โฮโอโปโนโปโน

 

 

 

“สี่คำนี้ทรงพลังในการรักษา

I love you ฉันรักคุณ
I am sorry ฉันขอโทษ
Please forgive me โปรดให้อภัยฉัน
Thank you ขอบคุณ

 

“โรเบิร์ต ดิว คิดค้น จากการสังเกตการทำงานนายแพทย์สแตนลี่ ฮิว ในหนังสือของ โจว วิทาลี ในโรงพยาบาล จากหนังสือ “zero limit” Forgiveness love your problem
.
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำรัฐฮาวาย ซึ่งในโรงพยาบาลแห่งนี้มีแผนกจิตเวชที่รักษานักโทษโรคจิตขั้นร้ายแรงอยู่ คนไข้ที่มารักษาที่นี่มีประวัติที่สุดแสนอุกฉกรรจ์ มีทั้ง ฆาตรกรโรคจิต ฆาตรกรฆ่าข่มขืน ลักพาตัวฯลฯ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นนักโทษซึ่งถูกส่งตัวมารักษา บ้างก็ก่อนได้รับการพิจารณาโทษหรือในบางรายก็ถูกส่งตัวมาดูอาการว่าสามารถส่งพิจารณาความผิดได้หรือไม่
.
“เป็นที่เล่าขานกันว่าสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปในแผนกนั้นทรุดโทรมย่ำแย่เหลือทน ผนังเก่าๆ สภาพห้องที่เหม็นอับ จนแพทย์พยาบาลทั้งหลายต่างไม่อยากที่จะแวะเวียนไปย่ำกรายที่แผนกนี้ พนักงานประจำต่างพากันลาป่วยเป็นว่าเล่น ประกอบกับความหวาดกลัวการถูกทำร้ายจากบรรดานักโทษทั้งหลายที่ได้ชื่อว่ามักจะทำร้ายนักโทษด้วยกันหรือแม้แต่ผู้คุมไม่เว้นแต่ละวัน แม้คนไข้เหล่านั้นจะมีโซ่ล่ามอยู่ด้วยก็ตาม นักโทษเหล่านั้นไม่เคยได้ถูกพาออกไปสูดอากาศนอกตึกเลยสักครั้งเพราะเกรงว่าจะก่อเรื่องต่างๆ นานาขึ้นอีก
.
“วันหนึ่งมีจิตแพทย์คลินิคคนใหม่ย้ายไปประจำที่นั่น ชื่อ ดร. สแตนลี่ ฮิว เลน เหล่านางพยาบาลประจำที่อยู่มานานต่างพากันมองจิตแพทย์หนุ่มด้วยสายตาเย้ยหยันและคิดตามประสาว่ายังไงเขาคนนี้ก็คงไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่คงจะนำเอาทฤษฎีต่างๆ ที่เคยเรียนมาเอามาลองใช้ดู หากไม่สำเร็จอีกไม่นานก็คร้านจะขอย้ายไปที่อื่นเหมือนทุกคนที่ผ่านเข้ามา…
.
“แต่ทว่าจิตแพทย์คนนี้ไม่ได้ทำอย่างที่ใครต่อใครคาดเอาไว้ จริงๆ แล้วเขาดูเหมือนจะไม่ทำอะไรอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเลย นอกจากมาทำงานตามปกติและยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างเป็นธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา บางครั้งบางคราเขาก็จะขอประวัติคนไข้มาอ่าน เขาไม่เคยให้การรักษาคนไข้โดยการพูดคุยทำความรู้จักคนไข้เลย
.
“และแล้วสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย มีการทาสีผนังห้องให้ดูน่าอยู่ขึ้น มีการทำสวนหน้าตึกให้น่าดูขึ้น สนามเทนนิสถูกซ่อมให้ใช้การได้ และที่แปลกไปกว่านั้น นักโทษบางคนที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยแม้แต่จะได้ออกไปสูดอากาศข้างนอกตึกก็ออกมาเล่นเทนนิสกับผู้คุมได้ นักโทษที่ได้รับยากล่อมประสาทก็มีอาการดีขึ้นจนไม่ต้องใช้ยาควบคุม คนไข้หลายต่อหลายคนได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกตึกโดยที่ไม่ต้องใช้โซ่ล่ามเหมือนเคย และอัตราการทำร้ายกันของนักโทษและการทำร้ายผู้คุมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในที่สุดสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลแห่งนั้นก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง พนักงานในโรงพยาบาลตั้งใจมาทำงานโดยไม่ขอลาป่วยโดยไม่จำเป็น มีคนอยากทำงานที่นั่นมากขึ้นเรื่อยๆ นักโทษถูกปล่อยตัวกลับเรือนจำ ในที่สุดแผนกจิตเวชนักโทษของโรงพยาบาลต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีคนไข้เหลืออยู่อีก
.
“ดร. สแตนลี่ ฮิว เลน ใช้เวลา 4 ปีในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สงสัยใช่ไหมล่ะว่าเขาทำอย่างไรจึงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อย่างนั้นได้ ในหนังสือ Zero Limit, The secret of Hawaiian System for Wealth, Health, Peace and more ของ Joe Vitale กล่าวถึงเทคนิคที่ ดร. ฮิว เลนใช้ ว่าเป็นสูตรลับโบราณในการสร้างชีวิตที่เป็นสุขของชาวฮาวายที่เรียกว่า “Ho’oponopono” “โฮโอโปโนโปโน”
.
“ดร. ฮิว เลน บอกว่าสิ่งที่เขาทำในตอนนั้นคือการดูประวัติของคนไข้ พยายามรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่คนไข้เหล่านั้นเผชิญเมื่อเรามองเขาเป็นคนวิกลจริต เมื่อโลกมองเขาว่าเป็นคนวิกลจริต ยิ่งใส่ใจกับความต่างที่เขามี ก็เหมือนกับว่าเราอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเรื่อยไป เพราะ ดร. ฮิว เลนเชื่อว่าการที่คนไข้เหล่านั้นมีอาการย่ำแย่ลงเพราะเราคิดว่าเขาเป็นอย่างนั้น ดร. ฮิว เลนจึงเปลี่ยนแนวการรักษาแบบใหม่ แทนที่จะรักษาคนไข้แบบตัวต่อตัวเขาเลือกที่จะรักษาตัวเขาเอง ให้เขารู้สึกถึงความเจ็บปวด พยายามเข้าใจในสิ่งที่คนไข้กำลังเผชิญ และเริ่มเปลี่ยนการมองในความต่างระหว่างเรากับคนไข้เหล่านั้น ลองมองว่าเขาปกติเหมือนเราๆ ให้ความรักกับคนไข้เหล่านั้น
.
” “โฮโอโปโนโปโน” เกิดขึ้นจากหลักความเชื่อที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ สืบเนื่องมาจากความคิดของเรา การมองสิ่งแวดล้อมของเราเอง และเป็นความรับผิดชอบของเรา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หากการที่คนไข้เหล่านั้นไม่ชอบเราและจะทำร้ายเรานั่นก็เป็นเพราะเราไม่ได้รักเขาก่อน อาการของคนไข้ไม่ดีขึ้น ก็เพราะตัวเราเองที่ไปมองว่าเขาไร้สติ เพราะเราไม่ได้มองเขาในทางที่ดีขึ้น”
.
(ปริม ทัดบุปผา , https://www.gotoknow.org/posts/400733)
.
.
โฮโอโปโนโปโน (ho‘oponopono) เป็นแนวทางปฏิบัติและคติของการสร้างความปรองดองและการให้อภัยของชาวฮาวาย โดยคำๆ นี้มาจากสองคำรวมกัน คือ ho‘o แปลว่า เพื่อให้หรือทำให้ และ pono ถูกต้อง ho‘oponopono โดยคำจึงหมายถึงทำให้ถูกต้องเป็นเท่าตัว มิใช่เพื่อสำหรับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่เพื่อทั้งสองฝ่าย คือการดำรงอยู่อย่างเหมาะสมในความเป็นเราและเป็นเขา เป็นกระบวนการที่เราให้อภัยต่อผู้อื่นที่เราเชื่อมโยงกัน (แม้ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน) และเปิดใจกว้างตนเองเป็นผู้ยอมรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น (แม้ต่อผู้ที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน)
.
ผมได้รับฟังมาว่า ขณะที่ ดร.ฮิว เลน กำลังอ่านประวัติคนไข้ นอกจากเขาพยามซึมซับความทุกช์ของอีกฝ่าย แม้ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน เขายังเอ่ยถ้อยคำแห่งการเยียวยาทั้งสี่ในใจตลอดว่า…
.
I love you ฉันรักคุณ
I am sorry ฉันขอโทษ
Please forgive me โปรดให้อภัยฉัน
Thank you ขอบคุณ
.
ดร.ฮิวจึงได้เริ่มเยียวยาอีกฝ่ายแล้ว แม้ยังไม่ได้เจอกันเลย ด้วยการเยียวยาตนเองและเปิดใจตนเองให้กว้างก่อน ส่งผ่านถ้อยคำแห่งรักเป็นพลังผ่านตนเองในฐานะผู้เป็นส่วนหนึ่งของบาดแผลของโลกใบนี้ โดยมิได้จำกัดความเป็นตัวเขาตัวเราแปลกแยกจากกัน
.
หลักสำคัญจากการตีความของผมโดยดูจากลักษณะของคำที่ใช้ในกระบวนการโฮโอโปโนโปโนคือ การแสดงความเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบอย่างเต็มเปี่ยมกับทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น โดยยอมรับปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้น และพยายามเชื่อมโยงดวงจิตของตนเองกับผู้อื่นและเบื้องบน เพื่อรวมจิตกับความเป็นหนึ่งที่กว้างกว่าปัจเจกชน
.
บาดแผลของเราเป็นส่วนหนึ่งของบาดแผลโลก บาดแผลของคนอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมของเขามีปัญหา ก็เป็นส่วนหนึ่งกับบาดแผลที่เรามี การกลับมาเยียวยาตนเอง ให้ความรักผ่านถ้อยคำบริกรรมในใจ การขอบคุณ และการขอให้อภัยต่ออีกฝ่าย แม้ไม่เคยรู้จักกันก่อน จึงเป็นการฝึกละวางอัตตาตัวตนของตนเอง และเปิดโอกาสให้เราได้เยียวยาเขาผ่านบาดแผลในใจเรา และสายใยสัมพันธ์ของจิตใต้สำนึกที่ลึกกว่าสำนึกความเป็นตัวตน
.
เราจะสังเกตได้ว่าข้อความที่ใช้ในกระบวนการโฮโอโปโนโปโน รวมทั้งคำแห่งการเยียวยาทั้งสี่ข้างต้น ไม่ได้มีข้อความว่า “ฉันขอให้อภัยแก่เธอ” อยู่เลย มีแต่ “โปรดให้อภัยฉัน” เพราะโฮโอโปโนโปโนมุ่งเน้นให้เราแสดงความรับผิดชอบร่วมต่อปัญหาและความทุกข์ยากที่มีในความสัมพันธ์และในสังคม โดยมิแบ่งแยกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเขาหรือเธอ เพราะการบอกว่าฉันให้อภัยแก่เธอนั้น เท่ากับเรากำลังบอกว่าเธอคือคนที่ผิด ฉันคือคนที่ถูกที่จะต้องให้อภัยแก่เธอ แต่จริงๆ แล้วเราต่างก็ผิดด้วยกันทั้งสอง ท่าทีของฉันและด้านมืดที่ฉันมีต่างก็เป็นปัจจัยทำให้เธอผิดพลาดและเป็นเช่นนี้ด้วยเช่นกัน
.
ตามหลักพุทธศาสนานั้น การให้อภัยหรืออภัยทาน จริงๆ แล้วคือการสละของผู้ให้อภัยเอง สละซึ่งอารมณ์โกรธเป็นทาน ไม่จองเวร ละวางจากพยาบาท และมุ่งพัฒนาเมตตาจิต
.
ในแง่หนึ่งกระบวนการโฮโอโปโนโปโนก็มีความคล้ายของเมตตาภาวนา การแผ่เมตตาจิต และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ซึ่งปกติกิจวัตรของชาวพุทธอยู่แล้ว เป็นการกระทำที่ยังผลให้เกิดการบ่มเพาะจิตใจลดละความเห็นแก่ตน เป็นการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิถีแห่งสันติ เป็นการตั้งจิตแผ่พลังงานแห่งความดี ความงาม และความจริง เพื่อเกื้อกูลต่อดวงจิตทั้งหลายในจักรวาล
.
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนให้ภิกษุน้อยใหญ่ มีท่าทีต่ออีกฝ่ายด้วยการแผ่เมตตาจิตอยู่เสมอ มิว่าท่าทีของอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไรก็ตาม การแผ่เมตตาจิตของเราจักช่วยลดทอนความทุกข์และปัญญาน้อยใหญ่ให้น้อยลงได้
.
ครั้งหนึ่ง “โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า พระคุณเจ้าอานนท์ พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าใหญ่โต พวกญาติต่างหากได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ ข้าพเจ้านั้นแลได้ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเช่นนี้ เพราะกลัวพวกญาติปรับสินไหม.
.
“ทันใดท่านพระอานนท์แสดงความไม่พอใจว่า ไฉน โรชะมัลลกษัตริย์จึงได้ตรัสอย่างนี้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นี้ เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ของคนที่มีผู้รู้จักมากเช่นนี้มีอิทธิพลมากนัก (หากทำให้กษัตริย์ผู้นี้เลื่อมใสได้ก็จะเป็นผลทำให้เกิดศรัทธาต่อผู้คนอีกมากมาย) ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์ทรงกรุณาโปรดบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า
.
“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ การที่จะบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้นั้น ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย
.
“ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตริย์ แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ อันพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคถูกต้องแล้ว ได้เที่ยวค้นหาตามวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง ดุจโคแม่ลูกอ่อน แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าท่านเจ้าข้า เวลานี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน เพราะข้าพเจ้าใคร่จะเฝ้าพระองค์
.
“ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า ท่านโรชะ พระวิหารนั่นเขาปิดพระทวารเสียแล้ว ขอท่านโปรดสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้ว ทรงเคาะพระทวารเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดพระทวารรับท่าน” (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ [๘๘] )
.
เพียงพระพุทธเจ้าทรงเจริญเมตตาจิตและสำรวมกริยาตนเท่านั้นแล้ว ท่านก็ได้ทรงเยียวยาจิตใจของผู้อีกฝ่ายหนึ่งแล้ว เป็นผลให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องเที่ยวเทียวตามหาพระองค์ โดยท่านมิต้องทรงออกไปหากษัตริย์เองเลย
.
.
ตัวอย่างถ้อยคำที่ใช้ในกระบวนการโฮโอโปโนโปโน
.
” ฉันรักเธอ เพราะฉันรู้ว่าฉันคือส่วนหนึ่งของเบื้องบนผู้สูงส่ง
” ฉันขอโทษที่ได้ร่วมสร้างปัญหานี้ขึ้นมา ฉันคือผู้รับผิดชอบอย่างเต็มเปี่ยมต่อเธอ
” เธอโปรดอภัยให้ฉันด้วย ฉันกำลังร้องขอการอภัยให้ตัวเองเพื่อปลดปล่อยสิ่งนี้ออกไป
” ขอบคุณ สำหรับปัญหาเหล่านี้ ที่ได้แสดงตัวตนออกมา ให้ฉันได้มีโอกาสชำระล้างตัวเอง
” ขอบคุณ สำหรับเธอที่อยู่ตรงนั้น ที่ทำให้ฉันได้ยอมรับและเข้าใจตนเอง ”
.
อีกตัวอย่างหนึ่ง
.
” ฉันขอนำทางชีวิตและความสัมพันธ์ของฉัน ด้วยความตระหนักรู้ ดังนี้
” ความคิดของฉันส่งผลให้เกิดโลกทางกายภาพ
” หากความคิดของฉันเป็นมะเร็งร้าย ฉันได้ก่อมะเร็งร้ายให้แก่โลกใบนี้
” หากความคิดของฉันดีพร้อม ความดีพร้อมได้ก่อกำเนิดบนโลกใบนี้
” ฉันขอรับผิดชอบอย่างเต็มเปี่ยมต่อโลกภายนอกที่ก่อเกิดมาจากตัวฉัน
” ฉันขอรับผิดชอบอย่างเต็มเปี่ยมต่อความคิดมะเร็งร้ายของฉันที่ร่วมก่อความจริงอันเลวร้ายขึ้นมา
” โลกภายนอกตัวที่ฉันรับรู้ล้วนเป็นภาพสะท้อนโลกภายในของฉันเอง ฉันขอโทษ โปรดให้อภัยแก่ฉันด้วย ฉันขอบคุณ และยอมรับในสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ”
.
ลองอ่านหรือระลึกถึงชื่อหรือใบหน้าของคนที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ อาจเป็นคนที่เราเพิ่งรู้จักกัน เป็นคนในครอบครัว หรือคนที่เคยมีความขัดแย้งต่อกัน ลองกล่าวถ้อยคำแห่งการเยียวยาทั้งสี่ และแสดงความรับผิดชอบต่อบาดแผลของโลกนี้ในใจ ด้วยสมาธิและเมตตาจิต ทำเช่นนี้อยู่เนืองๆ จนหัวใจเราเปิดกว้างและปลดปล่อยตนจากความกลัวต่างๆ เมื่อนั้นเราจะเห็นผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์ใจ
.
เมื่อกลับมาบอกรัก ขอโทษ ขอบคุณ และยอมรับแก่ตนเอง และพวกเขาในเรานี้ เรากำลังเยียวยาตนเองและช่วยเหลือพวกเขากับโลกใบนี้แล้ว
.
เมื่อมีใครกล่าวว่าร้ายเรา ทำให้เราไม่พอใจ ทำให้เราเป็นทุกข์ใจ ก็ลองใช้ถ้อยคำแห่งการเยียวยาเหล่านี้ บอกหัวใจเราเองในใจแม้อีกฝ่ายไม่ได้ยิน…ฉันรักเธอ ฉันขอโทษเธอ ให้อภัยฉันด้วย ฉันยอมรับและรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้… บริกรรมไว้ให้ใจยึดเป็นอารมณ์ อย่าปล่อยให้ความกลัว ความโกรธ และความหลง เป็นอารมณ์ครอบงำชักนำหัวใจเราจนหลงลืมความเป็นหนึ่งเดียวของเราอันแท้จริง

 

อนุรักษ์ ครูโอเล่
.
คอลัมน์ “ไกด์โลกจิต” (ตอนพิเศษ)
.
ปล. น่าสนใจที่เมื่อผู้เขียนเขียนร่างแรกบทความนี้เสร็จแล้ว (ระหว่างเขียนก็บริกรรมคำเยียวยาทั้งสี่เป็นบางช่วง) ก็มีสัญญาณความคลี่คลายของปัญหากับผู้เรียนบางคนที่สอนอยู่ในทันที พอจบเรื่องหนึ่งก็มีเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาก็บริกรรมต่อในใจพลางขณะแก้เกลาบทความนี้ ปัญหาใหม่ก็จบลงได้โดยมิต้องทำอะไร

 

 

[ หนังสือต้นทาง ]
https://www.amazon.com/Zero-Limits-Secret-Hawaiian-System/dp/0470402563
.
[ สถาบันธรรมวรรณศิลป์ ]
www.dhammaliterary.org