๑๑ ข้อคิดคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ประจำปี ๒๕๖๑

 

 

 

๑๑ ข้อคิดคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ประจำปี ๒๕๖๑

 

หากใครคนหนึ่งทำให้เราเจ็บช้ำ ใครคนนั้นกำลังเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ตัวเรา ครูที่ไม่ต้องการศรัทธา ความชอบตอบกลับ คือคนที่สอนให้เราเข้าใจในความทุกข์

.

ทั้งนี้เมื่อเราพบเจอกับเหตุการณ์ที่เลวร้าย ก่อนที่เราจะพยายามลบเลือนความทุกข์ด้วยข้อคิดใด เราควรกลับมาใส่ใจดูแลและรับฟังใจของตนเองอย่างลึกซึ้ง อย่างไม่หน่ายหนีหรือรังเกียจใจตนเองยามบอกช้ำ

.

แม้สิ่งใดหรือใครจะพลัดพรากจากเราไป เราต้องไม่ทิ้งหัวใจของตนเอง มิว่าใครเป็นเหตุก่อทุกข์ เราต้องไม่เป็นเหตุก่อทุกข์แก่ใจและร่างกายเราซ้ำเติม เรามีคุณค่าเสมอ หัวใจและร่างกายเรามีคุณค่าเกินกว่าที่จะทำสิ่งเลวร้ายอย่างเดียวกับกับที่ทำร้ายเรา ต่อตัวเราเอง และต่อใคร

.

จากบทความ คุณค่าแท้การให้อภัย

เผยแพร่เดือนมกราคม ๒๕๖๑

.

.

หลายครั้งเราก็หลงลืมว่า คุณค่าและสิ่งสำคัญในชีวิตคือสิ่งที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด นั่นคือ จิตใจ และ ร่างกายตนเอง เราได้ดูแลอย่างสมดุลหรือไม่หากเทียบกับสิ่งนอกตัว ในสังคมปัจจุบันมีกระแสหลากหลายฉุดดึงให้เราสนใจเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ผลักดันให้เราทะยานอยากและใฝ่หวังถึงบางสิ่งที่มีค่า ดิ้นรนขวนขวายเพื่อสิ่งเหล่านั้น ไขว่คว้าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

.

แล้วหันหลังให้ขุมทรัพย์ของชีวิตที่มีค่ามากที่สุดทรัพย์หนึ่ง ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด นั่นคือสุขภาพของร่างกาย หากหัวใจเรายังรักตัวเองได้ไม่มากพอ เรามักเห็นสิ่งที่ตนเองไม่มีสำคัญกว่าสิ่งที่มีแล้ว จนวันหนึ่งเรากำลังจะสูญเสียสิ่งที่มีไป เรียกว่าเห็นโลงศพแล้วจึงหลั่งน้ำตา หากร่างกายไม่ประท้วงหัวใจด้วยความป่วยไข้เลย วันหนึ่งการเดินทางตามหาฝันคงได้สิ้นสุดโดยที่เราไม่รู้เหตุผลว่าเพราะอะไร

.

จากบทความ สิ่งที่ความป่วยกายสอนหัวใจ (ตอนแรก)

เผยแพร่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

.

.

ด้วยความกลัวในหัวใจ คนเรามักพยายามยึดให้ทุกสิ่งคงอยู่ ทำทุกอย่างแม้อย่างน้อยแค่ได้รู้ว่าสิ่งที่รักและหวงแหนนั้นจะยังคงเป็นเช่นที่อยากให้เป็น แต่ร่างกายก็พยายามสอนธรรมอยู่อย่างนั้นให้เรารับฟัง ไม่มีสิ่งใดคงที่และเที่ยงแท้ แม้แต่หัวใจเราเองก็ตาม แต่คนเรามักไม่ค่อยได้ฟัง พยายามใช้ชีวิตและร่างกายอย่างเกินธรรมชาติเพื่อคว้ามาซึ่งสิ่งที่อยากได้และอยากเป็น จนกระทั่งวันหนึ่งความป่วยเท่าทวี เตือนเราหนัก สิ่งที่คว้ามาก็ต้องปล่อยลงแม้ใจไม่อยากก็ตาม

.

คนสวนไม่อาจห้ามต้นไม้มิให้ชราและตายจาก มิอาจห้ามออกผลหรือทิ้งดอกใบ แต่ทำได้ดีที่สุดที่จะบำรุงรักษาตามปัจจัย แล้วชื่นชมคุณค่าทั้งในยามงอกงามและโรยรา

.

คนสวนเรียนรู้ธรรมจากต้นไม้ที่ตัวเองปลูก คนเราที่เกิดมามีร่างกายก็เรียนรู้ธรรมจากร่างกายของตนเองได้ฉะนั้น ดั่งพุทธวจนะกล่าวว่า มีธรรมอยู่ในกายยาววา หนาคืบ และกว้างศอก

.

จากบทความ สิ่งที่ความป่วยกายสอนหัวใจ (ตอนสอง)

เผยแพร่เดือนมีนาคม ๒๕๖๑

.

.

การกราบและการไหว้ เป็นการฝึกให้เราไม่ละเลยความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีใจงดงาม การอ่อนน้อมมิได้เป็นประโยชน์เฉพาะการเข้าสังคมหรือดีต่อคนอื่นเท่านั้น แต่ผลดีที่สุดของการอ่อนน้อมและลดการถือตน คือตัวเราเองจะเป็นทุกข์น้อยลง ใช้ชีวิตด้วยความเย็นและสงบมากขึ้น หลีกเลี่ยงการทำร้ายผู้อื่นด้วยกาย วาจา และใจ และมีโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเองมากกว่าการขาดความอ่อนน้อม

.

คนที่ถือมั่นในตนเองมากจึงไม่ค่อยมีโอกาสแก้ไขปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ ในชีวิต เพราะการไม่รับฟังใคร และการไม่รู้ทันว่า ตัวเราเองมักมีส่วนสำคัญในการเกิดปัญหาหนึ่งในชีวิตเสมอ เมื่อไม่ยอมปรับเปลี่ยนตนเอง ปัญหาเดิมก็ย่อมเกิดใหม่

.

ปัญหาบางเรื่องแก้ไขได้ไม่ยาก เหมือนกรงขังที่ล้อมคอกตัวเราไว้ เพียงแค่รู้จักตัวเล็ก เราก็ลอดและรอดได้แล้ว แต่ธรรมชาติของจิตเมื่อตามกิเลสก็จะไม่ยอมเล็กก็จะพยายามเบ่งสู้ จึงขังอยู่ในกรงอย่างนั้น การถือมั่นในตนเกินไปก็ทำให้เราไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหา แต่เรียกร้องให้คนอื่นแก้ไข

.

จากบทความ ประโยชน์ ฝึกกราบกำราบใจ

เผยแพร่เดือนเมษายน ๒๕๖๑

.

.

การมองโลกแง่ดีและคิดบวกต่อตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากขาดการยอมรับด้านลบแล้ว เท่ากับยังเป็นการหลอกตัวเองและกลบเกลื่อนปัญหาไว้ ยอมรับตัวเอง หมายถึงเข้าใจตัวเองรอบด้าน ตามความป็นจริง ทั้งดีร้ายและความเคยชิน ส่งผลดีและเสียอย่างไร ไม่เฉพาะด้านที่อยากมอง

.

การยอมรับคือแลเห็นแต่ไม่ตอกย้ำ ยอมรับแต่ไม่ซ้ำเติมตัวเองจนเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เพราะการยอมรับไม่ใช่การจมปลัก เพียงต้องเห็นโทษจากสิ่งที่ทำอย่างเข้าใจ แต่ไม่ใช่เฝ้าโทษตัวเอง แม้รู้ว่าเรามีเสียอย่างไร มีด้านลบแบบไหน แต่หากเราเอาแต่ย้ำคิดว่า เพราะฉันเป็นคนเช่นนี้ เช่นนี้ จะยิ่งมีแต่ส่งเสริมให้เรายึดติดด้านลบนั้นเป็นตัวตน เป็นของตน ทั้งที่เรามีหลากหลายด้านในตัวเอง

.

ยอมรับคือแลเห็นและน้อมนำมาพิจารณาปรับปรุง เพื่อระวังไม่ให้กาย วาจา และใจไปส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ด้านลบให้เติบใหญ่ หากเราย้ำคิดตัวเองในทางลบและในทางหาข้ออ้าง เรายิ่งผูกปมในใจให้หนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น แต่หากย้ำคิดแต่ในทางบวก เท่ากับเราก็ยังรักตัวเองไม่จริง เพราะยังปฏิเสธบางด้านที่มี

.

จากบทความ 7 วิธีดูแลด้านลบในตัวเอง (ตอนแรก)

เผยแพร่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑

.

.

รักตัวเอง อย่ามีเงื่อนไขกับหัวใจและชีวิตมากเกินไป เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้แก่คนอื่นตลอดเวลา เราก็มีคุณค่าและน่ารักได้ การล้มเหลวบ้างก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าเรามีคุณค่าน้อยลง การถูกปฏิเสธไม่ได้เป็นสิ่งที่บอกว่าใครไม่ดีพอ การถูกทำร้ายจากคนอื่นไม่ได้มีความหมายว่าเราจะต้องทำแบบเดียวกันเพื่ออยู่รอด ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเงื่อนไขที่เราผูกใจตนเองไว้ เพื่อหวังเห็นคุณค่าในตนเองชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น แต่มันไม่ใช่ความจริงเสมอไป ชีวิตมีหนทางมากมายในการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของหัวใจ และตัวเรามีคุณค่ามากเพียงพอที่จะได้รับความรักอย่างตรงไปตรงมา

.

ทุกคนต่างมีความต้องการในหัวใจที่เขาต้องดูแล การให้ความรักและใส่ใจความต้องการแท้จริงในใจตน จึงเป็นหน้าที่ของตนเองเป็นอันดับแรก บางทีคนใกล้ตัวก็ยังไม่พร้อมที่จะมอบสิ่งที่เราต้องการในตอนนี้ เพราะเขาเองก็อาจขาดมันอยู่เช่นกัน มีรูรั่วในใจอยู่เช่นกัน

.

เราสามารถให้ความรักแก่ตัวเองตรงไปตรงมา ด้วยการเข้าใจความต้องการแท้จริงในหัวใจ และเติมเต็มสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเองอย่างเหมาะสมและตรงไปตรงมาให้มากที่สุด ถ้ารู้สึกขาดความมั่นใจก็ชื่นชมตัวเองให้มากขึ้นมิใช่เดินเข้าร้านกาแฟเลิศหรู เราขาดความรักก็ให้ความรักแก่กายใจด้วยการออกกำลังกาย หมั่นกอดคนรอบข้าง คิดในทางเห็นคุณค่า มิใช่รอคำทำนายว่าเมื่อใดคนที่ใช่จะมาถึง

.

จากบทความ 7 วิธีดูแลด้านลบในตัวเอง (ตอนสอง)

เผยแพร่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๑

.

.

เมื่อชีวิตถูกครอบงำและควบคุมเสียหมดสิ้น คนผู้นั้นย่อมหาหนทางชดเชยความรู้สึกไร้อำนาจนั้นด้วยการครอบงำและควบคุมสิ่งที่เขาสามารถทำได้ แม้สิ่งที่ว่านั้นจะทำร้ายตนเองหรือคนรอบข้างก็ตาม

.

ในกรณีของคาเรนคือการครอบงำความต้องการของร่างกาย ควบคุมบังคับร่างกาย เพื่อชดเชยความรู้สึกบกพร่องในตัวเอง การควบคุมน้ำหนักและลดลงมาปริมาณมากได้ เป็นครั้งแรกในชีวิตของแคเรนที่เธอได้รู้สึกถึงอำนาจที่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ เพราะครอบครัวของแคเรนเป็นคนควบคุมและตัดสินใจแทนเธอในทุกเรื่อง ในความคิดของแคเรน การควบคุมน้ำหนักตัวของเธอคงจะเป็นเรื่องเดียวเท่านั้นที่เธอสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง

.

จากการศึกษาวิจัยระบุว่า ความเป็นคนใส่ใจความสมบูรณ์แบบของพ่อแม่ (perfectionism) และการควบคุมลูกมากเกินไป มีผลนำไปสู่อาการโรควิตกกังวลในเด็ก และตัวพ่อแม่เองอีกด้วย

.

จากบทความ อย่าควบคุมลูกมากเกินไป : กรณีศึกษา แคเรน คาร์เพนเทอร์ และงานวิจัยอื่น เผยแพร่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑

.

.

ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้แก้ไขเสมอไป บางเรื่องยิ่งพยายามเข้าไปแก้ไขให้สมบูรณ์ก็ยิ่งยุ่งเหยิง ยิ่งย้ำคิดกับเรื่องนั้นมากยิ่งกังวลใจ ปล่อยไว้บ้างวางไว้สักพัก มันอาจค่อยๆ ดีขึ้นเอง โลกไม่ได้หมุนเพราะตัวเราอยากให้หมุน ทุกชีวิตมีทางไปของตนเอง ทุกสิ่งดำเนินไปด้วยตัวมันเอง เราเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การเลือกหยุดลงบ้างก็เป็นการเปิดทางให้ปัจจัยอื่นๆ ช่วยผลักดัน

.

การตอกย้ำข้อบกพร่องทั้งหลายมิว่าของลูก คนรัก หรือลูกน้อง ไม่ได้ทำให้เขาเติบโตขึ้นเสมอไป การจ้ำจี้ให้อีกฝ่ายแก้ไขปรับปรุงตัว อาจยิ่งย้ำให้เขาจ่อมจมในความรู้สึกไม่มีคุณค่าและทำพฤติกรรมลบซ้ำเติม การแก้ไขปัญหาเหมือนกับการแก้มัดหรือคลายปมเชือก เราไม่อาจทำได้ด้วยการผูกย้ำเข้าไปให้หนาแน่นมากขึ้น

.

ข้อบกพร่องไม่ได้มีไว้ให้แบก เมื่อเราเห็นข้อบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์พอของสิ่งใดก็ตามแล้วใจเป็นทุกข์ นั่นมิใช่ความผิดของข้อบกพร่อง แต่เป็นตัวเราเองที่ทำให้ตนเป็นทุกข์ เพราะความคาดหวังและเอามาเป็นความรับผิดชอบของตนมากเกินไป

.

จากบทความ วิธีไม่สมบูรณ์แบบ ลดความเป็นนัก(ใฝ่)สมบูรณ์แบบ

เผยแพร่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑

.

.

เมื่อใดที่คนอื่นเข้าใจตัวเราผิดพลาด แล้วทำให้รู้สึกหม่นหมอง เสียกำลังใจ โกรธหงุดหงิด หรือน้อยเนื้อต่ำใจ แสดงว่าใจเรากำลังผูกคุณค่าตนเองไว้ที่มุมมองกับความคิดของผู้อื่น และการได้รับความเข้าใจ จนเป็นทุกข์

.

การใส่ใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราถือสิ่งนี้ไว้มากเกินไปจนไม่มีหลักยึดให้ใจหนักแน่นพอ หัวใจก็จะเป็นลูกบอลที่ถูกยื้อแย่งและส่งไปหาคนนั้นที คนนี้ที มิได้กลับมาหาคุณค่าที่ตนเองอย่างมั่นคง ความสุขทุกข์ก็จะขึ้นอยู่กับผู้อื่น

.

เรากำลังนำภาพที่คนอื่นมองเห็นมาเป็นเนื้อตัวเรา ทั้งที่ความคิดคนผันแปรไม่แน่นอน เมื่อใดอารมณ์ดีความคิดก็เป็นอย่างหนึ่งเมื่อใดอารมณ์เสียความคิดก็เปลี่ยนแปลง ยามทำถูกใจก็ยกยอชื่นชม ยามขัดใจก็หมิ่นหยามหมางเมิน

.

ตัวเราคือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ตรงนี้ มิใช่ในดวงตาหรือความคิดใคร หากเราถือตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่คนอื่นมอง ก็เสมือนถือว่าภาพจากเครื่องฉายเป็นของจริง เมื่อใดเขาไม่สนใจไยดีหรือคิดเห็นเป็นอื่น เราก็รู้สึกด้อยค่าประหนึ่งไม่มีตัวตน

.

จากบทความ แง่คิดเมื่อถูกเข้าใจผิด

เผยแพร่เดือนกันยายน ๒๕๖๑

.

.

ชนะใดไม่สู้เท่ากับชนะใจตนเอง ซึ่งชนะใจในที่นี้มิใช่การให้บีบคั้นหรือกดข่มหัวใจตนเอง แต่ย่อมาจากความหมายว่า ชนะกิเลสของใจตนเอง กิเลสนั้นหมายถึงสิ่งที่ไม่ดีและทำให้ทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้งความอยากและความเคยชินด้วย ซึ่งคนเรามักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลสในใจตนเอง จนขาดความเข้มแข็งที่แท้จริง

.

สิ่งใดที่ยั่วยวนให้เราเข้าไปหา และสิ่งที่กระตุ้นให้อยากทำ อยากพูด หรืออยากคิด ชนิดที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ สิ่งเหล่านั้นทำให้เราเป็นทาสผู้อ่อนแอ ยิ่งเราสนองตอบด้วยการคิด พูด และทำตามความยั่วยวนให้อยากเหล่านั้น ใจก็ยิ่งอ่อนแอมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อมีสิ่งอื่นๆ มากระทบ เราก็จะหวั่นไหวตามง่าย เพราะเคยชินที่จะต้อยตามความอยากที่ถูกยุเย้า

.

เราจึงต้องฝึกหักห้ามใจตนเอง ด้วยการฝึกชะลอการตัดสินใจบ้าง หากใจเรารู้สึกอยากทำ อยากพูด หรืออยากคิดที่ไม่เกิดประโยชน์ใด หรือเป็นทุกข์เสียมากกว่า ทำให้ตัวเราช้าลงก่อนที่จะเลือกตอบสนองหรือไม่ตอบสนอง ให้ตัวเรามีช่วงเวลาขณะจิตได้ทบทวน และอยู่กับตนเอง เมื่อเราชะลอการทำตามความอยากลงได้ แม้เพียงเล็กน้อย เราก็เริ่มเข้มแข็งแล้ว เริ่มต้านกระแสกิเลสของใจได้แล้ว

.

จากบทความ วิธีเข้มแข็งจากภายใน ไม่ยากเลย (ตอนแรก)

เผยแพร่เดือนตุลาคม ๒๕๖๑

.

.

ต้นไม้ยืนหยัดต้านทานพายุฝนได้ เพราะหยั่งรากลึกลงดินเป็นจุดยืนของตน คนเราจะเข้มแข็งต้านทานอุปสรรคทั้งหลายได้ย่อมต้องมีจุดยืนของตนเอง การมีจุดยืนคือการรู้ว่าจะทำสิ่งใดเพื่ออะไร

.

จินตนาการถึงการเดินที่เข้มแข็งและสง่า ตัวเราตรง เดินแน่วแน่ มุ่งไปยังจุดหมาย มือเท้าไกวพองาม ดวงตามองทางไม่เฉไฉ การที่เราจะทำสิ่งใดอย่างเข้มแข็งจากข้างใน ต้องทำให้เหมือนเช่นการเดินลักษณะนี้ ทำไปอย่างซื่อตรงต่อจุดหมาย แน่วแน่พยายามและจดจ่อที่คุณค่าแท้จริง

.

การทำสิ่งต่างๆ ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา บางเรื่องอาจทำให้เรารู้สึกท้อใจ หรือเหนื่อยหน่ายจนหมดแรงทำต่อ กำลังใจจากเพื่อนและคนรอบข้างสามารถช่วยเราได้ แต่จะดีมากหากเราสามารถเข้มแข็งจากข้างในตนเองเพื่อเอาชนะอุปสรรคปัญหาเหล่านั้น

.

เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจและชื่นชมตัวเราได้ตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญกว่าคือเป้าหมายแท้จริงของการทำสิ่งเหล่านั้น หากเราทำงาน คุณค่าแท้ของงานนั้นคืออะไร ความคิดเห็นจากผู้อื่นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น แต่ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ คือคุณค่าแท้จริงที่ต้องใส่ใจ

.

จากบทความ วิธีเข้มแข็งจากภายใน ไม่ยากเลย (ตอนสอง)

เผยแพร่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑

.

.

อนุรักษ์ ครูโอเล่

ผู้เขียน

.

.

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :

www.dhammaliterary.org/คอลัมน์ไกด์โลกจิต/

.

> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา

www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/