๑๐ บางข้อคิดคอลัมน์ “ไกด์โลกจิต” ประจำปี ๒๕๖๐

 

 

๑๐ บางข้อคิดคอลัมน์ “ไกด์โลกจิต” ประจำปี ๒๕๖๐

๑ “ ปีใหม่จึงจะเป็นเพียงแค่เทศกาลให้เราปลดเปลื้องภาระชั่วคราว เพียงเพื่อกลับมาแบกรับและเหนื่อยหนักอย่างเก่า ปีใหม่จึงจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ให้เราสุขสันต์ ก่อนกลับมาทุกข์เพราะเรื่องเดิมมิได้แปรเปลี่ยน เพราะปีใหม่ของชีวิตมิใช่เทศกาล หากแต่เป็นการยอมวางและเริ่มต้นใหม่
.
“ การเริ่มต้นใหม่อาจทำให้เรากลัวและเสียดาย ดุจที่ผมรู้สึกยามเห็นต้นกุหลาบที่ผูกพันถูกตัด ยามเราต้องวางสิ่งที่เคยเชื่อมั่นหรือเป็นคำตอบแก่เราลง มันย่อมทำให้เรารู้สึกไม่เชื่อใจ และบางคนอาจสับสน แต่ซ้ำร้ายบางคนมิอาจยอมรับถึงกับเสียศูนย์ชีวิตเลยก็มี หากเราไม่กล้าก้าวออกมาแล้ว ชีวิตย่อมกลับมาอยู่ในร่องวงจรเก่าหรือทนทุกข์เดิมซ้ำมิอาจหาทางแก้ไข วันหนึ่งสิ่งที่เราเชื่อว่าใช่หรือแน่นอนได้ผิดเพี้ยนไป หัวใจย่อมเสียหลักและตกทุกข์ ความเชื่อมั่นในตัวเราหรือชีวิตตนมิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เคยยึดถือเท่านั้น คุณค่าแท้ของต้นไม้มิได้อยู่ที่ใบหรือดอก ต้นไม้รู้เช่นนั้นจึงกล้าปลิดทิ้งลงเพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตมีหนทางไป หาไม่แล้วเราก็จะปิดโอกาสเติบโตของตนเอง ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “มีปีใหม่ในทุกๆ วัน”
.
.
๒ “ หัวใจที่หม่นหมองเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ความเสียใจไม่ใช่สิ่งที่แน่นอน อารมณ์เหมือนเมฆที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง : ท้องฟ้าเป็นเหมือนภาพยนต์เรื่องยาวที่ฉายเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกคืนวัน ตอนนี้เราเห็นเมฆเป็นแบบนั้น ท้องฟ้าสดใสหรือหมองหม่นแบบนี้ อีกชั่วโมงหนึ่งหรือวันต่อไป เมฆและฟ้าก็แปรเปลี่ยนไปแล้ว
.
“ หัวใจคนก็เป็นดั่งท้องฟ้านี่เอง เมฆก็คืออารมณ์มากมาย แวะเวียนมาและพร้อมจากไป ก่อนหน้าที่เราจะเครียด เราอาจกำลังหัวเราะอยู่ ก่อนหน้าน้ำตารินไหล ตอนนั้นเราอาจกำลังชื่นชมยินดีกับสิ่งที่ได้เจอ แต่เวลาเราเศร้าใจหรือเครียดทุกข์หนัก เราอาจเผลอคิดไปว่าท้องฟ้าของจิตใจเราจะคงที่อยู่อย่างนั้น จะมืดหมองอย่างนั้นตลอดไป ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “๔ ข้อคิด “ทำใจ” จากเมฆ (ตอนแรก)”
.
.
๓ “ การ “ทำใจ” นั้นมีสองรูปแบบ แบบหนึ่งคือ “การยอมรับ” ในสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง เราสามารถทำอะไรได้มากน้อยเท่าใด อะไรที่เราทำไม่ได้ การยอมรับนั้นคือการปลดความคาดหวังที่เราแบกรับไว้ จนทำให้เศร้าเสียใจและทำร้ายตนเอง
.
“ แบบที่สองคือ “การปรับปรุง” ในเมื่อเราแก้ไขคนอื่นไม่ได้ จัดการสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ก็เหลือเพียงสิ่งใกล้ตัวที่ควรปรับปรุง นั่นคือ ตัวเรา แก้ไขความคิดที่ทำร้ายตัวเอง ดูแลความรู้สึกในใจ ปรับเปลี่ยนการกระทำที่สร้างปัญหา ปรับมุมมองที่ทำให้เราคาดหวังหรือเป็นทุกข์กับสิ่งนั้นๆ
.
“ เพราะสิ่งภายนอกตัว เราไม่อาจเข้าไปจัดการให้เป็นไปตามความ “คาดหวัง” ได้หมดสิ้น แม้ “คาดหมาย” ว่าอยากให้เป็นอย่างไรหรือควรเป็นอย่างไร นั่นเพียงมุมมองในหัวใจเราเท่านั้น คนเราทุกข์กับเหตุการณ์ข้างนอกแค่ส่วนหนึ่ง แต่ทุกข์เพราะใจตนเองและมุมมองตนมากกว่า ดังนั้นการทำที่ “ใจ” ตนเองจึงสำคัญมาก
.
“ ไม่ใช่ความ “คาดหวัง” แต่สิ่งที่เราควรดูแลนั่น จริงๆ แล้ว คือ “ความหวัง” ต่อการมีชีวิต ต่อการได้พบเจอใครสักคนและทำสิ่งที่ตนเองรัก เพื่อมุ่งมั่นตั้งใจและเห็นคุณค่าในทุกสิ่งและทุกเวลาที่มีอยู่ ก่อนถึงวันหมดอายุ เพราะ “ความหวัง” คือพลังใจหล่อเลี้ยงความสุข แต่ความ “คาดหวัง” คือการดิ้นรนอย่างเป็นทุกข์ โดยเฉพาะเมื่อขาดใจที่ยอมรับความจริง “
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “๔ ข้อคิด “ทำใจ” จากเมฆ (ตอนที่สอง)

.
.
๔ “ เราก็ต้องรู้จักตนเอง รู้ประมาณศักยภาพและความสามารถที่ตนมี รู้ว่าสิ่งที่หวังนั้นเหมาะหรือไม่ หรือแค่รู้สึกอยากเท่านั้น หากยังไม่แน่ใจ เราก็ต้องใช้เวลาที่จะศึกษาตนเองจนเข้าใจ เราให้เวลาวัยเด็กไปกับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายหลายปีแล้ว ตอนนี้เราต้องหันหน้ากลับมาทบทวนอ่านตนเองจนแตกฉานบ้าง
.
“ เราเองจะเข้าใจได้มากขึ้นว่าที่ฝันกลางวันครั้งแล้วครั้งเล่าเหล่านั้น จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร ต่อเมื่อเรารู้จักตน เข้าใจหัวใจตัวเอง สำหรับบางคนนั้นง่าย บางคนก็ยาก วิธีการที่ช่วยได้อย่างหนึ่งคือสมุดบันทึก หมั่นบันทึกเก็บความรู้สึกและข้อสังเกตเกี่ยวกับตนเองวันละเรื่องสองเรื่อง ต่อไปเราก็มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราให้รู้จักมากพอ เดิมทีตัวเราก็อยู่กับตัวเองอยู่แล้ว แต่ด้วยใจที่กระโดดไปโน่นทีไปนี่ที มันก็เลยเห็นตัวเองไม่ชัดเจน ลองเขียนบันทึกลงเป็นอักษรเราก็จะทำให้สิ่งที่ไม่ชัดเจนนั้น กระจ่างแจ้งมากขึ้น “
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “7 วิธีเลิกฝันกลางวัน แล้วผลักดันชีวิต (ตอนแรก)”
.
.
๕ “ เราอาจกลัวไปก่อนว่าเราจะทำไม่ได้หรือจะดีไหม แต่นั่นก็ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ จนกว่าเราจะลงมือทำอย่างถึงที่สุดแล้ว ยิ่งเรามัวแต่ใช้ชีวิตไปกับการคิดมากเท่าใด เราก็ยิ่งขังตัวเองไว้ในความคิดเท่านั้น คนเราก้าวด้วยหัวไม่ได้ ก็ต้องก้าวด้วยขาเท่านั้น คือ มีแต่การลงมือทำที่ช่วยให้เราก้าวหน้า
.
“ ทุกๆ คนต่างมีเมล็ดพันธ์ุในตัวเองที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย แต่เราจะไม่รู้เลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง หากไม่รู้จักริลอง เหมือนกับที่เราเองก็อาจไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในดินจะงอกงามขึ้นมาอย่างไร หากเราไม่รดน้ำลงหล่อเลี้ยง ศักยภาพในตัวเราทุกคนได้รับการหล่อเลี้ยง เมื่อเห็นค่าและนำออกมาใช้
.
“ ความล้มเหลวอาจน่ากลัว แต่การที่ต้องปล่อยให้โอกาสและชีวิตล่วงเลยไปอย่างไม่หวนคืนนั้นน่ากลัวยิ่งกว่า การล้มลงและรู้ว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้จากการลงมือทำ อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้จักตนเอง และได้ฝึกฝน แต่การกลัวหรือคิดเยอะเสียจนไม่ได้ทำ มิได้ทำให้เราเห็นอะไรเลยนอกจากฝันกลางวันของความฟุ้งซ่าน ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “7 วิธีเลิกฝันกลางวัน แล้วผลักดันชีวิต (ตอนที่สอง)”
.
.
๖ “ ไม่มีผีเสื้อตนใดที่บินมาตั้งแต่เกิด การเริ่มต้นย่อมพบเจอความยากลำบาก หนอนผีเสื้อส่วนหนึ่งต้องคืบคลานเกือบนานถึงครึ่งค่อนอายุขัย กว่าจะติดปีกบินได้ อยู่กับความเชื่องช้าและขีดจำกัดในตนเอง จนวันหนึ่งเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น
.
“ ก้าวแรกของความสำเร็จ อยู่ที่เราให้เวลากับช่วงเริ่มต้นอันเชื่องช้าได้มากเท่าใด หากเราเร่งร้อนและหวังผลเกินไป แต่ไม่สามารถทำได้ดังหวัง เฉกเช่นเป็นหนอนผีเสื้อแต่อยากวิ่งเร็วเหมือนตั๊กแตน เราย่อมไม่อาจมีความสุขและเห็นคุณค่าของการเริ่มต้นทำสิ่งใดได้เลย
.
“ หนอนแก้วน้อยให้เวลากับการคืบคลาน เริ่มต้นอย่างเชื่องช้า งุ่นง่าน ดูแสนธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ คนอาจดูแคลน ใครบางคนอาจสงสัย แต่ชีวิตอันธรรมดาจะติดปีกได้ก็ต้องอาศัยความอดทนเช่นนี้
.
“ เพราะหนอนผีเสื้อเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองเป็นและทำ แม้มันอาจไม่เห็นปีกของตนเองในตอนนั้นอย่างชัดเจน มันก็ไม่เคยหยุดที่จะมีชีวิตและเริ่มต้น ปีกของเราแต่ละคนซ่อนอยู่ข้างใน มันต้องมีพื้นที่และเวลาที่จะกางปีกนั้นออกมา ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “5 ข้อคิดการริเริ่มจาก “ผีเสื้อ” (ตอนแรก)”
.
.
๗ “ ตัวตนเก่าๆ คือสิ่งที่เราต้องผละจาก หากปรารถนาการเกิดใหม่ ผีเสื้อไม่อาลัยในความเป็นหนอน เราต้องกล้าที่จะปล่อยวางความเป็นตัวเรา อย่างที่เคยยึดว่าเป็นลงไปเสียบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเราเป็นมากกว่าที่เคยเป็น ซึ่งมันอาจเป็นสิ่งที่ลึกๆ เรามีอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเหลียวมอง เหมือนที่หนอนแก้วไม่เคยเห็นปีกในตัวเองเลย จนกว่าเขาจะหยุดนิ่งลงทบทวน
.
“ เราอาจเชื่อบ้าง หรือไม่เชื่อบ้างว่าเราจะทำได้ เพราะเคยมีแนวความคิดที่นิยามว่าตัวเราเป็นคนอย่างไร สามารถทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ สิ่งเหล่านั้นเป็นกรอบในการใช้ชีวิต แต่มันอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป เราไม่อาจตัดสินชีวิตของหนอนแก้วตัวหนึ่ง เพียงเพราะเราเห็นแต่มันคืบคลาน เช่นเดียวกันเราไม่อาจตัดสินชีวิตตัวเองโดยดูจากอดีตและสิ่งที่เราเชื่อ
.
“ หากเรายึดติดในตัวตนที่เคยเป็นมา เราย่อมพบทางตันในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ทั้งที่เราสามารถทำได้เพียงแค่ยืดหยุ่นและยอมวางการยึดติดลง ทดลองทางออกและการเป็นตัวเองใหม่ๆ เราเป็นมากกว่าที่เราเชื่อเสมอ และไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับบัญญัติที่บอกว่าตัวเราจะต้องเป็นเช่นใดตลอดไป ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “5 ข้อคิดการริเริ่มจาก “ผีเสื้อ” (ตอนสอง)”
.
.
๘ “ ใครชอบใครชัง แสงตะวันไม่เปลี่ยนแปลง : มิว่าคนอื่นจะรักหรือรังเกียจเรา คุณค่าชีวิตที่เรามีนั้นมิเคยเปลี่ยนแปลง ไม่เคยมากขึ้นหรือลดลงเลย เหมือนการทำหน้าที่ของดวงตะวันทุกๆ วัน ย่อมมีบ้างที่คนเราจะตำหนิ หรือชื่นชมยินดีกับแสงสว่างและความร้อนจากบนฟากฟ้า แต่เสียงจากคนเรานั้นก็ไม่เคยส่งผลให้การทำหน้าที่ของตะวันผันแปร แสงสว่างยังคงเท่าเดิม มิได้มืดมนเพราะถ้อยคำหมองมัวนั้น
.
“ การใส่ใจมุมมองและความรู้สึกของคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่บางทีเราให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านั้นเกินกว่าความเป็นจริง จนนำมาบั่นทอนความรู้สึกตนเอง หรือในทางกลับกันก็หลงระเริงจนลืมตัว การที่คนเราจะตำหนิดวงตะวันว่าร้อนเกินไปหรือไม่ยอมปรากฏในเวลาต้องการ ก็เป็นเพียงอคติ ความอยากส่วนตัว และข้อคิดเห็นฉันใด เสียงที่คนอื่นชอบชังแก่ตัวเราก็มิแตกต่างกัน
.
“ คุณค่าชีวิตมิใช่สิ่งที่ผูกพันกับคนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ นอกตัว แต่เป็นดังแสงสว่างที่เรามีอยู่แล้ว ลึกๆ ในตัวเราเอง และรวมทั้งสิ่งที่เราเป็นอย่างที่เป็นจริง การที่เราชี้วัดคุณค่าตนหรือนำเสียงของความรู้สึกคนอื่นมาเป็นตาชั่ง เท่ากับเรามองคุณค่าในตนเองผิดทาง เรามีคุณค่าจากสิ่งที่เราเป็น ทั้งที่เป็นอย่างรู้ตัวและเมล็ดพันธุ์ดีๆ ที่ซ่อนอยู่ มิใช่จากภาพที่คนอื่นอยากให้เราเป็น ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “7 คุณค่าชีวิตดั่ง “ดวงตะวัน” (ตอนแรก)”
.
.
๙ “ เราต่างมีคุณค่าชีวิต ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ แม้ความสามารถที่ตนมีก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน วันหนึ่งก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอย คนที่เรารักก็มีหนทางของชีวิตและลิขิตกรรมต้องดำเนินไปด้วยตนเอง เกิดมาลำพัง ตายจากก็ลำพัง เราไม่อาจฝากคุณค่าไว้ที่ใคร
.
“ เราไม่ได้ดีพอเฉพาะยามที่เราสวยหรือประสบความสำเร็จ เราดีพอแม้ในวันที่น่าเกลียดและล้มเหลว วันที่เราขาดเงินทองและเป็นหนี้สิน หรือใครๆ ทอดทิ้งจากเราไป ไม่เคยมีตราใดประทับหัวใจว่าไร้ค่าเท่ากับความคิดที่เราย้ำแก่ตน
.
“ เราไม่ได้ไม่ดีพอ เมื่อสิ่งร้ายๆ เกิดขึ้น หรือเมื่อวาจาจากใครอื่นทิ่มแทงหัวใจเรา คุณค่าชีวิตไม่เคยสั่นคลอนเพราะสิ่งใดใดในโลกที่ไม่เคยแน่นอนอยู่แล้ว ดวงตะวันไม่เคยหมองเศร้าเพราะเมฆดำหนาทึบ หรือคนบ่นไม่พอใจ
.
“ ชีวิตทุกชีวิตดีพอ เพราะต่างมีคุณค่าในตนเอง มิใช่ต้องดีด้วยเงื่อนไขปัจจัยใด เราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งไม่เข้าใจ ก็มิได้หมายความว่าหนังสือเล่มนั้นไม่มีคุณค่าอยู่เลย เรามองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี เราแค่ต้องใช้เวลาอ่านให้ดี ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “5 ข้อคิด เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนชีวิต #ไม่ต้องเข้าคอร์สหรูก็รู้ได้ (ตอนสอง)”
.
.
๑๐ “ ตัวเราที่เป็นจริงอาจมิได้ดูเลิศเลอหรือสมบูรณ์ เหมือนไส้ดินสอจากถ่านที่แสนจะแตกหักง่าย ทว่าเมื่อใดที่เรายอมรับสิ่งที่เราเป็นอย่างแท้จริง เราจึงสามารถใช้สิ่งที่มีนี้ให้เกิดประโยชน์ อย่างมั่นคงและพิเศษในแบบของเราเอง
.
“ คนทั่วไปมักแสวงหาสิ่งนอกตัวและความพิเศษที่ไกลห่าง จนวันหนึ่งก็รู้สึกว่าตัวเองไม่รู้จักตัวเองเลย เป็นเหมือนดินสอที่ลืมไส้ตัวเอง แต่พยายามเอาดีอย่างปากกาและอุปกรณ์อื่น วิ่งไล่ไขว่คว้าเพื่อเติมเต็มตัวเอง เพราะขาดการยอมรับว่าเรามีคุณค่าอยู่แล้วที่ไส้ข้างใน
.
“ เพราะขาดการเห็นคุณค่าในตัวเอง จึงมองว่าไส้ดินสอที่เรามีนี้ มันธรรมดาเกินไปและไม่ดีเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่คนอื่นมี เราจะมีความสุขอย่างแท้จริงได้อย่างไรเมื่อต้องพยายามเป็นคนอื่น ใช้ชีวิตแบบลืมว่าเราเป็นคนอย่างไรกันแน่
.
“ ไส้ดินสอนั้นแสนธรรมดา แต่ความธรรมดานี้ก็สามารถประยุกต์พลิกแพลง สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ได้เกินคณานับบนหน้ากระดาษ เมื่อเห็นคุณค่าของศักยภาพที่เรามีอยู่ เราย่อมลิขิตหน้ากระดาษชีวิตพลิกแพลงหนทางได้ไม่สิ้นสุด ”
.
จากคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอน “3 แรงบันดาลใจจาก ดินสอ”
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
.
ยังมีข้อคิดและตอนอื่นที่ไม่หยิบยกข้อความมาอีกมากในคอลัมน์ “ไกด์โลกจิต” ประจำปี ๒๕๖๐ ผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ ดังนี้ : www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
ติดตามการอบรมโดยผู้เขียน ในหลักสูตร “เขียนค้นตน” การเขียนเชิงจิตวิทยาเพื่อการรู้จักตนเองอย่างหลากหลายด้าน หนึ่งในชุดหลักสูตร #เขียนเปลี่ยนชีวิต
www.dhammaliterary.org/เขียนค้นตน/