๑๑ ข้อคิด คอลัมน์ “ไกด์โลกจิต” ส่งท้ายปี ๒๕๖๒

 

 

 

รวมบางข้อคิดและเนื้อหาจากบทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๓๙ ถึง ตอนที่ ๔๙ ประจำปี ๒๕๖๒ ซึ่งเผยแพร่รายเดือนทางเว็บไซต์และเพจเฟสบุ๊คของเรา
.
ผู้อ่านสามารถอ่านบทความเต็มของทุกเรื่องได้ฟรี ในเว็บไซต์ www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
.
– บทความเรื่อง สร้างวันว่าง ด้วยการวาง
.
“ต่อให้แม้ไม่ใช่วันว่างหรือเวลาว่าง แต่หากเราวางใจไว้ว่า สิ่งใดสำคัญต่อเรามากๆ แล้ว เราย่อมสามารถแบ่งเวลาและหาหนทางจัดการมันได้ สิ่งใดที่ดีที่อยากทำแต่แม้มีเวลาว่างแล้วก็ไม่ทำ เพราะเรายังวางใจในคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ไม่พอ
.
“เราต้องคิดถึงคุณค่าของสิ่งที่เราตั้งใจที่จะลงมือทำ ไม่คิดว่าหากไม่ได้ทำวันหน้าก็อาจทำได้ ลองคิดในทางแย่ที่สุดว่าหากไม่ได้ทำแล้วจะเป็นอย่างไร และอาจไม่มีโอกาสหน้าให้ทำอีกก็ได้
.
“เราจะมีเวลาว่างได้ เรายังต้องวางใจในตนเองด้วยว่า เราสามารถทำสิ่งนั้นๆ ได้ และหาทางจัดการให้ได้ทำสิ่งดังกล่าวให้สำเร็จ เพราะตราบใดที่เราเอาแต่บอกว่า ไม่นำทำได้ ไม่น่ามีเวลาพอ หรือเรามีข้อจำกัดอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ไม่มีทางทำได้เลย เพราะสะกดจิตตนเองไว้แล้ว สะกดกลั้นไฟแรงมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จไว้แล้ว
.
“วางใจยังมีความหมายว่า ศรัทธา หรือ ความเชื่อ เราต้องศรัทธาในคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ที่ตั้งใจทำ และเชื่อใจตนเองว่าเรามีคุณค่าเพียงพอที่จะพากเพียรทำสิ่งดังกล่าวที่ควรให้ได้ ลองนึกถึงสิ่งอื่นๆ ที่แม้ยาก มีเวลาน้อย และมีข้อจำกัดต่างๆ เรากลับสามารถทำจนบรรลุผล สิ่งนี้เองก็เช่นกัน เราวางใจในตนเองว่าทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน”
.
.
– บทความเรื่อง ๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนแรก)
.
“หากเรารังเกียจเผด็จการ เราต้องกลับมาดูก่อนว่าในตัวเรามีความเป็นเผด็จการอย่างไร เริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับส่วนอื่นๆ ของกายใจ เรายึดติดในสมองของตนเอง จนหลงลืมร่างกายส่วนอื่นๆ หรือไม่ เราทำตามความคิดของตนเองจนหลงลืมความจำเป็นและเสียงเรียกร้องของร่างกายไปหรือเปล่า หรือเรากำลังใช้เหตุผลมากจนหลงลืมความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ไป นั่นคือใช้แต่สมองแต่หลงลืมหัวใจและร่างกายตนเอง
.
“ตามธรรมชาติแล้วสมองมิได้เป็นศูนย์กลางของร่างกายตลอดเวลา อวัยวะหัวใจและร่างกายส่วนอื่นๆ ก็มีอิทธิพลส่งผลไปยังสมองด้วย เซลล์และส่วนต่างๆ มีการสื่อสารต่อกันอยู่เสมอ สมองนั้นเป็นเหมือนผู้ประสานงานที่คอยเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าด้วยกัน เป็นเหมือนผู้นำประชาธิปไตยที่ไม่ถือตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ด้วยความคิดของเราแล้ว เราอาจกำลังเปลี่ยนให้สมองบ้าอำนาจเกินไปจนกลายเป็นเผด็จการต่อร่างกายของตัวเอง
.
“เมื่อใดที่เราใช้ชีวิตโดยปล่อยให้ความคิดครอบงำ เราก็จะปฏิบัติต่อร่างกายและตัวเองดังทาสความคิด สมองก็จะทำงานในร่องวงจรเดิมๆ โดยไม่เหลียวแลว่าสภาพร่างกายส่วนต่างๆ นั้นกำลังเรียกร้องหรือส่งสัญญาณอะไร บ่อยครั้งที่มีคำเตือนออกมาจากร่างกายตนเองแล้ว แต่สมองไม่รับฟัง จะทำตามที่คิดไว้อย่างเดียว
.
“สำหรับบางคนอาจมิใช่เรื่องการใช้ความคิด แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วยอารมณ์จนหลงลืมเหตุผลและร่างกาย บางคนก็อาจใช้ร่างกายหรือสัญชาตญาณเป็นที่ตั้งจนหลงลืมปัญญา ต้องสังเกตว่าระหว่าง “ความคิด” กับ “ร่างกาย” และ “ความรู้สึก” สามส่วนนี้มีส่วนใดหรือไม่ที่เป็นนายเหนือจนกดขี่ส่วนอื่นๆ เราใช้หรือใส่ใจส่วนใดมากเกินไปจนก่อทุกข์แก่ตนหรือคนรอบข้าง”
.
.
– บทความเรื่อง ๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนสอง)
.
“หากร่างกายเราถูกกระทำอย่างเผด็จการจากการหมกหมุ่นในความคิดเกินไป ร่างกายก็จะประท้วงเรา เสียงข้างในที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับร่างกายก็จะประท้วงเราผ่านความรู้สึก หากสำนึกเราละเลยไม่สนใจความขัดแย้งนี้ เราก็จะได้ยินการประท้วงจากร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ และสภาพสังคมภายในจิตใจก็เลวร้ายลงตามอาการที่หนักขึ้น
.
“การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ด้วยการ “กดข่ม” บางตัวตนและเสียงในกายจิตมิให้แผลงฤทธิ์ เป็นอุบายเฉพาะหน้าที่จำเป็น แต่วิธีนี้อย่างเดียวมิได้ช่วยให้สังคมภายในเติบโต สังคมภายนอกก็เช่นกัน หากเรามุ่งหมายสร้างสันติสุขด้วยการกดข่มคนที่เห็นต่างและความขัดแย้ง วันแล้ววันเล่า จากอุบายที่ได้ผลก็จะผันกลายเป็นการ “กดขี่” จากผู้สร้างสันติภาพก็จะกลายเป็นเผด็จการ
.
“เมื่อตัวตนใดในจิตได้ถือครองอำนาจมากเกินไป ย่อมกดขี่ตัวตนอื่นภายในใจอย่างไม่รับฟัง พยายามกดข่มความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่แตกต่างหรือไม่ปรารถนา เหมือนผู้นำที่ถูกครอบงำด้วยความกลัวอำนาจจะหายไป กลัวว่าสังคมกายใจจะไม่เรียบร้อยและสงบสุข กลัวว่าจะควบคุมไม่ได้ แต่หากมิได้ใช้ปัญญาร่วมพิจารณาสาเหตุของสิ่งเหล่านั้น การกดข่มก็จะเป็นเพียงการละเลยและปิดบังปัญหาที่ยังมีอยู่ภายใน
.
“การมองโลกแต่แง่บวก ก็มิใช่หนทางออกจากปัญหา เพราะเป็นการเลือกข้างรับฟังฝ่ายเดียว กดขี่ความรู้สึกอื่นๆ ที่มีอยู่ และเป็นการกลบเกลื่อนความจริงเท่านั้น การมองว่าไม่มีความขัดแย้งหรือไม่มีปัญหาทั้งที่มีอยู่ก็เป็นการหลอกตัวเอง ต้องแก้ปัญหาด้วยการยอมรับความจริง บนวิธีประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้น ประชาธิปไตยที่เกิดจากการฟัง มิใช่เพียงออกเสียง”
.
.
– บทความเรื่อง แก้ง่วง (และใจห่อเหี่ยว) ด้วย ๘ วิธี ๓ คำแนะนำจากพระพุทธเจ้า
.
“ความอยาก (กามฉันทะ) ความไม่พอใจ (พยาบาท) ความง่วง (ถีนมิทธะ) ความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจกุกกุจจะ) และความลังเล (วิจิกิจฉา) เป็นตัวอย่างของนิวรณ์หรือม่านมัวที่ห่อคลุมใจ ทำให้แสงสว่างภายในคือปัญญาและพลังแห่งจิตถูกลดเลือน แต่นิวรณ์เหล่านี้ไม่ใช่จิต ความง่วงและความห่อเหี่ยวทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและของเรา ดั่งมวลเมฆที่บดบังดวงจันทร์ไว้ก็ไม่ใช่ดวงจันทร์หรือของจันทร์ และไม่ได้ทำให้สิ้นแสงสว่าง แค่อำพรางบดบังไว้เท่านั้น
.
“ความห่อเหี่ยว หดหู่ ความง่วง และหมดพลัง อันเป็นนิวรณ์ถีนมิทธะ เป็นธรรมที่ตรงข้ามกับความเพียร หากเราใช้ความพยายาม ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นนำหน้าแล้ว ไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในอารมณ์ของความท้อถอยและฟุ้งซ่าน สำรวมจิตอยู่ในสมาธิอันแน่วแน่ กำลังของจิตดังแสงแห่งดวงจันทร์ก็จะค่อยๆ ส่องผ่านพ้นเมฆทั้งหลาย เราจะรู้ซึ้งในวินาทีนั้นว่า จิตนี้มีศักยภาพมากเพียงใด ตัวเรามีคุณค่ามากแค่ไหน การตื่นของจิตนั้นเป็นอย่างไร แต่เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยหากปล่อยให้ใจจมอยู่ในหล่มของอารมณ์ทั้งหลาย โดยปราศจากความเพียร
.
“บางคราวเราขาดกำลังใจทำสิ่งต่างๆ ที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น เพราะการไม่เห็นคุณค่าในตนเองและรู้สึกท้อแท้ใจ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลมาจากกายใจถูกครอบงำด้วยนิวรณ์ คุณค่าและพลังนั้นมีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ซ่อนอยู่หลังม่านมัวนั้น ความห่อเหี่ยวไม่ใช่ตัวเรา ความรู้สึกไม่ดีพอไม่ใช่ตัวเรา เราเป็นเพียงดวงจันทร์ที่ถูกบดบัง ด้วยการฝึกฝนอย่างตั้งใจจะทำให้เราค่อยๆ แหวกสิ่งมัวหมองนั้นออก เผยแสงสว่างจากภายใน ทีละน้อยละน้อย
.
“การสำรวมระวังพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญ แม้หากเราฝึกตนเองหรือเข้าอบรมมากอย่างไร อ่านหนังสือดีๆ มากแค่ไหน แต่หากไม่ระมัดระวังกายจิตของตนเองแล้ว ไม่สำรวมระวังด้วยสติและการรู้เท่าทัน ย่อมง่ายที่จิตจะพลาดตกหล่มร่องของกิเลสและความมัวหมองทั้งหลาย ด้วยความประมาท ก็จะพาตัวเราเข้าไปคลุกคลีกับที่ๆ วุ่นวาย พาให้ติดการพยายามสื่อสารต่างๆ จนฟุ้งซ่าน และโอ้อวดตน จนเป็นเหตุให้ถูกครอบงำด้วยนิวรณ์”
.
.
– บทความเรื่อง ๗ ข้อคิดเรื่องความโกรธ จากพระพุทธเจ้า
.
“ความโกรธเกิดจากสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา และเกิดจากสิ่งที่น่าปรารถนาอีกด้วย อย่างแรกนั้นสามารถสังเกตได้ง่ายว่าเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์อันไม่ชอบใจ มีการประทำของบุคคลในลักษณะที่ไม่ชอบใจ หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ไม่ชอบใจ ย่อมยั่วยุให้เกิดความโกรธได้ จากสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่พอใจ และไม่น่าปรารถนา
.
“ความโกรธยังเกิดจากสิ่งที่น่าปรารถนา ด้วยความกลัว ความกังวล ต่อการสูญเสียและการแย่งชิง เมื่อมิอาจเป็นเจ้าของแล้วก็ย่อมเกิดความโกรธขึ้นได้
.
“ความปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นสิ่งที่จิตนิยามขึ้นเอง โดยปรุงแต่งจากสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา คือความรู้สึกพอใจและไม่พอใจ ความรู้สึกเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากการรับรู้โลกคือผัสสะ ผ่านอายตนะของเราทั้งหลาย อาทิ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ
.
“เมื่อรับรู้โลกนอกตัวมาปรุงแต่งเป็นผัสสะ ย่อมมีการคิดไปตามสัญญา คือความจำได้หมายรู้ ซึ่งอาจมาจากอดีต เคยจดจำว่าสิ่งนี้อยู่ในข่ายน่าพอใจ สิ่งนี้อยู่ในข่ายไม่น่าพอใจ เมื่อไม่มีการรับรู้หรือผัสสะแล้ว ความพอใจก็จะไม่มี ความไม่น่าพอใจก็จะไม่มี
.
“เมื่อรับรู้โลกคือสิ่งภายนอก อย่างขาดสติแล้ว เป็นไปตามกิเลสของจิตแล้ว ย่อมมีความพอใจและไม่พอใจเกิดขึ้น มีการปรารถนาเกิดขึ้น แล้วจึงถือเอาว่านี่เป็นของฉัน นั่นคือของฉัน หากไม่มีความปรารถนาแล้ว ความถือเอาว่าเป็นของฉันก็จะไม่มี ความโกรธก็จักไม่มีตามมา”
.
.
– บทความเรื่อง ๕ วิธีเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเองให้แก่เด็ก
.
“จากการศึกษาวิจัยพบว่า ทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อความล้มเหลว มีผลต่อทัศนคติของลูกต่อความฉลาดเฉลียว มุมมองเชิงลบของพ่อแม่ที่มีต่อความผิดพลาดของลูกนั้นส่งเสริมทำให้เขามองตนเองว่าความเก่งและความสามารถในตัวเขาไม่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้มากกว่านี้ มองว่าตนเองทำได้แค่นี้ หรือตอกย้ำความคิดเชิงลบต่อตนเองว่า ฉันไม่เอาไหน ฉันไม่เก่งพอ
.
“ความผิดพลาดของเด็กนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ใหญ่สามารถทำให้เขารู้จักตนเองและสำรวจทัศนคติที่เขามีเพื่อช่วยเหลือให้เขามีมุมมองที่เหมาะสมต่อตนเองและความสำเร็จ เราไม่ควรด่วนตำหนิความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่ควรด่วนชื่นชมว่าเขา “พยายามดีแล้ว” หรือ “ทำเต็มที่แล้ว”
.
“เราสามารถช่วยให้เขาตระหนักรู้ในตนเองผ่านความผิดพลาดของชีวิต ผ่านการถามคำถามปลายเปิดและผ่านการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ลองชวนเขาสำรวจความรู้สึกและความคาดหวังที่เขามีอยู่ ด้วยการชวนเขาบอกเล่าความรู้สึก ให้โอกาสได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาโดยไม่ต้องรีบบอกว่า “ไม่ต้องเสียใจ” การที่เขาได้ยอมรับความรู้สึกจริงๆ ที่เกิดขึ้นจะเพิ่มพูนความตระหนักรู้ตนทางด้านอารมณ์และช่วยให้เขารับมือจัดการกับมันได้ มากกว่ารีบบอกให้เขาปฏิเสธความรู้สึกของตนเองไป
.
“เมื่อเราสังเกตว่าเขาพร้อมที่จะรับฟังคำเสนอแนะแล้ว ให้เรา Feedback เด็กด้วยการพูดเชิงเหตุและผลอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่าเพราะเหตุใดจึงทำให้เกิดผลอย่างนี้ขึ้น โดยไม่ระบุว่าเขาดีไม่ดีอย่างไร จุดนี้จะช่วยให้เด็กยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดโดยไม่นำมาบั่นทอนคุณค่าของตนเอง
.
“เราไม่ควรด่วนชื่นชมเขาว่า “พยายามดีแล้ว” หรือ “ทำเต็มที่แล้ว” เพราะถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้สนับสนุนพลังบวกของจิตใจเด็กโดยตรง และไม่ได้ส่งเสริมความกระตือรือร้นหรือเจตจำนงที่จะพัฒนาตนเอง แต่ส่งเสริมความคิดของเด็กว่าเขาทำได้แค่นี้ จากการศึกษา พบว่าการด่วนชื่นชมความพยายามในสถานการณ์ที่เด็กพบกับความล้มเหลว ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นเลย แต่ทำให้รู้สึกด้อย”
.
.
– บทความเรื่อง จดหมายจากการพลัดพราก
.
.
“หลายๆ ครั้งเราก็ทะเลาะกัน เพราะเอาสิ่งอันไม่จีรังยั่งยืนมาเปรียบเทียบแข่งกัน ฉันเก่งกว่าบ้าง ฉันมีคุณธรรมมากกว่าบ้าง ฉันรักชาติยิ่งกว่า หรือฉันด้อยมากเรื่องทักษะนั้น ความรู้นี้ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่กล่าวได้ว่าเป็นของฉันหรือตัวตนฉันได้อย่างแท้จริงเลย
.
“สัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ อายุสังขารหาได้เป็นไปตามด้วยไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่หลับตาและลืมตา”
.
“เราจึงไม่ควรประมาทเสียเวลาไปกับการจ้องจับผิดผู้อื่น จ้องทำร้ายและบาดหมางต่อกัน เพราะเวลาชีวิตของเราเองก็ถอยหลังลงไปเรื่อยๆ ในทุกขณะที่หลับตาและลืมตา เราเดินเข้าไปหาความตายใกล้มากขึ้นตามลำดับ
.
“ไม่พึงถือความผิดพลาดของผู้อื่นเป็นเรื่องจริงจังจนเป็นทุกข์ เพราะการกระทำทางกาย วาจา และใจของเขาเองก็อยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยงแท้ ย่อมมีเสื่อมลง และเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ แม้แต่การกระทำดีๆ ของคนอื่นก็ไม่เอาเป็นตัวตนของเราหรือของๆ เราให้ยึดถือได้ตลอดไป
.
“ในนิทานชาดกของพระไตรปิฎกยังกล่าวอีกว่า “เพราะวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ อัตภาพย่อมบกพร่อง หนทางที่คนเดิน เมื่อต้องมีความพลัดพรากจากกันโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้ว ไม่ควรจะต้องเศร้าโศกถึง”
.
“คนทะเลาะกันเพราะจิตไปยึดติดในท่าทีการกระทำและบางด้านของอีกฝ่ายในลักษณะความเป็นตัวตน คิดไปเองว่าฉันและเธอไม่เหมือนกัน จนหลงลืมว่าวันหนึ่งต่างฝ่ายต่างก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยและตายลงทั้งสิ้น เป็นเพื่อนร่วมทุกข์บนโลกใบนี้ทั้งสิ้น
.
“ในเมื่อทุกคนต่างต้องตาย เราจึงควรเมตตาต่อกัน ใช้เวลาที่ยังมีอยู่ของชีวิตตนเองเพื่อความสงบสันติแก่ตัวเองและผู้อื่น การยิ่งจงเกลียดจงชังให้ร้ายต่อกัน มิเคยทำให้ใจถึงความสงบสันติได้เลย และมีแต่พาชีวิตล่วงไปอย่างไร้ความหมาย
.
.
– บทความเรื่อง ๙ วิธี ชนะข้ออ้าง “ไม่มีเวลา” และหยุดเสียเวลาชีวิต
.
“เมื่อเราไม่เห็นคุณค่าในตนเองอย่างแท้จริง เมื่อนั้นเราก็จะใส่ใจกับสิ่งนอกตัว สิ่งไร้ประโยชน์ และสิ่งที่เกินความจำเป็นมากเกินไป นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เวลาของเราสูญเสีย
.
“การไม่เห็นคุณค่าในตนเองย่อมส่งผลทำให้เราไม่มีวินัยในการดูแลและฝึกฝนตนเอง แต่ไปให้วินัยหรือความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอกับเรื่องไม่เป็นเรื่องแทน เช่นเปิดโทรศัพท์มือถือทุกสิบห้านาทีโดยไม่รู้ตัว เผลอคิดเรื่องเดิมๆ ซ้ำทุกชั่วโมง ดื่มกาแฟฟรือชานมไข่มุกทุกวัน เป็นต้น
.
“เราทุกคนต่างก็มีวินัยและความสามารถในการบริหารจัดการเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่มันกระจัดกระจายไปในหลายๆ เรื่อง หรือไปทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่สำคัญแต่ให้ความเพลิดเพลิน เพราะวินัยนั้นยังขาดการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นพื้นฐาน จึงไปใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ได้มีคุณค่าแท้จริง”
.
.
– บทความเรื่อง ๕ ข้อต้องรู้ ถ้าไม่อยากเป็นทาสความคิด
.
“เหตุใดสิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นความจริงมักไม่เหมือนกัน แล้วเหตุใดเราจึงมักเชื่อว่าสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงเหมือนๆ กัน
.
“กระบวนการความคิดของมนุษย์นั้นมีศักยภาพมากมาย หนึ่งในความสามารถของจิตนั้นคือการขยายให้เด่นชัด (Amplify) คือการทำให้ความรู้สึกของใจและการรับรู้มีขนาดและความเข้มข้นที่มากเกินจริง (รวมทั้งน้อยกว่าที่เป็นจริง)
.
“เวลาเราทุกข์ใจหรือจะต้องเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัว ความคิดเราอาจจะสร้างภาพหรือความรู้สึกที่เลวร้ายในใจ หรืออาจทำให้เรารับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าในทางที่ย่ำแย่ที่สุด กลไกนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เราตื่นตัวพร้อมที่จะปกป้องตนเอง หรือเวลาที่เราตั้งความหวังไว้กับสิ่งใดมาก ความคิดเราก็อาจสร้างภาพหรือความรู้สึกที่สวยงามในการเอื้อมคว้าสิ่งดังกล่าว เสมือนดังว่าสิ่งนั้นล้ำค่าและสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่ได้ดีอย่างที่คิดหวังไว้
.
“หลายๆ ครั้งความทรงจำเราก็มีความวิปลาสหรือความผิดเพี้ยนเกินจริงไป เพราะความทรงจำนั้นก็เกิดขึ้นจากจิตหรือสมองเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในตนเอง ความคิดจึงมีการดัดแปลงแก้ไขข้อมูลที่รับรู้มาจากอายตนะ เพื่อให้จิตเราสามารถจดจำและเข้าใจได้ แล้วหากมีอารมณ์ร่วมในการเหตุการณ์ที่ว่าด้วย ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าความทรงจำนั้นจะถูกตกแต่งเกินกว่าความที่เป็นจริง เพื่อแสดงออกความรู้สึกนั้นๆ ให้ใจจดจำได้
.
“ความกลัวมักทำให้สิ่งที่เรากลัวดูน่ากลัวกว่าที่เป็นจริง เพราะกลไกการขยายให้เด่นชัดของจิตนั้นพยายามปกป้องตัวเรา แต่บ่อยครั้งที่มันได้ทำให้เราลืมความกล้าหาญที่เรามีอยู่แล้ว ทำให้เราคิดถึงแต่แง่ลบของสิ่งนั้นๆ หรือคิดไปเองว่ามันเลวร้ายเพียงใด ทั้งที่ความจริงแล้วอาจมิใช่เช่นนั้นเลย
.
“การขยายให้เด่นชัด ยังเกิดจากความรู้สึกชอบพอใจด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนกับเราได้พบคนที่มีลักษณะที่น่าหลงใหล เราอาจได้แต่เฝ้ารักข้างเดียว หรือเพิ่งคบกันได้ไม่นาน ความพอใจที่มีต่ออีกฝ่ายย่อมทำให้เราพร้อมที่จะพร่ำเพ้อพรรณนา และรู้สึกว่าข้อดีของอีกฝ่ายนั้นช่างล้ำค่าเพียงใด ก่อนที่เราจะรู้ความจริงที่เจ็บแสบจากการตกหลุมรัก”
.
.
– บทความเรื่อง ๕ คำสอนพระพุทธเจ้า เพื่อรับมือคำด่าและท่าทีแย่ๆ
.
“บางครั้งกัลยาณมิตรก็มาสู่เราในทางที่ไม่ชอบหรือมากล่าวในสิ่งที่เราไม่พอใจ อาจเป็นคนที่เราไม่ได้รู้จักมาก่อน แต่มีกรรมหรือปัจจัยที่ต้องมาเตือนหรือสอนใจกันด้วยวิธีที่ไม่ต้องการ
.
“เป็นธรรมดาที่คนจะเลือกฟังในสิ่งที่เชื่อ เลือกฟังในสิ่งที่ตนเองชอบ นอกนั้นก็มักจะฟังแต่ไม่ได้ยิน แม้ว่าสิ่งที่ไม่ได้เชื่อหรือไม่ได้ชอบจะมีประโยชน์และเป็นความจริงอีกด้านก็ตาม
.
“คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ปรัชญาโบราณของจีนกล่าวไว้ในท่อนหนึ่งว่า “คำจริงไม่หวาน คำหวานไม่จริง” การที่มีผู้พูดถึงความผิดพลาดอันละเอียดอ่อนของเราก็สอดคล้องกับคุณสมบัติข้อหนึ่งของกัลยาณมิตร คือการสามารถพูดหรือสนทนาในสิ่งที่ลึกได้ ไม่ใช่พูดดีๆ กับเราอย่างตื้นเขินเท่านั้น แต่ด้วยกิเลสก็มักทำให้เผลอชอบแต่คนที่พูดดีๆ กับเรามากกว่า ทั้งๆ ที่คำพูดเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นจริงหรือไม่ได้มาจากการพิจารณาที่ลึกซึ้ง
.
“สิ่งที่คนอื่นพูดและวิจารณ์เราไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป แต่สามารถมองให้เห็นว่าในทุกสิ่งที่คนอื่นตำหนิเรา มักจะมีความจริงอยู่อย่างน้อย ๑ เปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่เราควรแก้ไขหรือเชื่อตาม คิดเช่นนี้แล้วเราก็จะไม่ทุกข์กับการตำหนิของคนอื่น เขาแค่เป็นครูคนหนึ่งที่มาสอนเราตามกรรมหรือปัจจัยกำหนดเท่านั้น”
.
.
เนื้อหาจากบทความคอลัมน์ “ไกด์โลกจิต”
ตอนที่ ๓๙ ถึง ตอนที่ ๔๘ โดย อนุรักษ์ ครูโอเล่
สถาบันธรรมวรรณศิลป์

 

@อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

@สนับสนุนกิจกรรมของเราผ่านคอร์สการอบรมได้ที่
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/