ป่วยเพราะปิดกั้น

ป่วยเพราะปิดกั้น

ตั้งแต่วัยเด็กแล้วที่ผมมักป่วยง่ายและอ่อนแอต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เดินทางไกลเปลี่ยนที่ทีก็มักเป็นหวัดไม่สบาย ขึ้นรถและอยู่ห้องติดแอร์ก็มักวิงเวียน  โตขึ้นจึงได้หมอวินัจฉัยว่าเป็น ภูมิแพ้อากาศ พร้อมกับให้ยาทานที่ทำให้ผมเพลียและคลื่นไส้อาเจียนไปหลายวัน อยู่ใกล้คนจำนวนมากๆ ก็ทำให้ผมอ่อนแอเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นคนที่อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมพอสมควร

นี่คงเป็นหนึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้ผมเคยชินกับการอยู่ลำพังสันโดษ ในอาณาจักรขนาดเล็กของตน ณ ที่เราสามารถจัดการดูแลพื้นที่ของตนให้ตัวเราสบายใจได้ แต่เมื่อล่วงวัยมาอีกระดับหนึ่ง ผมกลับหายจากอาการภูมิแพ้อากาศและแข็งแรงขึ้น จากร่างกายที่ผอมแห้งและหม่นหมอง เป็นสมบูรณ์และผ่องใสขึ้น ไม่ได้เกิดจากกาลเวลา บางทีเวลาป่วยไข้เราก็อยากจะนอนจนมันหายป่วยแล้วลุกขึ้นไปใช้ชีวิตต่อ ความจริงแล้วเวลาไม่ได้ช่วยเรา แต่เป็นการเดินทางของร่างกายและหัวใจผ่านกาลเวลา แม้ในยามเรานอนหลับ พันธมิตรในเนื้อหนังมังสาก็หาญกล้าต่อกรกับผู้รุกรานและเหนื่อยซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ซึกหรอ เหล่านี้เรียนรู้กันตั้งแต่วัยเด็กแล้ว

ย้อนมองกลับไป ผมเห็นว่าตนเองแช่มชื่นใจสดใสขึ้นเมื่อยามเปิดรับสิ่งต่างๆ ในชีวิต ทั้งสมหวังผิดหวัง เหลียวแลมองโลกหลากแง่มุม ออกจากมุมมืดที่ตนเองเกาะกุม ตอนที่ผมย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ผมโดนเพื่อนแกล้งมาก โดนล้อหนักมาก จนไม่อยากพูดกับใคร อยู่โรงเรียนจึงเป็นเด็กเงียบๆ เรียบร้อย เป็นจนถึงมัธยมต้น แต่พอวันหนึ่งได้เข้าค่ายลูกเสือที่ภูเขาแห่งหนึ่ง เพื่อนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผมเปลี่ยนไปในตอนนั้น กลายเป็นคนร่าเริงแจ่มใส สนุกกับการเดินทางไกล อ้อมกอดของภูเขาที่แม้จะร้อนและใบแห้งสีน้ำตาลมากว่าเขียวสด เติมลมหายใจให้กับเด็กน้อยผู้เคยโดดเดี่ยวท่ามกลางตึกปูนปั้น

หลังจากร่ำเรียนกับครูน้อยใหญ่นอกโรงเรียน เห็นว่าตนเองมิได้ป่วยเพราะบรรยากาศรอบตัวเท่านั้น แต่เพราะบรรยากาศของใจด้วย มีขยะในนั้นที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่ารบกวนชีวิต ทั้งความคิดว่าตนเอง “อ่อนแอ” “ไร้คุณค่า” “ยากที่มีใครรัก” “คนอื่นๆยอมรับแต่ด้านที่ดีของผมและต้องตามใจเขา” “ผมต้อยต่ำและยากจะมีใครเข้าใจ” ความมืดมนในใจก่อตัวเหมือนเมฆดำ ใจมืดครึ้ม ยิ่งรู้สึกลังเลในคุณค่าและการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม ก็ยิ่งเก็บงำตนและเก็บตัว หัวใจก็ถูกปิด บรรยากาศภายในมืดครึ้มก็ไร้สายลมพัดผ่าน อบอ้าวอึดอัด รอถึงกาลปะทุเป็นสายฝนรวดร้าว

เมื่อบรรยากาศของใจสงบสว่างเพราะเปิดรับกับผู้คนและชีวิต เมฆหมองจางหายเพราะไม่ปิดกั้นดวงตะวันและสายลมจากธรรมชาติ เมื่อได้ฝึกตนเองผ่านการทำสมาธิภาวนา เปิดร่างกายรับพลังที่ดีในธรรมชาติและผู้คน กายจิตมิได้ปิดกั้น เห็นความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ไหลผ่านมาผ่านไปเหมือนน้ำไหลเทจากภาชนะหนึ่งไปสู่ภาชนะอื่น มิได้เก็บกลั้นจมอยู่กับมัน เป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้วที่พลังงานในกายในใจเราจะแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกับสภาพแวดล้อม ของเสียถูกถ่ายเท สิ่งที่ดีน้อมรับเข้ามา ร่างกายผมได้รับการฟื้นฟูและยืดหยุ่นต่อชีวิต

เราหลายคนไม่รู้ตัวว่าป่วยเพราะปิดกั้น คำว่าปิดกั้นนี้มิได้หมายความดังชีวิตผมเท่านั้น การอยู่ลำพังเพื่อรักษาตัวก็เป็นการสร้างขอบเขตพื้นที่ปกป้องตัวเรา แต่การปิดกั้นนั้นยังหมายถึงการจ่มจ่อมกับความป่วยและปัญหานั้นๆ การพักผ่อนเพื่อรักษาสุขภาพกายใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่การหดหู่ห่อเหี่ยวและจ่อมจมนั้นเป็นการตอกย้ำตัวเราให้ยิ่งป่วยลง

ผมจำไม่ได้แล้วว่าครั้งไหนที่ผมเป็นไข้หวัดตัวรุ่มร้อน ครูท่านหนึ่งที่อยู่ด้วยกลับใช้ให้ผมทำงานจนเหงื่อโชกกาย ใจก็คิดระหว่างทำนั้นว่า แย่แน่ ตายแน่ แต่พอทำเสร็จและพักผ่อนแล้ว ผมก็ไม่ได้แย่ลงอย่างที่นึกไว้ แตกต่างจากหลายช่วงเวลาที่ป่วยก็นอนซึมลำพังในห้องเป็นวันหรือข้ามวันข้ามคืน ฟื้นขึ้นอย่างผีดิบ

เมื่อร่างกายป่วยหรือใจป่วยก็พาให้ใจหรือกายป่วยตาม ทว่าเราปิดกั้นตัวเราให้อยู่กับแต่ความป่วยโทรมนั้นก็ยิ่งย้ำตนเองอยู่ในจุดเดิม เหมือนยามเราง่วงหรือหมดแรงเราก็อยากจะเลื้อยตัวลองนอนแผ่ แต่ยิ่งนอนเราก็ยิ่งหมดแรงและง่วงซึม การดูแลใจและกายตามที่เป็นจริงนั้นสำคัญมาก ทั้งนี้ต้องมาคู่กับการไม่ปล่อยปละและการตามใจตัว เมื่อเราตามใจที่ถูกชักนำด้วยความห่อเหี่ยวง่วงเหงา (ถีนมิทธะ) เท่ากับเรากำลังปิดกั้นตัวเองจากศักยภาพและพลังที่มีอยู่ในตนและสิ่งรอบตัว

ลองเปลี่ยนขึ้นมาลุกเดิน ลงมือใช้แรงทำงาน เราอาจพบว่าแสงสว่างไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนาฬิกาบอกรุ่งเช้า แต่เกิดจากเราตื่นขึ้นและเปิดประตูออกมา แล้วยังเกิดขึ้นเพราะเราจุดไฟ

เราปิดกั้นตัวเองเพราะกลัวว่าเราจะแย่ลงกว่านี้ แต่กลายเป็นความกลัวนั้นยิ่งทำให้เราแย่ลง ความปิดกั้นตัวเองก็มาจากการยึดถือมั่นในตัวเรา จนบางคนเลือกจะอยู่เป็นเช่นนั้น บ้างก็ตีโพยตีพายว่าตนเองเป็นหนักกว่าที่เป็นจริง ยึดมั่นกับความป่วยคือการปิดกั้นตัวเองอย่างหนึ่ง

ท่านพุทธทาสเมื่อยามเทศน์เรื่องอิทัปปัจจยตา ท่านเลือกเทศน์ในช่วงบ่ายที่ฆราวาสหลายคนอยากนอน ท่านก็ย้ำทุกครั้งว่าต้องฝึกฝืนสู้ถีนมิทธะ ฟังท่านเทศน์สู้กับความห่อเหี่ยวง่วงเหงาที่เกาะกุมใจ เปิดรับให้ธรรมะพาใจใสสว่าง ไม่ใช่ปิดกั้นให้หมองหม่น

เวลาเราง่วงหรือป่วยเราก็เผลอคิดว่าเราคงทำอะไรไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่จริงเป็นเพียงมายาจากนิวรณ์ หรือเครื่องกั้นปัญญาอันรวมถึงความห่อเหี่ยวง่วงเหงาด้วย มีหลายท่านที่มีมะเร็งอยู่ในกายแต่สามารถหยิบยื่นแสงสว่างให้แก่ผู้คนรอบตัวเขาได้มากมายนัก ยิ่งกว่าเราหลายคนที่ไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังใด

การปิดกั้นตนเองยังหมายถึงการจ่อมจมกับพฤติกรรมเดิมและความคุ้นเคยเดิม เรายึดถือไว้จนเคยชินว่าจะต้องเป็นแบบนี้หรือทำได้แค่นี้ เหมือนผมที่เคยเชื่อว่าตนเองอ่อนแอเกินกว่าจะทำงานหนัก เกินกว่าจะออกมาโลกภายนอก และต้อยต่ำเกินกว่าจะได้รับการยอมรับ จนก้าวออกมาจากมุมมืดนั้น ผมพบความรักมากมาย

หลังจากผมสอน “เด็กน้อยภายใน:คืนสู่บ้าน” เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ไข้ตัวร้อนก็ร้อนรุ่มจนหมดแรง เจ็บแปลบหัวใจบางช่วง เวียนหัวและเจ็บคอ วันจันทร์จึงนอนบ้างลุกขึ้นมาทำงานบ้าง มีความคิดกังวลใจว่าคงทำงานได้ไม่เต็มที่ เขียนหลักสูตรอบรมเดือนกันยายนได้ไม่เสร็จดี ใช้ความคิดให้คำปรึกษาก็ลำบาก คนรักไม่อยู่บ้าน ต้องกวาดถูสองชั้นลำพังหลังช่างมาซ่อมหน้าต่าง ดูแลตัวเองดูแลบ้านไม่ไปไหน หงุดหงิดโมโหใหญ่เมื่อคุยกับคนรักทางไกลแล้วอีกฝ่ายลังเลเรื่องเก่าที่ตกลงก้าวข้าม

วันต่อมาอากาศป่วยซ้ำร้ายลงจนไม่อยากลุกจากที่นอน แต่คนรักก็กลับมาพอดี ได้อ้อมกอดดูแล ระลึกถึงบทเรียนการไม่จมความป่วยไข้ได้จึงฝืนใจลุกมาทำงานบ้าง ออกไปกินข้าวข้างนอกบ้าน ร่างกายยังร้อนภายในไม่หาย “ปลิดทิ้ง”  อากาศภายนอกแม้เย็นแต่รู้สึกเปิดกว้าง ยังไม่แข็งแรงแต่รู้สึกทรงตัวกว่าอยู่แต่ที่บ้าน เหมือนได้ “ปล่อยทิ้ง” เหล่าสิ่งเกาะกุม พอกลับมาแล้วก็ตัดสินใจทำรูปอินโฟกราฟฟิก ในใจก็ไพล่คิดเป็นบางครั้งว่าจะทำได้ดีหรือไม่ ป่วยแบบนี้ แต่พอทำเสร็จกลับประจักษ์ว่าสวยกว่าก่อนหน้าเสียอีก จัดชุดสีและเรียบเรียงได้น่าอ่านขึ้น กลายเป็นว่าความป่วยทำให้ผมก้าวข้ามจากความเคยชินใช้ความคิดแบบเดิม จึงทำให้ร่างหลักสูตรไม่ได้ แต่ทำรูปที่ต้องใช้ศักยภาพสมองอีกซีกมากกว่าได้ดี

ความเคยชินที่จะคิดแบบนี้ มองโลกแบบนี้ มองตนเองและคนอื่นแบบนี้ ก็เป็นบ่อเกิดของโรคและความป่วยไข้ไม่น้อยเลย

เพราะไม่ได้ปิดกั้นอ้อมแขน จึงมีอ้อมกอด เราเปิดสองแขนเข้าหากัน ช่วยปล่อยทิ้งสิ่งที่เกาะกุมใจ ฝ่ายหนึ่งผิดหวัง ฝ่ายหนึ่งป่วยกาย เปิดแขนกอดและดูแลกันเป็นช่วงๆ ความโมโหต่อกันก็หายไปตามธรรมดา จนถึงตอนนี้ขณะพิมพ์บทความผมก็ยังรู้สึกถึงความร้อนและไข้ในตนเอง แต่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ทำให้ผมทำงานได้น้อยลงหรือเป็นทุกข์แล้ว

___
ครูโอเล่
คอลัมน์ “ไกด์โลกจิต”