คัดบางถ้อยคำจากบันทึกและสรุปบทเรียน ปฏิบัติ เขียนภาวนา 1

 

คัดบางถ้อยคำจากบันทึกและสรุปบทเรียน
คอร์ส “ปฏิบัติ #เขียนภาวนา” พฤษภาคม 2564 (1)
.
“เมื่อเริ่มต้น ฉันสูดลมหายใจเข้า
อึดอัด จนต้องเริ่มต้นลมหายใจออก
สบาย มือเริ่มขยับเขียนตัวอักษร
ที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น
อึดอัด อีกครั้ง จนต้องเริ่มหายใจเข้า
และทุกสิ่ง ก็หมุนวนไปไม่จบสิ้น
อึดอัด เมื่อเขียนไม่ครบคำ
อย่าโลภ เสียงหนึ่งบอกฉันมา
ดูสิ! ว่าเกิดอะไรขึ้นต่อหน้าเธอ
ปัญญา มีมาให้แก่ผู้ที่เห็นลมหายใจ
น้อยแต่มาก คืออะไร ไม่เคยเห็น
ที่ผ่านมานั้น รู้จักแต่ มากและมาก
น้อยแต่มาก เห็นได้จาก “ปัญญา”
เมื่อปลายปากกา เริ่มต้นไปพร้อม
ลมหายใจออก และหยุดลง เมื่อลมหมด
มือที่ขยับ ตามสิ่งที่รู้ ที่ปรากฎตรงหน้า
คำที่ปรากฎตรงหน้า ผ่านหัวใจ ไม่ใช่สมอง
น้อยแต่มาก เป็นเช่นนี้แล
เหมือนเป็นการเจียรไนจิต
ทุกๆอกุศลกรรม ที่ปรากฎ
เมื่อเรามองเห็น ยอมรับ ไม่ดิ้นรน
ใจย่อมสงบ เรียนรู้ เกิดปัญญา
ปฏิบัติต่อไปเถิด รู้จักใจตัวเอง
เผชิญหน้า ยอมรับ อย่างกล้าหาญ
วันหนึ่ง ไม่นานจากนี้ เราจะพบหนทาง
เพื่อ กลับสู่บ้านเดิม…..”
.
/ Lux ผู้เขียน
.
.
“มีสติ
สมาธินิ่ง
ยึดติดหาย
ปัจจุบันขณะ
หายใจช้าลง
ไม่ปรุงแต่ง
ปล่อยวาง
ว่างเปล่า
สติมา
ปัญญาเกิด…….
.
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของตัวเอง
มีสติ อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน ได้ออกมาจากขอบเขตของตัวเอง ออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ไม่มีอะไรน่ากลัว น่ากังวลอย่างที่คิด ระงับอารมณ์โกรธได้ดีขึ้น รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง พึ่งพาคนอื่นน้อยลง”
.
/ ก้อย ผู้เขียน
.
.
“เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติ “เจริญสติ”ผ่านวิธีที่แตกต่างไปจากการนั่ง การเดิน การเคลื่อนไหว เดิมๆที่ผ่านมา อาจจะเพราะการเขียนถูกจริตกับเรา เหมือนเป็นการได้พูดคุยกับ “ตัวรู้” ผ่านตัวอักษร ภาพวาด ทำให้เห็นชัดเจน ที่ผ่านมา หลงไปยึดติด “ความคิด” ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่มีกำลังมากพอ ที่จะทะลุผ่าน ความขุ่นมัว(กิเลสต่างๆ ที่วนเวียนอยู่ในตัวเรา) พอสติเราไม่มีกำลังมาก เราเลยหลง หาจุดเริ่มต้น + จุดสิ้นสุดไม่เจอ เลยไม่ได้คำตอบ
.
เห็นข้อบกพร่อง ที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ เกิดการยอมรับในตัวเอง รู้และเข้าใจว่า เกิดการยึดติด ก็เป็น “ธรรมดา” และการลด ละ เลิก ได้เป็นสิ่งดี แต่ก็เป็น “ธรรมดา” เหมือนกัน การที่เรามาฝึกก็เพื่อมาจัดการความธรรมดา ให้ทันทีพอดี โดยมีสติสัมปชัญญะ เป็นหลักสำคัญ ในการดำเนินชีวิต ข้อดีอีกอย่างคือ ลายมืออ่านง่ายขึ้นมาก
.
เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ก็ทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นเช่นกัน เป็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เข้าใจว่าแต่ละคนก็มี pattern กิเลส ความแตกต่างกันไป
.
สอนให้เรารู้จัก ละความโลภ ละความเร่งรีบ ที่บีบคั้นตัวเอง ให้กลับมารู้จัก “ทางสายกลาง” ที่เป็นแนวทางที่น่าจะเอามาปรับใช้ในชิวิตประจำวันได้ สำคัญคือ การหาจุด “พอดี” และ “ดีพอ” สำหรับตัวเอง
.
สอนใหัเรารู้จัก “ทางสายกลาง” ในอีกมิติที่ทำให้เรารู้ตัวว่า การพยายามที่มากเกินไปคือ กิเลส “ความกลัว” ที่เข้ามาในรูปแบบที่แตกต่างจากตัวที่เราเคย “รู้จัก” พอเราได้รู้จักและทำความเข้าใจแล้ว เราก็สามารถผ่อนตัวเองลง จัดสมดุลชีวิตได้ดีขึ้น
.
ไข่มุก อยู่ที่ใด ไม่ปรากฏ
ไม่ปรากฎ เพราะ หลงออกไปหา
เมื่อตึงเครียด ผ่อนบาง คลายกายา
จิตสงบ พบใจ อยู่ในมุก
เกิดขึ้นเอง แต่ก็ต้อง เพียรรักษา
เพราะความเขลา เบาปัญญา มีมากหลาย
ชั่วชีวิต พบพาน มามากมาย
ทำให้ช้า แต่ให้ชัวร์ ชั่วชีวี”
.
/ จอย ผู้เขียน
.
.
“ยึดหนอ ยึด ยึด ยึด ยึดจึงฟุ้ง
คิดคิดค้น หวังให้หาย ใยยิ่งอยู่
รู้รู้รู้ ตื่นตื่นตื่น หายใจดู
ดับตัวกู ตถตา เช่นนั้นเอง
.
เห็นเหตุแห่งทุกข์ ย้ำเข้ามาให้มีปัญญา เตือนเข้ามาให้มีสติ การยึดมั่นถือมั่นในตน ทั้งการติดดี ติดสบาย เอาแต่ใจเพราะคิดว่านี่คือดี นี่คือเหมาะสม ควรทำ ยึดในศีล ยึดในกุศล พลั้งพลาด ต่อว่า หงุดหงิด ยามเจอสภาวะที่ตรงข้ามกับการยึด สุมไฟนรกให้จิต สร้างและยินดีให้เกิดอุปสรรคที่สวนทางกับนิพพาน จะสุข จะทุกข์ ใจจะเป็นอย่างไร กายจะเป็นอย่างไร ก็เกิดจากการยึดของตัวตนนี่แหละ”
.
/ เจเจ ผู้เขียน
.
.
“เมื่อลมออก บอกให้รู้ให้เริ่มเขียน
เสริมความเพียร ลับสติให้คมไหว
เมื่อลมเข้า บอกให้รู้ ดูที่ใจ
เขียนอีก เมื่อลมออก บอกตนเอง
สังเกตลม สังเกตจิต สังเกตกาย
ไม่ดูดาย หมื่นขวนขวาย หมื่นศึกษา
เมื่อลมออก บอกให้รู้ ดูตำรา
อยู่ข้างนั้น ตัวเราหนา หาที่ใด
เมื่อลมออก บอกให้รู้ ดูที่ไหน
หาอะไร อยู่ข้างใน ให้ดูเอา
.
เขียนกลอนเปล่าเมื่อลมออก เมื่อมาเขียนจริง อาจไม่เหมือนกับที่คิด เขียนตามที่อยากเขียนในขณะนั้น แต่ทำให้หลงเพลิน หลุดกับการตามลม การเขียนเฉพาะลมออกได้ยากขึ้น และสัญญาที่มีก็เขียนให้คล้องจอง ไหลลื่น อย่างรวดเร็ว ยิ่งเห็นว่าการควบคุมจิตทำได้ยาก
.
ตั้งแต่มาเรียนเขียนภาวนา พบว่าเวลาเขียนในชีวิตประจำวัน ใจเย็นมากขึ้น ตัวอักษรอ่านออกมากขึ้น และไม่มีความเร่งรีบในการเขียนเหมือนที่ผ่านมา รู้สึกไม่บีบคั้นตัวเอง รับรู้ถึงความสงบเย็นที่มีมากขึ้น ทำให้เวลาจะเขียนหรือพูด สื่อสารอะไรออกมา ค่อยๆเป็นไป ไม่เร่งรีบบีบคั้น สังเกตได้ถึงความบรรจงของตัวอักษร สบายตา สบายใจ ไม่เร่งรัดตนเองและผู้อื่น”
.
/ โฉม ผู้เขียน

 

 

หลักสูตร ปฏิบัติ เขียนภาวนา
https://punnspace.com/p/practice-meditationwriting

โครงการ ห้องเรียน เขียนภาวนา
https://www.dhammaliterary.org/เขียนภาวนา/