8 หนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม “อริยมรรค” (ตอนสอง)

 

8 หนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม

“อริยมรรค” (ตอนที่สอง : วิธีคิดแบบพุทธะ ภาค1)

 

การก้าวไปสู่จุดหมายใดๆ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม มิอาจเลี่ยงการฝึกความคิดของตนเอง จะประสบความสำเร็จด้านค้าขายหรือทางธุรกิจ ต้องฝึกวิธีคิดอย่างนักบริหารหรือวาณิชที่ช่ำชอง จะประสบความสำเร็จในทางธรรมหรือทางจิตวิญญาณ ต้องฝึกวิธีคิดอย่างพระพุทธเจ้าและบรมศาสดาของโลกนี้

เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนกายจิต ไม่ใช่เพียงแค่ดึงดูดแต่ยังผลักดันให้เวียนว่ายในวังวนซึ่งเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดที่วกวนของเราเอง คิดอย่างไรย่อมเป็นอย่างนั้น เพราะวิถีชีวิตกำหนดเริ่มที่วิธีคิด

จะผ่านพ้นความล้มเหลวไปสู่ความสำเร็จก็ต้องปรับวิธีคิดที่ล้มเหลวให้เป็นวิธีคิดที่สำเร็จ จะผ่านพ้นความทุกข์ระทมก็ต้องปรับวิธีคิดที่เคยพาทุกข์ทน เปลี่ยนเป็นวิธีคิดที่พ้นทุกข์สิ้นเชิง

เราจะเรียนการคิดที่เหมาะสมมากเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตถึงที่สุดแห่งการพัฒนาจากใคร หากไม่เรียนรู้จากผู้ที่ถึงที่สุดแห่งการพัฒนาตนเองแล้ว

บทความนี้คือหลักธรรมที่สอนให้เป็นนายเหนือความคิด ดำริเพื่อหลุดพ้น ไตร่ตรองอย่างแยบยล ขจัดทุกข์ทนในชาตินี้ เรียนรู้จากวิธีคิดแบบพระพุทธเจ้า

การฝึกคิดเพื่อการพ้นทุกข์ทำได้จริง เพียงก้าวตามรอย “อริยมรรค” ของพุทธะ แปดหนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม

 

.
อ่านบทความตอนก่อนหน้า หัวข้อ “สัมมาทิฏฐิ : ดวงตาแห่งพุทธะ”
ทางลิงก์ดังนี้ youngawakening.org/write4life/สัมมาทิฏฐิ/

 

.
.
#วิธีคิดแบบพุทธะ
#ดำริเพื่ออิสระและถูกต้อง #สัมมาสังกัปปะ #ภาคแรก

 

.
.
หากชีวิตคือหนังสือวรรณกรรม อุปกรณ์การเขียนที่ปรุงแต่งเรื่องราวของแต่ละคนขึ้นมาตั้งแต่ต้นจนจบมีอยู่ 3 ประการคือ “กายสังขาร” , “วจีสังขาร” และ “จิตตสังขาร”

กายสังขาร คือการปรุงแต่งทางกาย หรือปรุงแต่งให้เกิดกาย เปรียบเหมือนกระดาษ เส้นด้าย และอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์รูปเล่มหนังสือขึ้นมา

วจีสังขาร คือการปรุงแต่งทางวาจา หรือปรุงแต่งให้เกิดวาจา เปรียบเหมือนปากกาหรือเครื่องพิมพ์ตัวอักษรลงในหนังสือ

จิตตสังขาร คือการปรุงแต่งทางใจ หรือปรุงแต่งให้เกิดใจ เปรียบเหมือนการสร้างมูลค่าและการให้ความหมายแก่หนังสือเล่มนั้น

หนังสือเล่มนี้จะออกมาดีหรือไม่ อยู่ที่สำนักพิมพ์เป็นสำคัญ ซึ่งมีอยู่สองจำพวกคือ “วิชชา” กับ “อวิชชา”

ถ้าเป็นสำนักพิมพ์แห่งวิชชา ซึ่งมีบรรณาธิการคือ “สติปัญญา” ย่อมผลิตหนังสือที่มิว่ารูปเล่ม ถ้อยคำที่เรียบเรียง และความหมายของหนังสือเล่มนั้นล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ เป็นความสุข แก่ผู้อ่านและผู้เขียน

แต่หากเป็นสำนักพิมพ์แห่งอวิชชา ซึ่งมีบรรณาธิการคือ “อาสวะกิเลส” มิว่ารูปเล่มหนังสือ ถ้อยคำที่เรียบเรียง และความหมายของหนังสือเล่มนั้นย่อมเป็นโทษ เป็นความทุกข์ แก่ผู้อ่านและผู้เขียน

เพราะหนังสือใดๆ เมื่อผลิตแล้วก็ย่อมนำไปสู่การเผยแพร่เป็นที่รับรู้ ก่อนตกลงสู่สายตาของผู้อ่าน เปรียบได้กับ “วิญญาณ” , “นามรูป” , “อายตนะ” และ “ผัสสะ” ซึ่งมี “สังขาร” ทั้งสามเป็นบ่อเกิดตามข้างต้น

เมื่อหนังสือเล่มนี้ผลิตออกมาไม่ดี ความไม่ดีนั้นก็ถูกส่งต่อออกไป เผยแพร่ออกไปสู่กายจิตผู้อ่าน หมึกพิมพ์เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ความเลอะนั้นก็ติดไปยังกายผู้รับหนังสือ เนื้อความเลอะเทอะไร้ประโยชน์ ย่อมนำไปสู่ความเลอะของจิตใจผู้รับสาส์น

หนังสือเลวร้าย ผู้อ่านก็รู้สึกไม่ชอบ (เวทนา) อยากโยนทิ้ง อยากทำลาย อยากพักอ่าน หรืออยากอ่านอย่างอื่นแทน (ตัณหา) ใจนึกไม่ชอบเล่มที่เพิ่งอ่านหรือพาลไม่ชอบหนังสือกับผู้เขียนไปเลย เกิดความคิดตีตราตีความ สมมติยึดถือ (อุปาทาน)

เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว หนังสือเล่มที่ว่าก็ย่อมถูกส่งไปอยู่ที่ๆ เหมาะสมแก่คุณค่าของมันในสายตาของผู้รับมา อาจจะถูกเก็บลืมไว้ในตู้ ใต้ชั้น กองขยะ หรือใส่กล่องบริจาคออกไป เป็นที่ๆ คู่ควรกับสภาพของมัน (ภพ) หนังสือเล่มนี้ก็ได้กลายเป็นหนังสือที่ถูกทิ้งขว้าง ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพนั้นๆ (ชาติ) รอวันเสื่อมโทรม จนพุงพังเป็นขยะในที่สุด จนไม่เหลือความเป็นหนังสืออีกแล้ว (ชรา มรณะ)

ชีวิตของตัวเราเองกำลังเดินทางดั่งหนังสือที่กำลังถูกทิ้งขว้าง หรือจะเป็นดังหนังสือที่เขาจะเลือกเก็บไว้อย่างดี…

เราต้องทบทวนตนเองจากสิ่งที่เป็นอยู่ย้อนไปจนถึง “สังขาร”คือการปรุงแต่งที่ส่งผลต่อชีวิตทั้งกาย วาจา และใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ “ความคิด” ซึ่งเปรียบได้กับนักเขียนแห่งชีวิต

แล้วย้อนกลับไปพิจารณาว่า หนังสือแห่งชีวิตเล่มนี้ กำลังตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใด ใช่สำนักที่ชื่อ “อวิชชา” ที่มีบรรณาธิการคือ อาสวะกิเลส หรือไม่…

หนังสือเล่มใดๆ แม้ผ่านการตีพิมพ์ในบัญชาของสำนักพิมพ์ที่มัวหมองด้อยคุณภาพมาก่อน แต่หากผู้เขียนของเรื่องราวนั้นเกิดความตื่นรู้ มีความเห็นแจ้ง เปลี่ยนแปลงตนเอง หรือได้ตระหนักว่าที่ผ่านมาหนังสือเล่มนี้ล้มเหลวผิดพลาดอย่างไร ย่อมยกเลิกสัญญาอันมืดมน แก้ไขขัดเกลาแล้วยื่นตีพิมพ์ครั้งใหม่ในที่ๆ ดีกว่า ชื่อว่า “วิชชา” คือความเห็นแจ้ง มีบรรณาธิการคือ สติปัญญา

เป็นชีวิตที่เหมือนดวงจันทร์ผ่านพ้นออกจากเมฆหมองแล้วสว่างสกาว

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือการย้อนทบทวนเนื้อหาในบทความตอนก่อนอีกครั้งในเชิงอุปมา โดยทั้งการปรุงแต่งทางกาย วาจา และใจ สติปัญญา อวิชชา อาสวะกิเลส ฯ การเปรียบเทียบเล่าให้เห็นเป็นลำดับ กับการฉุกนึกทบทวนตนเองของผู้อ่าน ล้วนเป็นการหยิบยกส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “วิธีคิด”

วิธีคิด หรือ Mindset คือ กรอบความคิด กระบวนการทางความคิด วิถีทางแห่งการคิด และรูปแบบที่ประกอบกันเป็นการคิด ซึ่งจะนำไปสู่การกระทำหรือการใช้ชีวิตตามลักษณะวิธีคิดนั้น

วิธีคิด ไม่ใช่แค่ …ฉันคิดอะไร… แต่ยังรวมถึง …ฉันคิดอย่างไร …เพราะอะไรฉันจึงคิดแบบนี้ …ฉันคิดแบบนี้แล้วส่งผลอย่างไร ฯ เป็นเส้นสายกระบวนการแห่งความคิดที่ร้อยเรียงอย่างต่อเนื่อง

Mindset ไม่ใช่แค่เรื่องในหัว แต่ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปรุงแต่งทางจิตใจ ตั้งแต่การรับรู้ ความจำมั่นหมาย กาย วาจา และใจ รวมทั้งความเชื่อ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดทั้งสิ้น

ทัศนคติ หรือมุมมองความเชื่อ (ทิฏฐิ) เป็นตัวเหนี่ยวนำสำคัญ เป็นเหมือนธงของ Mindset ทำให้เกิดความนึกคิดต่างๆ จากสิ่งที่เข้ามากระทบผ่านการรับรู้ แล้วนำไปสู่การกระทำทางกาย วาจา และใจ เรียกว่า “กรรม” ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของทัศนคติที่เรามี

วิธีคิดอาจนำไปสู่ความ “โลภ โกรธ หลง” (โลภะ โทสะ โมหะ) ซึ่งพาให้ใช้ชีวิตผิดพลาดจนเป็นทุกข์ หรืออาจนำไปสู่ สติปัญญา จนเป็นเหตุให้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องและเป็นสุขก็ได้

อยู่ที่ว่าเรามีวิธีคิดที่ถูกต้องหรือไม่ และมีมุมมองความเชื่อที่เหมาะสมต่อชีวิตมากเพียงใด…

“อริยมรรค” หรือเส้นทางเดินแห่งความเจริญงอกงาม ตามหลักธรรมในพุทธศาสนา จึงขึ้นต้นสองข้อแรกได้แก่ “สัมมาทิฏฐิ” และ “สัมมาสังกัปปะ”

สัมมาทิฏฐิ คือมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสมในการใช้ชีวิต เข้าใจแจ่มแจ้งว่าชีวิตคืออะไรและมีความเป็นอย่างไรโดยแท้จริง เปรียบได้ดั่ง “ดวงตาแห่งพุทธะ” คือการมองชีวิตอย่างตื่นรู้ มองโลกด้วยสายตาอย่างพระพุทธเจ้า

ผู้ที่สนใจเรื่องนี้โปรดอ่านในบทความ “สัมมาทิฏฐิ : ดวงตาแห่งพุทธะ” ตามลิงก์ข้างต้น

สัมมาสัมกัปปะ คือการ “ดำริ” ที่ถูกต้องเหมาะสมฯ คำว่า ดำริ หมายถึงการคิด ชุดความคิด การไตร่ตรอง ความตั้งใจ และกระบวนการของการคิดที่มีจุดมุ่งหมาย ซึ่งมักจะนำไปสู่การกระทำหรือข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง

บทความนี้จึงจะใช้คำว่า “วิธีคิด” ในการอธิบายประกอบคำว่า ดำริ เพื่อให้ครอบคลุมมิติต่างๆ ของ สัมมาสังกัปปะ มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

บทความตอนที่แล้ว ได้เปรียบเปรยการใช้ชีวิตเป็นเสมือนการขับรถเดินเรือ การมีมุมมองความเชื่อที่ถูกต้อง หรือ สัมมาทิฏฐิ ก็เหมือนการมี “วิสัยทัศน์” ในการขับขี่หรือเดินเรือที่เหมาะสม

พาหนะจะแล่นถึงจุดหมายปลายทางด้วยความสวัสดีหรือไม่ อยู่ที่วิธีการขับขี่และการมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องเป็นอันดับแรกๆ หากไม่สามารถมองเส้นทางเพราะมีหมอกควันหนาหรืออุปสรรคใดก็ตาม ย่อมประสบอุบัติเหตุได้ง่าย หรือหลงทางเสียก่อนจะถึงจุดหมาย

หากสามารถมองเห็นเส้นทางด้วยดี แต่ไม่รู้วิธีการขับที่ถูกต้องเหมาะควร ขาดความชำนิชำนาญ คนขับไม่พร้อม ขับอย่างไม่ใส่ใจ ขับด้วยความประมาทหวาดเสียว ฯ ย่อมยากจะถึงจุดหมาย อาจจะพลิกคว่ำเสียก่อนกลางทาง

ชีวิตคนก็ขับเคลื่อนไปด้วยอำนาจการปรุงแต่งจากความคิด เป็นเหมือนพลขับสารถีที่พาชีวิตโลดแล่นตามที่เขากำหนด ชะตากรรมของผู้โดยสารฝากไว้ในมือผู้ขับขี่ ฉันใด ชะตากรรมของเราก็ฝากไว้ในกำมือของการดำริ ฉันนั้น

“สัมมาสังกัปปะ” คือการดำริหรือวิธีคิดที่น้อมนำกาย วาจา และใจไปสู่ความถูกต้องเหมาะสม เพื่อใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นทุกข์ และพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดที่เกิดมา

เป็นการคิดอย่างผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในธรรม เฉกเช่นพระพุทธเจ้าและบรมศาสดาของโลก

ชีวิตจะดำเนินไปสู่หนทางใด อยู่ที่ว่าเราเห็นชีวิตอย่างไร แล้วดำริอย่างไรในการใช้ชีวิต…

การเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิด จึงเป็นการเปลี่ยนชีวิต หากรู้จักมุมมองและวิธีคิดที่คนๆ หนึ่งใช้ ก็เท่ากับรู้จักทั้งชีวิตของเขาก็ว่าได้

คิด เป็นคำที่กว้างและใช้ในความหมายหลากหลาย บางครั้งเราใช้คำว่าคิด ในความหมายว่า “ฟุ้งซ่าน” บางครั้งก็ใช้ในความหมาย “ใคร่ครวญ” หรือ “พิจารณา” บ้างก็หมายถึง “ตีความ” บ้างก็สื่อว่า “วิตกกังวล”, “คาดคะเน” , “ระลึกนึกถึง” หรือ “จินตนาการ” ฯ

ที่กล่าวกันว่าห้ามคิด ละวางความคิด หรือไม่คิดเลย จริงๆ แล้วมักจะหมายถึง ห้ามฟุ้งซ่าน ปล่อยวางความกังวล หรือไม่ฟุ้งซ่านใจลอย ที่เป็นไปตามกิเลสอย่างโง่เขลา

แต่มิได้หมายความว่า ไม่มีการไตร่ตรอง ไม่มีการกำหนดรู้พิจารณา ปราศจากการตีความ หรือว่างจากการปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของการคิดด้วยเช่นกัน

การคิด คือ สังขาร เป็นการปรุงแต่งของนามธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวเนื่องกันกับจิต เรียกว่า “เจตสิก” ส่งผลหนุนเนื่องตามเหตุปัจจัย แทรกอยู่ในกิริยาการกระทำต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา

คำว่า คิดปรุงแต่ง คนไทยอาจรู้สึกว่าเป็นคำตำหนิ เป็นสิ่งที่แย่ เป็นเรื่องที่ต้องขจัด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น การคิดปรุงแต่งหมายถึง คิดจากปัจจัยที่มากระทบ หรือการคิดที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย หรือการคิดที่ปรุงแต่งให้นามธรรมต่างๆ ตามมา

ในการกระทำต่างๆ มันก็มีการคิดปรุงแต่งอยู่ในนั้น อ่านหนังสือ ตาเห็นรูปกระทบเป็นผัสสะ เกิดความจดจำมั่นหมายในความหมายของอักษรที่เรียนรู้มา (สัญญา) ร้อยเรียงเป็นคำ เชื่อมโยงเป็นเรื่องราว ตีความเห็นความหมาย (สังขาร) นั่นคือคิดปรุงแต่งได้เกิดขึ้นเป็นการอ่านหนังสือแล้ว

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าในการคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นมันเป็น “สัมมาสังกัปปะ” หรือเป็น “มิจฉาสังกัปปะ” ซึ่งในบทความชุดนี้จะยกจุดสำคัญต่างๆ ให้ผู้อ่านลองสังเกตด้วยตนเอง

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้ทำลายการปรุงแต่งเสีย แต่ทรงสอนให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า สังขาร จนสามารถเป็นนายเหนือ เป็นอิสระมิใช่ทาส เลือกได้ว่าจะปรุงหรือไม่ปรุงอย่างไร และทรงสอนให้อยู่อย่างมิต้องอยากได้ใคร่มีกับการปรุงแต่งหรือสิ่งที่ปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง

มีหรือไม่มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นก็ไม่ต้องไปโลภ โกรธ หลง อยาก หรือยึดกับมัน…

เรียกว่าทรงสอนให้มี “วิราคะ” คลายจากความกำหนัดความหลงใหล จนสิ้นไปซึ่งกิเลสอันหมักดองที่เรียกว่า “อาสวะ”

ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า… *(A)

“…เราย่อมจำนงเพื่อตรึกวิตกใด ย่อมตรึกวิตกนั้นได้
ไม่จำนงเพื่อตรึกวิตกใด ย่อมไม่ตรึกวิตกนั้นได้
ย่อมจำนงเพื่อดำริสิ่งที่พึงดำริใด ย่อมดำริสิ่งที่พึงดำรินั้นได้
ไม่จำนงเพื่อดำริสิ่งที่พึงดำริใด ย่อมไม่ดำริสิ่งที่พึงดำรินั้นได้

“…แท้จริง เราเป็นผู้ถึงความชำนาญแห่งใจในคลองแห่งวิตกทั้งหลาย
แท้จริง เราเป็นผู้มีปรกติได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
แท้จริง เรากระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่…”

ใจความโดยสรุปแล้วการคิดอย่างพระพุทธเจ้าคือการเป็นนายเหนือความคิด มิใช่เป็นทาสของความคิดหรือถูกครอบงำด้วยการคิดอย่างที่คนทั่วไปเป็น

เมื่อรู้ว่าไม่ควรคิดอย่างไรก็ไม่คิดเช่นนั้น
เมื่อรู้ว่าควรคิดอย่างไรก็คิดเช่นนั้น
เมื่อตั้งใจไม่คิดถึงสิ่งใดก็ไม่คิดถึงสิ่งนั้น
เมื่อตั้งใจคิดถึงสิ่งใดก็คิดถึงสิ่งนั้น

เป็นผู้รู้รอบในการคิด ชำนาญในการกำกับดูแล เป็นผู้ถึงความชำนาญในคลองแห่งวิตกทั้งหลาย เมื่อมีปกติแห่งการคิดเช่นนี้ การจะได้ตามจุดมุ่งหมายก็มิใช่การยาก

นี่คือการคิดและการฝึกความคิดอย่างพระพุทธเจ้าที่พึงฝึกอย่างท่านให้ได้

จากคำตรัสข้างต้น จะสังเกตว่าการมีความชำนาญในคลองแห่งวิตกคือความคิดทั้งหลาย เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ฌาน ๔

ฌาน คือสมาธิอันแน่วแน่ แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวไม่แกว่งไกว สงบระงับดับจากกิเลสหรือการปรุงแต่งต่างๆ ตามลำดับขั้น

เมื่อมีสมาธิแน่วแน่แล้วย่อมสามารถกำหนดการปรุงแต่งนามธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจิตใจ มากน้อยเพียงใดก็ได้ตามลำดับขั้นของ “ฌาน” หรือกล่าวง่ายๆ ว่า จิตที่มีสมาธิเป็นหนึ่งเดียว จึงบังคับการคิดได้อย่างแท้จริง

ด้วยจิตที่มี ฌาน จึงสามารถอยู่กับปัจจุบันได้อย่างเป็นสุข

ดังนั้นแล้ว การฝึกสมาธิ จึงเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ของการมีวิธีคิดที่ถูกต้องและเหมาะสมในการใช้ชีวิต เพราะสามารถเป็นนายเหนือความคิด มิต้องพะวงไปถึงอนาคตจนเป็นทุกข์ ไม่ต้องอาลัยถึงอดีตจนไม่เป็นสุข สามารถกำหนดการคิดให้เป็นไปในทางที่ประสงค์

“สัมมาสังกัปปะ” จึงจะเกิดขึ้นได้เมื่อมี “สัมมาสมาธิ” ต้องฝึกจิตให้เป็นสมาธิ ดังที่จะกล่าวต่อไปในโอกาสหน้า

หากใครได้ศึกษาวิเคราะห์วิธีการพูดของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก จะพอสังเกตได้ว่าท่านทรงให้ความสำคัญกับความคิดเป็นอย่างมาก และทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของการคิดในฐานะที่สามารถนำไปสู่หนทางที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องก็ได้

ดังหลายครั้งที่ท่านจะทรงกล่าวในทำนอง… เพราะมีความคิดแบบนี้… จึงเกิดผลอย่างนี้…

เช่นการตรัสสอนว่า… ภิกษุใดที่จะเข้าชุมชน หากมีความคิดเช่น ขอชาวบ้านทั้งหลายจงให้แก่เราเท่านั้น อย่าไม่ให้ จงให้แก่เราให้มาก อย่าให้น้อย จงให้เราแต่สิ่งประณีตเท่านั้น อย่าให้สิ่งเศร้าหมอง จงให้เราเร็วพลันทีเดียว อย่าให้ช้า จงให้เราโดยความเคารพเท่านั้น อย่าให้โดยไม่เคารพ…

เมื่อชาวบ้านทั้งหลายไม่ให้อย่างที่คิด ภิกษุผู้นั้นย่อมอึดอัด เป็นทุกข์ เพราะสาเหตุนั้น *(B)

หรือทรงสอนเป็นลำดับเหตุผลว่า …เพราะมีเหตุการณ์แบบนี้…จึงเกิดความคิดแบบนี้…แล้วนำไปสู่…

ดังในพระไตรปิฎก นิวาปสูตร พระพุทธเจ้าทรงเล่าเกี่ยวกับฝูงกวางทั้งสี่เอาไว้ว่า… ครั้งหนึ่งมีกลุ่มพรานรวมตัวจะเข้าป่าหมายล่ากวาง จึงออกอุบายปลูกป่าหญ้าไว้ ปรากฎว่าทั้งกวางฝูงที่ 1 ฝูงที่ 2 ฝูงที่ 3 ก็ไม่อาจรอดพ้นจากนายพรานได้ เหลือแต่ฝูงที่ 4 ที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดจึงคิดเห็นร่วมกันว่า

ฝูงกวางแรกเข้าไปกินหญ้าที่พรานปลูกไว้ กินจนลืมตัว มัวเมา และประมาท จึงไม่อาจรอดชีวิตจากพรานที่ดักซุ่ม

กวางฝูงที่สองเห็นดังนั้นก็คิดตามว่าเพราะเข้าไปกินหญ้าจึงถูกนายพรานจัดการ จึงพากันหนีออกไปอยู่ราวป่าไม่เข้ามากินหญ้าเหล่านี้ จนครั้นถึงฤดูร้อน อาหารกับน้ำขาดแคลน ทำให้ซูบผอมหมดแรง จึงพากันเข้ามากินหญ้าที่พรานปลูกไว้ กวางฝูงนี้จึงไม่รอดชีวิตเช่นเดียวกัน

กวางฝูงที่สามเห็นตามดังนั้นก็คิดว่าฝูงกวางทั้งสองต่างเข้าไปกินหญ้าปลูกจนมัวเมาและประมาทจนให้ถูกพรานล่าเอาได้ง่าย จึงไปอาศัยกันบริเวณรอบนอก

หมู่พรานเมื่อเห็นว่าไม่มีกวางฝูงต่อมากินหญ้าก็คิดกันว่ากวางฝูงที่สามนี้มีเล่ห์เหลี่ยมไม่ธรรมดาแต่ไม่รู้ว่าพากันอยู่ตรงไหน ถ้านำไม้มาขัดล้อมไว้รอบๆ บริเวณอาจช่วยให้เห็นพบที่อยู่ของพวกมันได้

คิดดังนั้นแล้วจึงพากันขัดไม้เป็นตาข่ายล้อมไว้รอบอาณาบริเวณใกล้ๆ ป่าหญ้าที่ปลูก จึงพบที่อยู่ของกวางฝูงที่สาม พวกมันไม่อาจรอดจากเงื้อมมือของนายพรานไปได้อีก

กวางฝูงที่สี่คิดตามจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด จึงฉุกนึกว่า หากไปอาศัย ณ ป่าแห่งอื่นที่ไกลออกไป ย่อมรอดจากเหล่านายพราน เพราะไม่ต้องเข้ามากินหญ้าหรือเข้ามาอยู่ใกล้ๆ ที่แห่งนี้ ทำให้กวางฝูงที่สี่พากันเลี่ยงออกไปยังป่าที่แห่งไกล

นายพรานทั้งหลายเมื่อเห็นแล้วว่ากวางฝูงต่อไปไม่มากินหญ้า ดักตาข่ายล้อมทั่วบริเวณใกล้ๆ ก็ไม่พบที่อาศัย ครั้นจะดุ่มเดิมเข้าไปออกล่าก็เกรงว่าจะทำให้ฝูงกวางฝูงอื่นตื่นตัวแล้วไม่เข้ามาใกล้บริเวณนี้ คิดดังนั้นแล้วจึงพากันเลิกลาความตั้งใจล่ากวางฝูงที่สี่ลงไป… *(C)

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่าหญ้าที่พรานปลูกดักไว้ก็คือ “ปัญจกามคุณ” หรือความหลงใหลใคร่อยากในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เป็นเสมือนกับดักที่พาไปสู่ความทุกข์และความตาย

ใครข้องเกี่ยวกับกามคุณ รีรออยู่รอบๆ กามคุณ ย่อมไม่พ้นความพินาศ

หากคิดได้ถึงโทษ คิดไม่ไปหา ไม่คิดเกาะแจอยู่ใกล้ๆ พากายใจหลบเลี่ยงไปเสียซึ่งกับดักเหล่านี้ ให้ไกลที่สุด เราก็หลบภัยซึ่งซุ่มรออยู่ได้

อีกทั้งยังเป็นการตรัสสอนว่า หากเราคิดใคร่ครวญดีๆ ถึงสาเหตุแห่งความทุกข์และความพินาศของชีวิต ย่อมเห็น “นิโรธ” กับ “มรรค” คือความพ้นไปเสียได้จากทุกข์ กับ หนทางออกจากทุกข์

การตรัสสอนให้เห็นถึงความเป็นลำดับเชื่อมโยงกันอย่างนี้ก็เพื่อให้เห็นความเป็นจริงที่เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” ความเป็นเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่องกัน แม้ความคิดก็เป็นเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่อง ไม่ใช่สิ่งคงตัวหรือความเที่ยงแท้

วิธีคิดที่พิจารณาต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์ ดังที่ทรงยกตัวอย่างนิทานให้พิจารณาตาม เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” นี่ก็เป็น วิธีคิดแบบพุทธะ ดังที่จะกล่าวต่อไปในบทความชุดเดียวกันนี้ตอนหน้า

นอกจากนี้ พระองค์ก็ทรงสอนในทำนอง …เธอควรมีความคิดว่า… เพื่อ…

ดังคำตรัสสอนจากพระพุทธเจ้าว่า… “ถ้าบุคคลเหล่าอื่นสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาตถาคตในเรื่องการประกาศสัจจะ ๔ ประการนั้น (อริยสัจสี่) ตถาคตมีความดำริอย่างนี้เพราะสักการะเป็นต้นนั้นว่า ‘บุคคลกระทำสักการะเห็นปานนี้ในขันธปัญจก (ขันธ์ ๕) ที่เรากำหนดรู้แล้วในกาลก่อน’

หมายถึง… พระองค์ทรงมีวิธีคิดว่า เขาไม่ได้สักการะตัวตนท่าน เขาเคารพเลื่อมใสในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งท่านได้กำหนดรู้ถึงความไม่ใช่ตัวตนของตนแล้ว…

“เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียน และกระทบกระทั่งเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายก็ไม่ควรทำความอาฆาต ไม่ควรทำความเสียใจ ไม่ควรทำจิตคิดร้ายเพราะการด่าเป็นต้นนั้น

“เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายก็ไม่ควรทำความยินดี ไม่ควรทำความดีใจ ไม่ควรทำความลำพองใจเพราะสักการะเป็นต้นนั้น

“ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรคิดอย่างนี้เพราะสักการะเป็นต้นนั้นว่า ‘บุคคลกระทำสักการะเห็นปานนี้ในขันธปัญจกที่เราทั้งหลายกำหนดรู้แล้วในกาลก่อน’

ท่านทรงสอนว่า… เขาไม่ได้ยกย่องหรือเหยียดหยามตัวตนเรา เขาแค่ยกย่องหรือเหยียดหยามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเท่านั้น ซึ่งเราควรระลึกถึงความไม่ใช่ตัวตนของตนของสิ่งเหล่านี้…

“เพราะเหตุนั้น สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้น สิ่งนั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเกิดประโยชน์ และความสุขสิ้นกาลนาน

“อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย คือ รูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ… ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย

“เธอทั้งหลายจงละรูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ…เหล่านั้น เมื่อเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเกิดประโยชน์ และความสุขสิ้นกาลนาน” *(D)

คำสอนชุดนี้ เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของ “สัมมาสังกัปปะ” หรือวิธีคิดแห่งพุทธะการคิดอย่างพระพุทธเจ้านั้นคือการดำริบนความไม่ใช่ตัวตน และดำริเพื่อละวาง มิใช่ยึดถือ…

ทรงคิดบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงเหตุปัจจัยกับธาตุธรรมชาติประกอบเข้าด้วยกัน ปรุงแต่งกันเป็น “อิทัปปัจจยตา” มิได้เป็นตัวเป็นตนเลย…

การสอนธรรมจึงทรงให้ความสำคัญกับการคิดที่ถูกต้องเช่นนี้ บางครั้งทรงบรรยายโดยตรง บางครั้งก็ทรงตรัสในลักษณะคำถามว่า …ควรคิดเช่นนั้นหรือไม่ เช่นว่า

“ชาวบ้านจะนำหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ ที่มีอยู่แถวนี้ นำไปเผาหรือทำอะไรก็ตาม พวกเธอควรคิดว่า ชาวบ้านกำลังนำพวกเราไปเผาหรือนำไปทำสิ่งใดๆ หรือไม่หนอ”

หมายถึง… กิ่งไม้ใบไม้เหล่านั้นคือตัวตนเรา คือของๆ เราหรือไม่ ?

เพื่อทรงย้ำคำสอนที่ตรัสไว้ก่อนหน้าว่า “สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อความสุข” *(E)

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า พุทธศาสนาใช้การคิดเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อไปสู่การดับทุกข์ โดยให้เข้าใจธรรมชาติของการคิด เห็นผลกระทบของการคิด และเป็นนายเหนือความคิดโดยการฝึกจิตใจ โดยทรงตรัสให้คิดตามอย่างเป็นระบบ

การคิดอย่างเป็นระบบด้วยการพิจารณาในความเป็นเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่องกัน ไม่ได้ด่วนสรุปตีความด้วยการยิดติดเป็นตัวตน นี่วิธีคิดที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ให้เราเห็นเป็นตัวอย่างผ่านคำตรัสของท่าน

แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสอนด้วยการบรรยายเป็นหลัก แต่ในการอบรมภิกษุหรือลูกศิษย์ของท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะเรื่องกฎข้อห้ามธรรมวินัย ท่านมักจะทรงตรัสถามก่อนว่า “พวกเธอคิดว่าอย่างไร” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรับฟังความคิดเห็นและการส่งเสริมให้ลูกศิษย์ผู้ติดตามคิดด้วยตนเอง

เช่นเดียวกับที่ทรงกล่าวไว้ในหลักที่เรียกว่า “กาลามสูตร” *(F)

…อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังมา
…อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าใครๆ ก็พูดกัน
…อย่าเพิ่งเชื่อเพราะโบราณว่าไว้
…อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอ้างอิงหมายเหตุ
…อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการคิดเอาเอง
…อย่าเพิ่งเชื่อโดยการอนุมานคาดคะเน
…อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดตามรูปการณ์ที่ปรากฎ
…อย่าเพิ่งเชื่อเพราะสอดคล้องกับความเห็นเดิมของตน
…อย่าเพิ่งเชื่อเพราะความน่าเชื่อถือหรือเห็นว่ามันเป็นไปได้
…อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา

เราจะเห็นว่าคำสอนหลัก “กาลามสูตร” หรือบทเรียนที่พระองค์ทรงสอนชาว กาลามะ ซึ่งเวลานั้นมีนักบวชต่างๆ มาเปิดสำนักสอนกันมากมาย เหมือนสมัยนี้ที่มีคอร์สเปิดเรียนหลากหลาย ชาวเมืองก็ไม่รู้จะเชื่อใครดี ไม่รู้ว่าอันไหนเชื่อได้ และขัดแย้งกระทบกระทั่งความเห็นกัน

ท่านจึงตรัสสอนให้อย่าปลงใจเชื่อในความคิดความเห็นต่างๆ โดยง่าย แม้จะมีปัจจัยทั้งสิบอย่างข้างต้นทำให้น่าเชื่อถือก็ตาม

ประเด็นสำคัญหนึ่งในคำสอนดังกล่าวยังเตือนให้เราฉุกนึกว่า แม้สิ่งที่คิดในหัวก็ไม่ควรเชื่อจนเกินไป แม้ว่ามันจะดูมีเหตุผล มีหลักฐาน มีความน่าจะเป็น หรือมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เห็นจะๆ ตรงหน้าก็ตาม

สมัยนี้แค่เห็นโพสต์ ภาพข่าว หรือคำคนที่เขียนลงสื่อสังคมออนไลน์ก็หลงเชื่อโดยง่ายแล้ว เรียกว่า “โป๊ะแตก” กันมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่หน

ความคิดหลอกเราได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อยังมี ดำริ หรือ วิธีคิด ที่ยังไม่ถูกต้อง ยังไม่ใช่ “สัมมาสังกัปปะ” อย่างแท้จริง

วิธีคิดของคนมีหลายเหตุปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน อาจมี “อวิชชา” คือความโง่หรือไม่ซื่อตรงต่อความจริง เข้ามาผสมเจือปนได้ตลอด อาจมีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ “โลภ โกรธ หลง” ทำให้การคิดผิดเพี้ยนไปจากเหตุอันควร

การคิดทั่วไปมักเกิดจากการปรุงแต่งจากสิ่งที่รับรู้ผ่านอายตนะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อรับรู้อย่างขาดสติ เป็นไปด้วยอวิชชาคือความไม่รู้จริงในธรรมชาติ สิ่งใดมากระทบก็มัวเมารู้สึกรู้สา เกิดเป็น “ตัณหา” คือความอยาก และนำไปสู่ “อุปาทาน” คือการยึดติด

วิธีคิดที่ผิดเพี้ยนก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เพราะการคิดใดๆ ของเราต่อจากนั้นก็จะเป็นการคิดที่รับใช้อวิชชา รับใช้ตัณหา รับใช้อุปาทาน แต่ไม่ได้รับใช้ความจริง ไม่ได้รับใช้ความถูกต้อง

วิถีทางแห่งการคิดที่ผิดเพี้ยนไปนี้ก็คือการมี “อคติ” นั่นเอง แต่คำว่า อคติ นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องความคิดความเห็นอย่างภาษาปากที่คนไทยใช้ แต่ในทางพุทธศาสนานั้น หมายรวมในความประพฤติ ทัศนคติ และการคิดอีกด้วย

หากแปลตรงตัว คำว่า อคติ หมายถึง ผิดที่ผิดทาง หรือความเป็นไปอันไม่สมควร แปลแบบไทยก็ใช้คำว่า “ลำเอียง” เพียงแต่ “ลำ” ในที่นี้ ภาษาธรรมเปรียบได้ดั่ง ลำเรือ-นาวาชีวิต หรือ ลำต้นของต้นไม้ก็ได้

หากลำเรือเอียงเกินไปก็พลิกคว่ำ ลำต้นของไม้เอียงเกินไปก็ล้ม ชีวิตจึงต้องตั้งอยู่บนทางสายกลาง ทั้งความประพฤติ วาจา และใจ ซึ่งประกอบกันดังลำเรือหรือลำต้นไม้

วิธีคิดที่เหมาะสม เป็น สัมมาสังกัปปะ จึงต้องอยู่บนทางสายกลาง มิโน้มเอียงทางหนึ่งทางใดมากจนเกินไปตามกิเลส

สิ่งที่ทำให้ลำเรือชีวิตโน้มเอียงจนเกินไป แบ่งออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ *(G)

1. ลำเอียงเพราะชอบ…ฉันทาคติ
2. ลำเอียงเพราะชัง…โทสาคติ
3. ลำเอียงเพราะหลง…โมหาคติ
4. ลำเอียงเพราะกลัว…ภยาคติ

สี่อย่างนี้เองทำให้ความคิดของเราไม่ถูกต้อง เพราะโน้มไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากจนเกินไป เมื่อวิธีคิดไม่สมดุล ไม่เป็นกลาง การกระทำก็พลิกคว่ำ ทำชีวิตหกคะเมนระเนระนาด

อคติ ทำให้เราไม่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริง เราจึงไม่สามารถตัดสินใจหรือเลือกด้วยความเหมาะสมได้ มีความคิดความเห็นไปทางหนึ่งทางใดมากเกินไป เพราะต้องตามใจกิเลส

เปรียบชีวิตดังการขับรถ วิธีคิดก็คือคนที่นั่งขับหรือสารถี ผู้นี้จริงๆ มีความสามารถอยู่แล้ว มีสติปัญญาอยู่แล้ว แต่แทนที่เขาจะขับไปอย่างถูกต้องตรงเป้าหมาย กลับต้องตามใจผู้โดยสารหรือเสียสมาธิเพราะพวกเขา

“คุณฉันทา” ก็อยากไปที่ชอบๆ อยากกินลม ชมวิว อยากดูเส้นทางที่สวยถูกใจ คอยรบเร้าออดอ้อน “คุณโทสา” บ่นโวยวาย หงุดหงิดรำคาญ เกลียดรถราคันอื่น คอยสั่งเร่งเร้าให้ขับแซงไปมาหรือเร่งความเร็วเกินควร

“คุณโมหา” บอกทางมั่ว ชี้ถูกชี้ผิด ดูแผนที่ไม่ออก บางครั้งก็หลับตลอดทางชวนง่วงตาม “คุณภยา” ตื่นตกใจ หวาดหวั่นกับเส้นทาง สะดุ้งแล้วสะดุ้งเล่า วิตกกังวลจนคนขับกลัวตัวสั่นไปด้วย

เมื่อชีวิตดำเนินไปด้วย อคติ ย่อมถึงเป้าหมายช้า เสียเวลา หลงทาง หรืออาจไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะเลือกทางไปไม่ถูกต้อง หรือขับขี่ไม่เหมาะสม ด้วยความชอบ ความชัง ความหลง และความกลัว พาให้ลำเอียงเบี่ยงเบนไป

นี่คือปัญหาของวิธีคิดทั่วไป เป็นสาเหตุที่ว่าทำไม เราจึงคิดไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะตอนที่ความชอบ ความชัง ความหลง หรือความกลัว กำลังเข้มข้นรุนแรงอยู่ ความนึกคิดกับการตัดสินใจยิ่งไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

…วันหน้าเมื่ออารมณ์ทั้งสี่เหล่านี้ลดหายไป ตัวเราเองยังสงสัยได้เลยว่าทำไมเมื่อวันนั้นจึงคิดและทำแบบนี้

วิธีคิดที่ถูกต้อง เป็น “สัมมาสังกัปปะ” จึงเป็นความคิดที่ไม่โน้มเอียงไปตามอารมณ์ หรือฉันทะ โทสะ โมหะ และภยะ ตั้งอยู่เป็นกลางอย่างมั่นคงด้วย ฌาน หรือ สมาธิที่แนบแน่น ประดุจพลขับสารถีที่แน่วแน่จดจ่อในการขับรถไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย มิหวั่นไหวกับสิ่งรบกวนรอบๆ ตัว

การคิดของคนทั่วไปเป็น อคติ ได้ง่ายเพราะขาดการฝึกจิตให้มีสมาธิ รับรู้โลกผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอย่างขาดสติ เป็นไปด้วย “อวิชชา” ยังไม่มี “สัมมาทิฏฐิ” เรียกว่าเห็นโลกอย่างโง่ๆ จนเกิดอารมณ์หลงมั่นหมาย แล้วยึดถือว่าสิ่งที่คิดเหล่านั้นเป็นความจริง นี่ก็เป็นสาเหตุของ “มิจฉาสังกัปปะ” วิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง

ปัญหาการคิดของคนส่วนใหญ่อีกอย่างก็คือ การหยุดความคิดไม่ได้ คิดแล้วมันก็ไหลไปเรื่อย เป็นผลจากการที่ยังไม่ได้ฝึกใจมากพอเช่นกัน เวลาเกิดความคิดใดๆ ก็จะคิดไปอย่างยืดเยื้อเนิ่นนาน เรียกว่าปรุงแต่งไปเรื่อย บางทีก็เวียนวนคิดแล้วคิดอีก

ทำให้บางคนเชื่ออย่างผิดๆ ว่า …คนเราหยุดคิดไม่ได้… ทั้งที่ในความจริงแล้ว ความคิดหรือการปรุงแต่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แทบตลอดเวลาในชั่วเสี้ยววินาที หากไม่ได้ฝึกสติหรือมีความเห็นที่ถูกต้อง ย่อมเข้าใจผิด

กิเลสหรือปัจจัยที่ทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อ มีสามอย่างได้แก่ “ตัณหา” , “ทิฏฐิ” และ “มานะ”

ตัณหา คือความอยาก ปรุงแต่งจากการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ โดยมี อวิชชา กับ อาสวะกิเลส เป็นต้นเหตุ

เพราะตัณหา เราก็ฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยได้เป็นวันเป็นคืน… คิดถึงสิ่งที่อยากได้ คิดถึงความน่าหลงใหลต่างๆ คิดเพราะอยากนั่นอยากนี่ คิดเพราะอารมณ์มันยั่วยวน คิดด้วยความเพลินเพลินมันเร้าใจ ฯ

หากวิธีคิดเป็นเหมือนคนขับพาหนะแห่งชีวิต ตัณหา ก็คือการที่สารถีนั้นมัวแต่มองวิวทิวทัศน์ข้างทาง เพราะมันน่าสนใจบ้าง สวยงามเพลินตา มีสิ่งที่สะดุดให้สนใจ ไม่ได้มองทางอย่างที่ควร ทำให้เลี้ยวผิดทางหรือเกิดอุบัติเหตุก็ดี หรือเลือกพักรถแวะเที่ยวเยี่ยมชมสิ่งที่ไม่ใช่จุดหมายไปเสียก่อน การเดินทางจึงเนิ่นช้าเกินเวลาที่ควร

ทิฏฐิ คือความยึดมั่นในความคิดความเห็นอย่างสุดโต่ง บ้างก็เรียกว่าดื้อรั้น

เพราะทิฏฐิ เราก็ฟุ้งซ่านตอกย้ำอย่างเคร่งเครียด… คิดหมกมุ่นในความเห็นของตนเอง คิดโต้เถียงขัดแย้งกับมุมมองคนอื่น คิดทะเลาะกันในหัวตัวเอง คิดในหลักการเดิมๆ เวียนวน คิดแล้วคิดอีกกับแผนการหรือคาดการณ์ ฯ

เปรียบเทียบชีวิตดังรถยนต์ที่แล่นไป วิธีคิดที่มี ทิฏฐิ ก็เหมือนคนขับรถใจลอย ครุ่นคิดอยู่ในหัว มิได้มองทางอย่างมีสติ หรือกังวลกับแผนที่ หรือมัวคุย มัวโต้เถียงกับผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยกัน อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นง่ายดาย หรือขับผิดทางเพราะหลงลืมดูป้าย การเดินทางก็ไปถึงล่าช้ากว่าที่ควร

มานะ คือความถือตัว สำคัญตัว ต้องการมีค่า และการเปรียบเทียบตนเอง

เพราะมานะ เราก็ฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา… คิดวนเวียนแต่ความเป็นตัวตนหรือ คุณค่าของตน คิดอย่างถือตัว คิดเปรียบเทียบตนกับคนอื่น คิดดูหมิ่น คิดถึงการถูกตำหนิ คิดอยากมีค่า คิดถึงการยอมรับ ฯ

หากวิธีคิดคือคนขับรถ การมีมานะก็เปรียบเหมือนคนขับรถที่จ้องจะโอ้อวดยวดยานของตนเอง เพราะมีราคาสูง ตบแต่งใหม่มา มีสมรรถนะเป็นเลิศ อยากอวดเพศตรงข้าม หรือด้วยเหตุใดก็ตาม แทนที่จะขับด้วยความระมัดระวังรับผิดชอบก็ขับขี่หวาดเสียวเพราะต้องการประกาศศักดา หรือแข่งกับรถคันอื่นๆ ก็ตาม สุดท้ายแล้วก็อาจไปไม่ถึงจุดหมาย หรือล่าช้าเกินความจำเป็น

การที่ต้องขับรถยืดยาดยาวนานเกินควร ก็คือการที่ความคิดมันปรุงแต่งไปเรื่อยยืดเยื้อ เพราะความอยากใคร่ ยึดติดความคิดเห็น และความสำคัญตัว ทั้งสามนี้เป็นปัจจัย เรียกว่า “ปปัญจธรรม”

พระสารีบุตร เคยสนทนาธรรมกับ พระมหาโกฏฐิตเถระ ผู้ต่างเป็นศิษย์เอกของพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งได้กล่าวสอนกันและกันไว้ว่า…

“ปปัญจธรรม ย่อมดำเนินไปตราบเท่าที่ผัสสายตนะ ๖ ดำเนินไป ผัสสายตนะ ๖ ก็ดำเนินไปตราบเท่าที่ปปัญจธรรมดำเนินไป ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ ปปัญจธรรมจึงดับสนิท ระงับไป” *(H)

การคิดที่มีตัณหา มานะ หรือทิฏฐิเป็นปัจจัย ทั้งหมดก็ล้วนปรุงแต่งตั้งต้นเริ่มจากการรับรู้อย่างโง่เขลา ได้แก่เห็น ยิน ดม ลิ้ม สัมผัส และรู้สึกอย่างขาดสติ เป็น “ผัสสายตนะ” (ผัสสะ + อายตนะ) ตามอำนาจของ อวิชชา เกิดเป็น “ราคะ” คือความกำหนัดหลงใหล

ไม่เพียงเฉพาะกับสิ่งที่ชอบ แต่กับสิ่งที่ไม่ชอบและสิ่งที่เฉยๆ หากรับรู้อย่างขาดสติก็เกิดเป็น ราคะ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งส่งเสริมปรุงแต่งให้เกิดการคิดฟุ้งซ่านปรุงแต่งเรื่อยไปยาวนาน

ตราบใดที่ยังไม่สำรวมระวังการรับรู้ทั้งหก เราก็ยังเป็นทาสความคิด และมีวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง

การจะมีวิธีคิดแบบพุทธะ ต้องสำรวมระวังตนเอง เรียกว่ามี “อินทรีย์สังวร” คำว่า ตนเอง ในที่นี้หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่ต้องดูแลด้วยสติ เมื่อมีอินทรีย์สังวรจึงจะมีการคิดที่ปลอดภัยจากกิเลสทั้งหลาย เสมือนการเดินทางโดยมีตำรวจจราจรขับนำหน้าช่วยคุ้มครอง

ตำรวจในที่นี้ก็คือ “สติ” ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพาหนะ เปรียบกับอินทรีย์สังวร ดูแลอยู่ด้านหน้าคือดูแลการรับรู้ก่อนความคิดจะถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นตามมา

ช่วงไหนที่เราไม่มีสติ ไม่ได้คุ้มครอง “ทวารทั้งหก” ของตนเอง ช่วงนั้นความคิดก็ย่อมฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยไปต่างๆ นานา เกิดความคิดตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบ คิดหวั่นไหวใจโอนเอนไม่เป็นสุข จะทุกข์ก็ทุกข์เพราะความคิดที่ไม่มีสติคุ้มครอง

การฝึกตัวเองให้มี สัมมาสังกัปปะ สามารถคิดตามอย่างพระพุทธเจ้า เราไม่อาจเลี่ยงที่จะต้องปรับพฤติกรรมของตนเองใหม่ ให้มี “วิธีใช้ชีวิตที่ถูกต้อง” ตามอย่างพระองค์

อยู่ดีๆ ความคิดร้ายไม่เกิด อยู่ร้ายๆ คิดดีก็เกิดยาก… แต่ “อยู่ดี” หรือ “อยู่ร้าย” ไม่ได้ขึ้นกับสิ่งนอกตัวอย่างเดียว หากยังขึ้นกับภายในด้วย “อยู่ที่การกระทำ” ของตัวเราเองเป็นสำคัญ

วาจานุรกฺขี มนสา สุสํวุโต
กาเยน จ อกุสลํ น กยิรา
เอเต ตโย กมฺมปเถ วิโสธเย
อาราธเย มคฺคํ อิสิปฺปเวทิตํ ฯ *(I)

พึงระวังวาจา พึงสำรวมใจ
ไม่พึงทำบาปทางกาย
พึงชำระทางกรรมทั้งสามนี้ให้หมดจด
เมื่อทำได้เช่นนี้ เขาพึงพบทาง
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแสดงไว้

 

… บทความเรื่อง “สัมมาสังกัปปะ : วิธีคิดแบบพุทธะ” ยังไม่จบ พบกับตอนต่อไปในเดือนมีนาคม 2565 …

 

.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 67
.
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

.
.
*(A) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วัสสการสูตร [๓๕]
*(B) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๔. กุลูปกสูตร [๔๗๕]
*(C) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๕. นิวาปสูตร อุปมาพรานปลูกหญ้าล่อเนื้อ [๓๐๑]
*(D) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ การไม่ยึดถือ [๒๔๖]
*(E) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อัคคัยหสูตรที่ ๑
*(F) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต เกสปุตตสูตร [๕๐๕]
*(G) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค [๑๔๗]
*(H) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ๓. มหาโกฏฐิตสูตร ว่าด้วยพระมหาโกฏฐิตะ [๑๗๓]
*(I) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐ [๓๐]