต่อความเป็นจริง ก็จะพยายามทำเป็นเหมือนความจริงสามข้อนี้ไม่มีอยู่ กลบเกลื่อนไว้ หรืออยากเอาชนะให้ได้

จึงเรียกว่าขี้ขลาดต่อความเป็นจริงด้วย กลัวที่จะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตนของตน เหมือนสบตากับความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว รู้สึกเคว้งคว้าง ว่างเปล่า ไม่รู้จะหาอะไรเป็นที่พึ่ง

ไม่ยากเลย เพียงยึดสิ่งที่อยู่เหนือสิ่งความจริง 3 ประการเหล่านี้ไว้เท่านั้นเอง

ยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้

ยึดมั่นในพระบิดา พระบุตร พระจิต หรือพระผู้เป็นเจ้าก็ได้

ยึดเหนี่ยวสิ่งใดก็ตามที่อยู่เหนือความจริงทั้งสาม ให้เป็นกำลังใจกล่อมเกลาจิต ให้อาจหาญเพียงพอที่จะเผชิญกับสิ่งที่รู้อยู่แล้ว ไม่พยายามหนีหรือสู้กับความจริงของชีวิต จนอยู่เหนือความจริงทั้งสามได้สำเร็จ

การฝึกละอวิชชาจริงๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความสามารถจิต เพียงฝึกมองโลกและทุกสิ่งเป็นความไม่เที่ยงแท้ไว้ *(1) พบเจอกับเรื่องดีเรื่องร้าย เหตุการณ์นานาทั้งหลาย แค่ระลึกอยู่เสมอว่า มันไม่เที่ยงแท้

ไม่เที่ยงแท้ก็คือเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ไม่คงอยู่ตลอดไป ไม่แน่นอน…

จิตที่ถูกครอบงำด้วยความโง่เขลาอย่างมาก เมื่อเห็นความเป็นจริงอันว่างเปล่าจากความเที่ยงแท้ก็จะเกิดความกลัว จนมัวเมาไปยึดมั่นกับสิ่งทั้งหลายที่ไม่ได้อยู่เหนือพ้นจากความเป็นจริงสามข้อนั้นเลย แต่เพียงเพื่อจะให้ลืมตัว ลืมใจ ลืมความจริง ไปวันๆ เท่านั้น

สิ่งที่ไม่ได้อยู่เหนือความจริงทั้งสามข้อนั้นเลยก็คือ อุปาทาน ทั้งหลาย และสิ่งเสพติดทั้งมวล

สิ่งเสพติด มิใช่เพียงยาเสพติด แต่สิ่งใดๆ ที่มอมเมาใจให้พัวพันด้วยความหลง เรียกว่าเป็นสิ่งเสพติดที่จิตยึดเหนี่ยวไว้เพื่อหนีจากความเป็นจริงได้ทั้งสิ้น

อวิชชา ยังเป็นความไม่รู้จริงว่าทุกๆ อย่างมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในโลกในชีวิต มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ และจะดับสิ้นไปได้อย่างไร *(2)

ทำให้มัวเมาหวังพึ่งพาสิ่งที่ไม่สามารถดับทุกข์ แต่ยิ่งก่อทุกข์ให้มากขึ้น เช่นการเสพติดสิ่งต่างๆ เป็นต้น หนีความจริง หนีใจตน เวียนว่ายในวงจรทุกข์ไม่รู้จบ

การจะพ้นจากความโง่ที่เกิดจากอวิชชา ต้องศึกษาสิ่งที่เป็น วิชชา คือความเห็นแจ้งใน “อริยสัจ” – รู้จักความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความพ้นทุกข์ และการพ้นจากทุกข์

วิชชา เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการอบรม สติ กับ ปัญญา ในชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งมิอาจเลี่ยงการฝึกสมาธิภาวนาอย่างแข็งขัน เปรียบกับการมีสุขภาพที่แข็งแรงก็ไม่อาจเลี่ยงการฝึกออกกำลังกาย

ความจริงอาจดูมืดมนและทุกข์ยาก แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นมืดมนยิ่งกว่า เป็นทุกช์ยิ่งกว่ามหาศาล เหมือนกับเรื่องสุขภาพเช่นกัน ออกกำลังกายนั้นช่างแสนเหนื่อยและใช้เวลา แต่ยามป่วยแล้วเหนื่อยหน่ายยิ่งกว่าและเปลืองเวลากว่านัก

เราฝึกสมาธิภาวนากันมิว่าด้วยหลักใด หากเป็นไปตามพุทธธรรม มันคือการหันหน้าเผชิญกับความทุกข์ ซึ่งเป็นสัจจะความจริง

การพ้นจากทุกข์ มิใช่ใขว่คว้าหาความสุขแล้วจะเกิดขึ้น แต่เราต้องเรียนรู้จากทุกข์นั้นให้มากพอจนเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับใจตน

ขอให้กล้าหาญต่อความจริง จิตนั้นกล้าหาญอยู่แล้ว จิตที่อ่านหนังสือจนมาถึงตอนนี้มิได้มีแค่ความกลัว อย่ากลัวทุกข์หรือความมืดนั้นเลย มองเข้าไปให้ดีด้วยปัญญา แล้วจะเห็นแสงสว่างที่ซ่อนอยู่ในนั้น เหมือนดาวที่ซ่อนอยู่หลังม่านเมฆในคืนอันมืดสนิท

เมื่อนั้นแล้วจะเอาชนะอวิชชา จิตโง่ก็ดับหาย จิตฉลาดก็เกิดขึ้นใหม่ แสงสว่างที่จะดับทุกข์ทั้งปวงก็เปล่งประกายอยู่เบื้องหน้าแล้ว

.
.
อ.สอง อนุสัย

จำง่ายๆ ว่า อนุสัย ก็คือ นิสัย แต่ไม่ใช่พฤติกรรมภายนอกที่เป็นนิสัยแต่ละคนในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่นิสัยใจคอทั่วไป แต่อนุสัย คือนิสัยของใจที่ยังมีกิเลส หรือเรียกว่า ความเคยตัวของใจ

มีอยู่เจ็ดประการด้วยกัน *(3) ดังนี้

นิสัยที่จะ…หลงใหลในกาม คือการรับรู้อันน่าเพลิดเพลินและเพศรส
นิสัยที่จะ…ขุ่นมัว โกรธ เกลียด แม้แต่ความเครียดเองก็ด้วย
นิสัยที่จะ…ยึดถือความคิดความเห็นต่างๆ คิดมากไม่พอ ยังยึดถือไว้อีก
นิสัยที่จะ…ลังเล สับสน สงสัย ขาดความเชื่อมั่น ขาดความวางใจ
นิสัยที่จะ…มีอีโก้ ถือตัว เย่อหยิ่ง ถือมั่นความเป็นตัวตน ถือความเป็นเจ้าของ
นิสัยที่จะ…อยากเป็นอยู่ อยากยิ่งใหญ่ อยากมั่นคง ติดที่ ติดสภาพสถานะ
นิสัยที่จะ…มัวเมา โง่เขลา ไม่ยอมรับความจริง ถูกครอบงำด้วยความไม่รู้

เหล่านี้คือความเคยตัวของใจ เรียกว่าเป็นกิเลสที่นองเนื่องในสันดาน หมักหมมจากการกระทำที่ผ่านมาและการไม่กำกับดูแลจิตใจของตนเอง

สันดาน มิใช่คำหยาบคาย และไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน หลายคนเชื่อว่าสันดานเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นเหมือนสิ่งติดตัวของคนๆ หนึ่งอยู่เสมอ นั่นยังเป็นความเห็นที่มีอวิชชาอยู่

สันดาน ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงแค่พื้นเพประสบการณ์ของจิตที่มีมายาวนาน เป็นความเคยตัวที่หล่อหลอมจากปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงยาก แต่เปลี่ยนแปลงได้

ไม่มีอะไรที่เกินเลยไปจากคำว่า อนิจจัง อนัตตา ทุกอย่างไม่คงที่ ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่สันดานของเรา ของเขา ก็ตาม

หากยึดว่าสันดานเป็นของฉัน นิสัยเป็นของฉัน (หรือของเขาก็ดี) เป็นสิ่งที่คงที่และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ฉันเป็นแบบนี้…ก็เขาเป็นแบบนี้… เราก็กำลังติดอยู่ใน นิสัยที่จะมีอีโก้ คือ มานานุสัย เป็นความยึดมั่นในตัวตน เรียกว่า อหังการ และของๆ ตน เรียกว่า มมังการ

การจะละจากนิสัยถือมั่นความมีตัวตนเช่นนี้ เราต้องฝึกมองโลกใหม่ มองกายและใจใหม่ โดยปราศจาความเป็นตัวฉันกับของๆ ฉัน มองให้เห็นว่าทั้งกายจิต อารมณ์ จนถึงความนึกคิดทั้งหลาย เป็นแค่ธรรมชาติ มิใช่ของเรา มิใช่ตัวเรา *(4)

ในที่นี้หยิกยก อนุสัย เพื่อชี้ให้เห็นว่า นิสัยของใจที่เคยตัวกับกิเลสทั้งหลายเป็นเหตุที่ทำให้จิต…โง่เขลา

เมื่อเราเคยตัวกับกามคุณ เราก็โดนรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความรู้สึกทางใจ และอารมณ์ทางเพศ หลอกลวงให้ทำสิ่งที่สิ้นเปลือง เสียพลังงาน เสียเวลาชีวิต ทำให้หลงลืมคุณค่าแท้จริงของตัวเองอันเป็นแก่นแท้ เพราะมัวไปติดใจกับเปลือกที่ให้ความพอใจเพียงชั่วคราว

เมื่อเราเคยตัวกับความโกรธ เราก็ทำสิ่งต่างๆ อย่างวู่วามขาดสติ ถูกครอบงำด้วยความเครียด จนขาดความเมตตาต่อร่างกายตัวเอง เปลี่ยนจากความรักให้เป็นความเกลียด เปลี่ยนจากสวรรค์ให้กลายเป็นนรก

เมื่อเราเคยตัวกับความคิด เราก็ลืมเปิดใจ ติดอยู่ในกรอบและการมองโลกเพียงด้านเดียว ไม่รับฟังคนอื่น ถือความเห็นตัวเป็นใหญ่ สุดท้ายทุกข์มันก็เกิดขึ้นเพราะความคิดของตนนั่นเอง มิใช่เพราะคนอื่นเลย

เมื่อเราเคยตัวกับความลังเล จิตใจก็หาความมั่นคงไม่ได้ ท้อแท้เบื่อหน่ายอย่างง่ายดาย ประเดี๋ยวก็สับสน ประเดี๋ยวก็สงสัย จนจับอะไรทำก็ไม่สำเร็จ ขาดความชัดเจนและแน่วแน่ ชีวิตก็เป็นทุกข์เพราะขาดศรัทธาคือความวางใจ

เมื่อเราเคยตัวกับการมีอีโก้ จิตใจก็ยากจะมีรักแท้และความพึงพอใจ ต้องคอยเปรียบเทียบกับตัวเองกับคนอื่น ต้องอิจฉาริษยา ยกตนข่มท่าน อยากเอาชนะหรือตอกย้ำตัวเองในทางลบต่างๆ ขาดการเคารพคุณค่าของชีวิต

เมื่อเคยตัวกับสภาพสถานะ จิตใจก็วุ่นวายกับความอยากเป็น อยากไม่เป็น ยึดติดกับชื่อเสียง สถานะ ตำแหน่ง ความดีงามของตัว ติดพื้นที่ปลอดภัย ติดดี ติดบุญ อยากขึ้นสวรรค์ อยากได้ตำแหน่งฐานะดีๆ ทางโลกและทางธรรม

เมื่อเคยตัวกับความหลงมัวเมา ชีวิตก็ตั้งอยู่บนความลวง ไม่ยอมรับความเป็นจริง ขาดซึ่งสติปัญญา ใช้ชีวิตเหมือนหลับตา อาจติดเสพสิ่งเสพติด หลอกตัวเองไปวันๆ ด้วยความเชื่อสุดโต่ง จิตใจอยู่บนความประมาท

อนุสัย เปรียบเหมือนฝุ่นที่ตกลงมาบนพื้น มาจากกระทำทั้งหลายของเราด้วยกาย วาจา และใจอย่างขาดสติ ไม่ทันได้ดูแลความสะอาดของจิตใจ

เมื่อมีเหตุปัจจัยมากระทบ ฝุ่นที่นอนอยู่บนพื้นก็จะฟุ้งขึ้นมา หรือติดตัวติดเท้าเรายามออกไปใช้ชีวิต นิสัยความเคยตัวของใจจะปรากฏออกมาเมื่อเราประมาท ห่อคลุมจิตใจให้มัวหมอง เป็นจิตโง่

เมื่อนั้นเองเราก็จะใช้ชีวิตด้วยความโง่เขลา เป็นเหตุให้เกิดฝุ่นกลับเข้ามามากขึ้น เราทำให้บ้านสะอาดปราศจากฝุ่นคราบไคลได้ก็ด้วยการหมั่นเช็ดถู จิตใจของตนเองก็เช่นเดียวกัน

อนุสัย เป็นนิสัยของใจที่ยังมีกิเลส เราจะเปลี่ยนนิสัยได้ ต้องดัดสันดานตนเอง
ด้วยการฝึกขัดใจ หรือ หักห้ามใจตัว และสร้างหรือเปลี่ยนแปลงปัจจัยในชีวิตประจำวันให้ส่งเสริมกิเลสน้อยที่สุด

เพราะสันดานคือพื้นเพของจิตใจที่ผ่านประสบการณ์ยาวนาน มีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเกี่ยวข้อง เราก็ต้องสร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อหล่อหลอมจิตใจ ด้วยการดูแลทั้งภายนอกและภายในตนเอง

อะไรที่ยั่วยวนกิเลสเกินไปโดยหาใช่ความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตก็ลดละ อะไรที่ส่งเสริมอกุศลคือไม่ก่อประโยชน์ ไม่ใช่ความต้องการแท้จริงของกายใจก็ตัดทิ้ง ไม่ขวนขวายสิ่งเสริมสร้างอนุสัยหรือยุยงส่งเสริมความอยากมาไว้ใกล้ตัว

ทำให้สภาพแวดล้อมส่งเสริมความสงบทางใจให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือเรียกว่าทำให้บ้าน เป็นเหมือนโบสถ์ที่สะอาด สว่าง และสงบ มิใช่เหมือนห้างสรรพสินค้า

การกระทำในกิจวัตรและกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องหมั่นขัดใจตัว พฤติกรรมใดๆ มิว่าทางกาย วาจา และทางความคิด หากเป็นไปตามความเคยชินก็พึงขัดเสีย ขัดขวางมันด้วยสติ ความระลึกรู้ตัว และทำสิ่งที่ฝืนความเคยชินบ้าง

อย่าใช้ชีวิตเหมือนรถไฟแล่นไปตามราง กายจิตจะวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมไม่สิ้นสุดจนสังขารผุพัง

ความเพลิดเพลินเจริญใจ ต่อให้แม้มีประโยชน์ รู้ตัวได้ก็ลองฝึกไม่เพลิดเพลินกับมัน ขัดจังหวะความอยากบ้าง ทำท่าเหมือนจะสนองแต่ก็ระงับดับไว้ให้ใจเข็ดหลาบ

ยิ่งฝึกขัดใจตัวเองมากเพียงใด สันดานก็ได้รับการดัดมากเท่านั้น อุปกรณ์สำคัญในการดัดต้นไม้คือเชือกหรือเครื่องผูกทั้งหลาย การดัดจิตใจก็ต้องใช้เครื่องผูก คือ สติปัฏฐาน *(5)

การมีชีวิตด้วยสติเป็นที่ตั้ง และหมั่นเจริญการภาวนาอยู่เป็นประจำ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป แล้วนำไปสู่ วิชชา คือความรู้แจ้ง คือจิตที่ฉลาด

เมื่อนั้นแล้วก็สร้างนิสัยใหม่ได้ ความเคยตัวแย่ๆ ของจิตทั้งเจ็ดประการก็จะลดน้อยถอยลงหายไปเรื่อยๆ เอง เพราะจิตไม่โง่สะสมฝุ่นเอาไว้แล้ว

อย่าเคยตัว…กับการรับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อย่าเคยตัว…กับการคาดหวังสิ่งต่างๆ ให้ได้ดังมั่นหมาย
อย่าเคยตัว…กับการคิดนานาจนวุ่นวาย
อย่าเคยตัว…กับการลังเลสองจิตสองใจ การตั้งแง่ ขี้สงสัย
อย่าเคยตัว…กับความเป็นตน ของๆ ตน หรืออีโก้ใด
อย่าเคยตัว…กับสถานภาพ ความเป็นอยู่ ที่มาที่ไป
อย่าเคยตัว…กับภาพมายา ความโป้ปด ความหลงงมงาย

จิตฉลาดใช่ยากเย็น แค่เห็นโลกตามจริง อย่าเคยตัวกับอนุสัย
จิตโง่เขลาเมื่อใด สติไปผูกมา พาคืนสู่บ้านเพื่อขัดเกลา

.
.
อ.สาม อันตคาหิกทิฏฐิ

ชื่อว่าทิฏฐิแล้วก็ย่อมเกี่ยวกับความคิดความเชื่อ สำหรับคำนี้หมายถึง ความเชื่อที่สุดโต่ง หรือความคิดเห็นที่ปักใจเชื่อข้างเดียวอย่างไม่เป็นกลาง

ความเชื่อเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าและผู้เจริญตามรอยท่านจะไม่ข้องเกี่ยว *(6) ด้วยว่ายังไม่ใช่มุมมองที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้น

ในสมัยพุทธกาลมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับชีวิต ซึ่งมีมุมมองความเห็นที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสำนัก ส่วนใหญ่แล้วความเชื่อเหล่านั้นก็จะมีความเอนเอียงไปในทางด้านต่างๆ ด้วยเพราะยังมีอวิชชา ยังไม่รู้จริงในโลก และยังมีอนุสัยทั้งหลาย จึงย่อมปักใจไปในทางสุดโต่งตามปัจจัยภายในปรุงแต่ง

จึงมีการจำแนกแยกแยะความเชื่อที่สุดโต่งไว้สิบประการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนในยุคนั้นสนใจแล้วนำมาถกเถียงกัน

เช่น โลกนี้คงที่ , โลกนี้ไม่คงที่ , โลกมีที่สิ้นสุด , โลกไม่มีที่สิ้นสุด , วิญญาณเป็นคนละส่วนกับกายเนื้อ , วิญญาณเป็นหนึ่งกับกายเนื้อ , สัตวทั้งหลายตายแล้วก็เกิดใหม่ , สัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็ดับสูญ ฯลฯ *(7)

ความเชื่อที่สุดโต่งไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากจะจำแนกแยกแยะความคิดความเห็นที่สุดโต่งในยุคสมัยนี้ก็คงได้อีกเป็นร้อยข้อ

มิว่าจะเป็นทัศนคติทางการเมือง ทั้งความเห็นว่าฝ่ายซ้ายดีกว่า ฝ่ายขวาดีกว่า ประชาธิปไตยคือที่สุด ราชาธิปไตยคือที่สุด สังคมนิยมคือที่สุด หรือความเห็นเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่นการปักใจตัดสินว่า คนๆ นี้เลวที่สุด คนๆ นี้ดีที่สุด ต้องทำแบบนี้เท่านั้น ต้องอยู่แบบนี้เท่านั้น ฯลฯ

ความเห็นที่ฝักฝ่ายไปในทิศทางหนึ่งใดอย่างสุดขั้ว ล้วนแล้วไม่ส่งเสริมให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ แต่จะยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น ไม่เพียงแค่ตัวเอง แต่คนอื่นๆ อีกด้วย

ลองดูจากสงครามน้อยใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นบนโลก บางที่ก็ยังมีอยู่แม้ในตอนนี้ ล้วนแต่มีความเห็นที่สุดโต่งมาเกี่ยวข้องด้วยทั้งนั้น

อันตคาหิกทิฏฐิ ทำให้จิตโง่เขลา เพราะเมื่อปักใจกับความเห็นที่เอนเอียงในฝั่งใดแล้ว ก็ย่อมเห็นความจริงเพียงมุมมองเดียว

ย่อมหาเหตุผลและข้ออ้างต่างๆ เพื่อสนับสนุนฝ่ายความคิดของตน แล้วล้มล้างความเห็นของอีกฝ่าย ต้องเป็นทุกข์เมื่อถูกโจมตีจากผู้เห็นต่าง ต้องเอาตัวเอาใจไปปกป้องกับความเชื่อของตัวเอง

การปักใจไปยังฝั่งใดเกินไป เป็นเหตุให้เกิดความโกรธและความกลัว ปัญญาก็ย่อมมัวหมองลง

การมีจิตที่จมปลักกับมุมมองด้านเดียว ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตด้วย เพราะการเป็นอยู่ พฤติกรรมต่างๆ ย่อมเป็นผลมาจากความนึกคิด เมื่อมุมมองสุดโต่งแล้วก็ย่อมทำให้ละเลยไม่ได้ใส่ใจมิติด้านต่างๆ ของชีวิตอย่างเพียงพอ

อาจฟังแต่ความเห็นของพวกเดียวกัน ไม่ฟังมุมต่าง เราก็ย่อมเผลอทำร้ายตัวเองเพราะความไม่รู้

มุมมองที่สุดโต่ง ทำให้ประมาท เมื่อนั้นที่เกิดจิตโง่

ความเห็นทุกฝ่ายมีความถูกต้องอยู่ หากปักใจกับฝั่งเดียวเราก็ไม่เห็นความถูกต้องอย่างรอบด้าน พยายามหาฝั่งที่ถูกที่สุดเพียงหนึ่งเดียวก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ซ้ำแล้วยิ่งทำให้เป็นทุกข์

โทษใครเป็นฝ่ายผิด ถกเถียงกันไปมาไม่จบสิ้น สุดท้ายแล้วก็ไม่เหลืออะไร นอกจากกิเลสกับอกุศลที่เติบใหญ่ในใจกันและกัน

เชื่ออย่างพอดี คิดเห็นอย่างพอดี ตรงกลางนี่แหละที่ทำให้เราเห็นภาพรวมมากกว่า เข้าใจความจริงได้ด้วยใจเป็นกลาง เป็นสุขกว่านัก

จะเอนเอียงไปฝั่งใดก็ให้เป็นไปเพียงได้ชิมลอง สังเกตการณ์ หรือทำความเข้าใจ แต่อย่าได้ทุ่มโถมกายใจทั้งหมดลงไปที่ฝั่งเดียว จนไม่ได้เผื่อใจไว้เลยว่า ทุกฝั่งของความคิดเห็นเป็นเพียงด้านเดียวของความจริงเสมอ

ตาคนเรามีขอบเขตจำกัด มองไปยังทิศทางเดียว ก็เห็นอยู่เพียงเท่านั้น แต่ปักใจเชื่อว่านี่คือทั้งหมดแล้ว เป็นที่สุดแล้ว ก็มิต่างจากตาบอดคลำช้าง

คนตาบอดคลำหางช้างก็คือว่าเป็นเชือก คนที่คลำเท้าก็คิดว่าเป็นเสา คนที่คลำหัวก็คิดว่าหม้อ ฯ

จิตฉลาด เผื่อใจเสมอว่าความคิดเห็นของตนเองผิดได้เสมอ
จิตโง่ ปิดใจแล้วคิดว่าความเชื่อของตนเองนั้นคือที่สุดของความจริงแล้ว

อย่าเชื่อบทความในคอลัมน์นี้ เพราะบางทีก็อาจกล่าวในทางสุดโต่ง อาจเป็นจิตโง่ขณะเขียนบางวรรค หรือกล่าวในบริบทที่จำกัดเท่านั้น

จงอยู่ตรงกลางแล้วมองความจริงเถิด

.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 63

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > ติดตามหลักสูตรอบรม และหนังสือออนไลน์
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

อ้างอิง
*(1) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อวิชชาวรรคที่ ๑ อวิชชาสูตร
*(2) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์ [๗๑๒]
*(3) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค [๓๓๗]
*(4) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๙. ราธสูตร ว่าด้วยการไม่มีอหังการมมังการและมานานุสัย [๑๔๗]
*(5) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต ยมกวรรคที่ ๒ อวิชชาสูตร [๖๑]
*(6) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค โมคคัลลานสูตร [๗๘๘]
*(7) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. จูฬมาลุงโกยวาทสูตร เรื่องพระมาลุงกยบุตรดำริถึงมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ [๑๔๗]