๕ ข้อคิดพัฒนาจิตและงานศิลป์ จากการตีมีดเหล็ก

 

 

 

๕ ข้อคิดพัฒนาจิตและงานศิลป์ จากการตีมีดเหล็ก (แก่ครูและผู้ไม่หยุดเรียนรู้)

 

หากจะเป็นมีดที่แกร่งกล้า สามารถตัดฝ่าสิ่งมัวหมองใจทั้งหลาย หรือหากหวังความสำเร็จของการฝึกพลังใจ จงอย่ากลัวไฟหลอมและค้อนทุบตี หันหน้าเข้าหาความทุกข์และไม้เรียวจากจักรวาล กล่อมเกลาหัวใจหยาบกร้าน ทลายกำแพงอัตตา และก้าวข้ามทิฐิตนเอง
.
บทความตอนนี้ได้เรียบเรียงจากการตีมีดเหล็กอรัญญิก ซึ่งมีขั้นตอนโดยสรุปประมาณ ๑๐ ขั้นตอน ผู้เขียนสรุปรวบยอดขั้นตอนและขอนำมาเปรียบเทียบกับข้อคิดการพัฒนาจิต เป็นห้าข้อดังต่อไปนี้ หากผู้อ่านเห็นข้อคิดข้อที่น่าสนใจจากเหล็กและการตีเหล็ก สามารถแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ตามช่องทางที่เหมาะสม
.
.
๑ “หลาบ” “ซ้ำ” ให้ หลาบจำ : ขั้นตอนแรกของการตีมีดนั้นคือการนำเหล็กที่ตัดตามขนาด เข้าเตาเผาไฟจนแดง อาศัยแรงช่างกว่าสามคนใช้พะเนินตีจนได้ “หุ่น” หรือเรียกแบบงานเขียนว่า ร่างแรก ขั้นตอนนี้ชาวบ้านเรียกว่าการ “หลาบ” เหล็ก ซึ่งการพัฒนาจิตในช่วงเริ่มต้นเราต้องอาศัยเพื่อนที่เหมาะสม ร่วมปฏิบัติเป็นกลุ่ม ผ่านการเรียนรู้แบบมิ่งมิตร สร้างสัมพันธ์เป็นกัลยาณมิตร ประคองและบ่มฉันทะรักการเรียนรู้ ลงแรงช่วยกันโตดังการตีมีดในช่วงแรกต้องอาศัยช่างถึงสามนาย ร่วมหลอมแรงให้เนื้อแนบแน่น
.
เมื่อถึงขั้นตอนที่สอง เรียกว่า “ซ้ำ” คือการนำเหล็กที่เพิ่งตี เข้าเตาเผาไฟอีกคราว แล้วจึงใช้เรี่ยวแรงช่างนายเดียว บรรจงตีขึ้นรูปมีดให้ได้ดังต้องการ การฝึกฝนจิตหรือแม้แต่การสร้างชิ้นงานศิลปะ ต้องอาศัยการทำซ้ำมากมายหลายครั้ง ต้องใคร่ครวญ คลุกคลี อยู่ลำพัง ดั่งนายช่างตีมีดจดจ่อโฟกัสดั่งโลกทั้งใบมีแต่เหล็กในมือ
.
แม้ว่าการเรียนรู้จะเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์และพื้นที่อันเกื้อกูล แต่เราต้องก้าวข้ามมาสู่การฝึกฝนพัฒนาตนเอง ด้วยตนเอง ลงมือทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนโครงร่างของมีด หรือในที่นี้คือจิตและชิ้นงานได้รูปตรงร่องรอยที่เหมาะสม ครูที่ดีเหมือนช่างที่คอยกำชับจิตให้เข้าที่เข้าทาง แม้ความดื้อรั้นของเหล็กนั้นจะบิดเบี้ยวมากเพียงใด เหงื่อครูข้างเตาไฟมิไร้ค่า
.
เราเองทุกคนต่างคล้ายเหล็กในมือของธรรมชาติ บทเรียนทั้งหลายผ่านเหตุการณ์ทั้งสุขและทุกข์ บรรจงตีกระทบกายใจเรา ดั่งหวังปั้นรูปก่อร่างสู่ตัวตนและคุณค่าที่แท้จริง แต่เราบางใครก็ปล่อยให้ค้อนเหล่านั้นตีครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ยอมหลาบจำ จนทุกข์สุดขีดหรือสูญเสียอย่างมิอาจหวนคืน จึงยอมแก้ไข
.
.
๒ “ลำเรียบ” , “แต่ง” แล้ว “ขูด” : คือขั้นตอนที่สามถึงขั้นตอนที่ห้าของการทำมีดอรัญญิก แม้การพัฒนาตนเองมิอาจเลี่ยงความเหนื่อยและการเผชิญความทุกข์ แต่ก็ต้องรู้พัก รู้จักเย็น เหมือนการตกผลึกหลังเรียนรู้ ใช้เวลาขัดเกลาอย่างใจเย็นและสงบ มิร้อนรนมุ่งได้ผลลัพธ์
.
หลังผ่านขั้นตอนที่สองของการตีมีดซึ่งผ่านไฟร้อนของเตาแล้ว ต้องรอให้เย็นและตีซ้ำให้ “เรียบ” แบน และใช้ตะไบ “แต่ง” ต่อให้รูปเล่มสวยงาม แล้วจึงใช้เหล็ก “ขูด” ขัดให้มีดขาวและบางได้ที่
.
การละเมียดละไมเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์งานศิลปะ เช่นเดียวกันกับการฝึกฝนจิตใจตามหลักศาสนธรรม ต้องใจเย็น รู้หยุด รู้ละเมียด ตีให้เรียบเปรียบเหมือนศีลที่ต้องคอยกำกับชีวิต หากปล่อยให้ใช้ชีวิตสะเปะสะปะตามใจชอบ หัวใจก็ล่องลอยไร้หลัก
.
แต่งให้สวย คือ หมั่นทบทวนและฝึกฝนตนเองเป็นนิจ ขูดให้บาง คือรู้จักลดละความอยากหรือตัณหาที่เกาะกุมจิต การตีมีดเหล็กสอนใจคนมากมาย
.
.
๓ “โสก” และ “พานคมมีด” : แม้เราพัฒนาหรือฝึกฝนตนเองจนรู้จักตนและมีจิตที่สงบเหนือกิเลสระดับหนึ่งแล้ว การฝึกฝนตนเองก็ยังไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกันกับการแต่งมีดให้บางในขั้นตอนก่อนหน้า เราก็ยังต้องทำต่อผ่านขั้นตอนการ “โสก” และ “พานคมมีด” ตามภาษาชาวบ้าน คือการใช้ตะไบหยาบและตะไบละเอียด” ขูดลอก หรือ โสก ตามตัวมีด เพื่อให้ขาวขึ้นและคมบางลง ตามด้วยการใช้ตะไบละเอียดวางขวางแต่งคมมีดให้เรียบบางเฉียบ
.
การพัฒนาจิตใจและการสร้างงานศิลปะอย่างลึกซึ้ง เหมือนการปอกเปลือกเป็นชั้นๆ ชั้นแล้วชั้นเล่า ลอกสิ่งเกินจำเป็นของความคิดและจิตใจ ลอกความอยากและกิเลสชั้นแล้วชั้นเล่า ใจก็ค่อยๆ กระจ่างใสตามลำดับ กิเลสที่เคยหนาก็บางลง
.
การใช้ทั้งตะไบหยาบและตะไบละเอียด เปรียบได้กับอุบายในการฝึกจิต ต้องใช้ทั้งวิธีการง่ายๆ ผ่อนคลาย และวิธีการที่เข้มข้นร่วมกัน และยังหมายถึงการศึกษาธรรมหรือความจริงแห่งชีวิต ทั้งเรื่องง่ายและเรื่องลึกซึ้ง ทางโลกและทางธรรม ควบคู่ดั่งสองเท้าก้าวบนเส้นทางสายกลาง เราขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้
.
การจะปอกเปลือกตัวตนและชีวิต จนเข้าใจความจริงกระจ่างแจ้ง หรือจะแต่งสร้างชิ้นงานที่ลึกซึ้งถึงแก่น จิตต้องคมดั่งมีด มีดจะคมได้ต้องลับ จิตก็เช่นเดียวกัน
.
.
๔ “ชุบ” : คือขั้นตอนหลังจาก พานคมมีด ช่างต้องนำเหล็กที่แต่งแล้วอย่างดี เข้าเตาไฟอีกครั้งจนร้อนแดง แล้วชุบกับน้ำในฉับพลัน ให้ความร้อนเจอความเย็น หลอมเหล็กจนกล้าแกร่ง ไม่อ่อน ไม่บิ่น ไม่หลงโงนเงนกับกระแสโลกและกระแสใจ
.
จุดนี้เป็นดั่งช่วงเวลาแห่งเปลี่ยนแปลง เมื่อเราให้เวลากับพัฒนาตนเอง ลงมือทำครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างใจเย็น เราต้องกล้าที่จะก้าวหน้า กล้าเปลี่ยนแปลงและข้ามจากตัวตนที่ยึดถือ เมื่อจังหวะเวลานั้นมาถึง เราอาจพบเจอกับเหตุการณ์ที่ท้าทาย จุดหวั่นไหวของหัวใจ หรือช่วงเวลาอันยากเข็ญ อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ในเมื่อเราเลือกคุณค่าที่มิใช่เพียงเศษเหล็กหรือก้อนหิน เราต้องกลัาเผารนและกระโจนสู่น้ำ
.
สิ่งสำคัญคือการลงมือทำและก้าวต่อ ความกลัวที่อยู่ลึกที่สุดอย่างหนึ่งในหัวใจของคน คือความกลัวสูญเสียตัวตน กลัวตัวเองจะไม่มีอยู่อีกต่อไป แต่เมื่อเราก้าวข้ามความกลัวนั้นมาได้ เราจึงจะพบตัวเราที่แท้จริง การเผารนแล้วกระโจนลง “ชุบ” ตนเอง คือการสละซึ่งการยึดติดและความถือมั่นทั้งหลายที่เคยมีมา หรือเรียกในทางจิตวิทยาว่า ก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัย
.
นกที่อยู่แต่ในรังที่มีขอบเขตอันปลอดภัยจะไม่มีทางได้ค้นพบตัวเอง จนกว่าจะยอมเสี่ยงกางปีกและโบยบินสู่ท้องฟ้าที่ไร้ขอบเขต
.
เราต้องกล้าชุบตัวเองหรือให้จักรวาลชุบตัวเราเมื่อเวลานั้นมาถึง ก้าวที่ต้องกระโดดบนเส้นทางของชีวิตมีมากมายนัก เราจะติดขอบอยู่ที่เดิมหรือจะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย อยู่ที่การเลือกของหัวใจ
.
.
๕ “ลับคม” แล้ว “ทาน้ำมัน” : เมื่อชุบแล้วก็ต้องลับคมอีกคราว เมื่อใช้งานได้ดีแล้วก็ต้องหมั่นลับคมสืบต่อไป เมื่อขัดเกลาตนจนผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งก้าวกระโดด การลับคมรักษาใจยังเป็นสิ่งจำเป็น นี่คือความไม่ประมาท เพราะสนิมของโลกพร้อมจะกัดกร่อนความงอกงามที่ผลิขึ้นระหว่างการพัฒนาตนเอง
.
การลับคมมีดที่ตีในแต่โบราณ จะใช้หินหยาบและหินละเอียดฝน ให้ข้อคิดเราว่าแม้พัฒนาตนเองดีแล้วนั้น เรายังต้องอยู่กับกิจกรรมทั้งทางโลกและทางธรรม ยังต้องศึกษาสิ่งที่หยาบและละเอียดต่อไป และ “ทาน้ำมัน” กันสนิมของโลก คือรู้รักษาตนเองมิให้ใจเราไหลตาม หรือพลอยยินดีปรีดากับสิ่งมัวหมองทั้งหลาย แม้แต่สิ่งที่ดีจะเป็นลาภ ยศ และสรรเสริญก็ตาม
.
การรักตัวเองเป็นพื้นฐานสำคัญ หากเราไม่รักตัวเองแล้วเราก็จะไม่รักการเรียนรู้ เราก็จักพาตัวไปกลั้วกับสิ่งมัวหมองทั้งหลาย เพราะขาดการเห็นค่าหรือการเคารพตน
.
สรุปจากทั้งห้าข้อ ในแง่ของการเรียนรู้และการเติบโตของชีวิต เราต้องเริ่มต้นจากกลุ่มและพื้นที่ที่ดี เรียนรู้เริ่มจากไมตรีระหว่างผู้เรียนด้วยกันและผู้สอน ก่อนลงลึกเข้มข้น ต้องรู้เคี่ยวกรำ ลงมือทำต่อเนื่องด้วยตนเอง ฝึกฝนผ่านบทเรียนกระหน่ำตีเราครั้งแล้วครั้งเล่า ละวางคำชมและภาพลักษณ์สวยหรู ทะเลาะกับครูบ้าง เจ็บปวดเพราะความทุกข์เสี้ยมสอน ดั่งเหล็กและตะไบขูดลอกใจจนเปลือกที่แบกไว้ลอกบางลงไป ให้เวลาแห่งการเรียนรู้ช่วยแต่งเกลา
.
ก่อนกระโจนข้ามขอบการยึดมั่น รู้ธรรมและรู้โลก ผสานกลมกลืน อยู่เหมือนลิ้นงูในปากของงู รู้มากแต่ยังต้องพัฒนาตนเองต่อไม่ประมาทละเลย
.
จะเป็นมีดที่คมและทรงค่า จงอย่ากลัวการตีจากครูทั้งหลาย ธรรมชาติให้บทเรียนที่ไม่สิ้นสุด ผ่านบุคคลและเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง หากเราปรารถนาความมั่นคงที่แท้จริงของชีวิต จงเป็นดั่งเหล็กไม่กลัวไฟหลอม
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
#คอลัมน์ ไกด์โลกจิต
[ ติดตามบทความ และ การอบรม ] www.dhammaliterary.org