คัดบางถ้อยคำจากบันทึกและสรุปบทเรียน ปฏิบัติ เขียนภาวนา 3

 

คัดบางถ้อยคำจากบันทึกและสรุปบทเรียน
คอร์ส “ปฏิบัติ #เขียนภาวนา” พฤษภาคม 2564 (3)

สิ่งที่ได้รับจากการฝึกเขียนภาวนา…
.

“การเขียนภาวนาช่วยคลี่คลายความทุกข์ออกมาเป็นส่วนๆ ให้เราได้เข้าไปพูดคุย เพื่อสอบถามตนเองว่า เราละวาง เราจัดการให้ “เหมาะสม” ให้ “พอดี” ได้เพียงใด ทำให้เห็นจังหวะการพักใจของตัวเอง ที่เริ่มจากการปรับมุมมองชีวิตให้ “ช้า”ลง เพื่อสมดุล เมื่อสมดุล ทุกข์จะคลาย ใจจะสุข

ระหว่างการเขียนภาวนา เมื่อต้องมาบันทึกพร้อมทบทวนในเรื่องกุศลธรรม และอกุศลธรรม ช่วยให้เห็นถึงการเขยิบก้าวเดินของใจที่ดีขึ้น มองชีวิต มองโลก อย่างเป็นธรรมและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่โน้มเอียงใจจนเราหนักข้าง เดินแบบใจโซซัดโซเซ แบบที่ผ่านมา เหมือนมีหมุดหมายปลายทางให้ใจมุ่งตรงไปที่จุดหมายนั้น พักละวางเพื่อเดินต่อแบบมีหมุดหมายต่อไป และเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ เดินพักเดินและพัก ที่สุดจะถึงปลายทางในแบบใจไม่โซเซ กายไม่พังและที่สำคัญ เห็นชีวิตที่ผ่านมาของตนเองแบบชื่นชม ไม่โทษว่าตนเอง จนรู้สึกด้อยค่า เพราะระหว่างการเขียนแบบมีกุศลธรรมและอกุศลธรรมมากำกับให้พิจารณาตลอดนั้น เราใช่จะพบแต่มุมอกุศลเพียงอย่างเดียว กลับพบกุศลธรรมที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน”

/ นุ ผู้เขียน

.
.
“ลดเงื่อนไขเปิดช่องทางรับการเข้าใจธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป การมีศีลมั่นเพื่อเห็นกิเลส เห็นทางดับกิเลส อยู่กับกิเลส ไม่เห็น ไม่มอง เป็นเพียงอุเบกขา ไม่กล้าเผชิญทุกข์ ต้องหันหน้าเข้าหา พิจารณา และเห็นเกิด ดับ ไม่ลังเลสงสัย ลองก้าวข้ามก้าวผ่านความเคยชิน ลดยึดติดตัวตน สนใจการเอาตัวตนไปรับตอนมีอะไรกระทบผัสสะ รีบตีความ สร้างอุปาทาน เกิดปัญหามากมาย เครียดกาย ใจ คลายลงมาก

“ได้เห็นพฤติกรรมของตนที่ก่อให้เกิดความเครียด การยึดติดความคิดเห็น จนเป็นเหตุของปัญหา เกิดทั้งปุ่มคืออุปสรรค และปมคือความผิดหวัง เสียใจในตนเอง หากปล่อยไปก็รักษาไม่หาย หมายถึง ยังวนเวียนต่อไป ยังคงมีความกลัวสูญเสียตัวเอง ที่เป็นปัญหาสำคัญของเรา แต่สามารถทำให้เกิดอุเบกขาได้มากขึ้น สิ่งที่ต้องทำต่อคือ หันกลับไปมองหน้ากิเลสและเห็นและวาง พิจารณาเกิดขึ้นและดับไปของตัวตน”

/ ปู ผู้เขียน

.
.
“สอนให้เรามีสติและสมาธิในทุกขณะที่ลงมือเขียน ไม่ว่าจะเขียนเป็นตัวหนังสือหรือเป็นจุด สอนให้เราได้เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง และไม่ยึดติดกับสิ่งที่เราเป็น ช่น การอึดอัดในการเขียน หรือเขียนผิด ก็ให้เราปล่อยวางและทำการเริ่มเขียนใหม่ นั่นหมายถึง ไม่ว่าชิวิตจะมีอะไรผิดพลาดไป ก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เพียงแค่เรายอมรับความจริงและแก้ไข

“กุศล อกุศล สอนว่า ไม่ว่าอารมณ์ใดๆก็ตามที่ได้เกิดขึ้นมาในแต่ละการฝึกเขียนภาวนา ล้วนแล้วแต่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งสิ้น คือ ไม่ควรยึดกับอะไรทั้งนั้น เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นมานั้น ล้วนไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน/ รู้สึกถึงการลดละความยึดติดและรู้สึกว่า การปล่อยวางคือความสุขที่ควรจะเป็นในการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบันให้มีความสุข ไม่ยึด วางได้ ใจเย็น ชีวิตเป็นสุขค่ะ”

/ รี ผู้เขียน

.
.
“เขียนไป สติมา
ผ่อนคลาย ใจโปร่ง
ปัญญา ทางออก

“เกิดความนิ่งและปล่อยวางมากขึ้น มีการทบทวนเรื่องราวต่างในชีวิต เห็นมุมมองแนวทางออกในการนำไปใช้ในชีวิตจริง โดยมีฐานของธรรมะเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

การเขียนทบทวน 4 อาทิตย์ ทั้งหมด 8 วัน จากโจทย์ ที่ได้รับ ช่วยปูพื้นฐานในใจ การกำหนดลมหายใจ และเขียนเฉพาะหายใจออก ทำให้มีการเห็นลมหายใจของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้น เป็นการกำหนดให้มีสติให้คมชัดที่มากขึ้นไปด้วย”

/ ลูกหนู ผู้เขียน

.
.
“ใจว่าง หยุดคิด ปล่อยใจลิขิตอักษร
น้อยแต่มากคุณค่า สม่ำเสมอ ปัญญาเกิด
อยู่บนความพอใจ พอเพียง สักวัน ถึงฝั่งฝัน

“ความเยินเย่อน้อยลง ใช้ใจบอกทางออกว่าควรไม่ควรอย่างไร ฉันละเอียด ช้าลง รู้สึกว่าชีวิตมีทางออก เริ่มที่จิตสงบ ใช้ใจเป็นเครื่องนำทางแทนการใช้สมอง วิตกกังวลน้อยลง เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น ชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง ทุกคนมุ่งทางสงบคล้ายกัน ฝันให้ไกล น้อยแต่มาก สติทุกขณะ ฉันรู้ทางออก และจะพยายามเดินต่อไป

/ คุณวรรณ ผู้เขียน

 

หลักสูตร ปฏิบัติ เขียนภาวนา
https://punnspace.com/p/practice-meditationwriting

โครงการ ห้องเรียน เขียนภาวนา
https://www.dhammaliterary.org/เขียนภาวนา/