รายชื่อผ่านการอบรม และ สรุปการเรียน เขียนภาวนา 2563

 

 

ส่วนหนึ่งของบทเรียน การฝึกฝน และความประทับใจจากการอบรม

“เขียนภาวนา” ในหลักสูตร #เขียนเปลี่ยนชีวิต รุ่นที่ ๔๑

 

“ประทับใจที่การฝึกเขียนขณะหายใจออก ใหม่ๆก็อึดอัดและวิตกกังวลบ้าง แต่พอเขียนบ่อยขึ้นทำให้เขียนแบบสบายๆ ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล เพราะครูสอนให้ไม่คาดหวัง ไม่คิดล่วงหน้า ไม่ต้องสมบูรณ์์แบบ แต่เป็นความรู้สึก จากประสบการณ์จริง ได้ฝึกกำหนดจิตพิจารณาไตร่ตรอง แลศึกษาเรียนรู้ธรรมะไปพร้อมกัน คุณครูแนะนำให้แก้ไขข้อบกพร่อง และทำความเข้าใจดีมาก รู้สึกมีกำลังใจและมีความสุขที่ได้เขึยน ตั้งใจจะฝึกฝนต่อไปเรื่อยให้เป็นนิสัย
.
“การอบรมสอนให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง พิจารณาหัวใจตนเอง รับรู้ เข้าใจ ความเป็นไปของชีวิต ย่อมมีได้ มีเสีย มีสมหวัง มีผิดหวัง มีพบ ก็มีพลัดพราก มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีนิวรณ์ และอกุศลที่เกิดขึ้นกับชีวิตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรให้ผ่านพ้นความทุกข์จากปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้
.
“โดยฝึกการเฝ้าดูกายขณะหายใจเข้าและหายใจออกขณะเขียน เฝ้าดูเวทนาอารมณ์ความรู้สึก กำหนดจิตจดจ่อไม่ให้ปรุงแต่ง ทำใจให้ปลอดโปร่ง และพิจารณาธรรม ความอยากได้อยากมี การยึดติดสิ่งต่างดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นอย่างไร.และจะให้ดับลงอย่างไร ตระหนักรู้ และฝึกจิตให้ว่าง ไมยึดถือตัวตน เพื่อการพ้นทุกข์และสงบร่มเย็น”
.
คุณสายอรุณ (สาย) อาชีพ รับราชการครู
.
.
“ดีกว่าที่คาดหวังไว้มากค่ะ การฝึกภาวนาโดยการเขียน ทำให้สัมผัสได้ถึงหลักธรรมต่างๆ อย่างน่าอัศจรรย์ บทเรียน และ เทคนิคการสอนดีมาก โดยเฉพาะครูโอเล่ ชี้แนะ นำทางความคิดให้อย่างชัดเจน และ แม่นยำ บางบทเรียนกระทบใจมาก และช่วยพาตัวเราออกจากเรื่องที่ติดกับอยู่ค่ะ
.
“ได้ตระหนักรู้ถึงการอยากและยึดติด ในตัวตน ของเราเอง
ได้เรียนรู้การละวาง การตัดสิน และ อัตตา ได้เรียนรู้ว่าความทุกข์ในใจ หายไปได้ ถ้าเราไม่ยึดติดกับอัตตา การให้คุณค่าและไขว่คว้าสิ่งภายนอก ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงของชีวิต
การอยากเป็นอะไรและไม่เป็นอะไร เป็นตัวทำให้เราเกิดทุกข์
การมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงในตัวเรา การใช้ชีวิตที่พอดี พอควร ตามหลัก มรรค 8
.
“การเขียนภาวนาสอนให้เราช้าลง ไม่วิ่งไล่ตามความคิด ไม่หลงไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น สอนให้เห็นความอยาก ความยึดในใจ ขัดจังหวะใจที่กำลังปรุงแต่ง ทำให้เราเกิดความสงบ สติ และ สมาธิ”
.
คุณนริศรา (นิด) อาชีพ นักธุรกิจ
.
.
“ชอบหัวข้ออยู่ในปากงูค่ะ หัวข้อนี้ทำให้เราได้ทบทวนความเป็นจริงของชีวิตปัจจุบันว่าเราใช้ชีวิตคลุกอยู่กับกิเลสอย่างอันตรายโดยไม่รู้ตัว เราต้องฝึกฝนพิจารณาตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขโดยไม่โดนเขี้ยวแห่งกิเลสทำร้าย
.
“ได้เข้าใจอารมณ์ความคิดของตัวเองมากขึ้นผ่านบทเรียน ยอมรับข้อบกพร่องที่คิดไม่ถึงว่ามีอยู่ในตัวเรา การยอมรับข้อบกพร่องนี้ทำให้เราได้เห็นถึงอารมณ์ที่เป็นกุศลและอกุศลชัดเจนขึ้น เราได้สังเกตุเห็นความละเอียดของจิตขณะเขียน เห็นอารมณ์ที่มีการผันแปรไม่แน่นอน เห็นกิเลสที่เกาะติดกับอารมณ์ และได้เรียนรู้การปล่อยวางตัวตน เมื่อปล่อยวางแล้วก็จะเห็นว่าสิ่งที่เคยคิดว่าสำคัญมีคุณค่าจนทำให้ต้องเป็นทุกข์ไม่ใช่สิ่งสำคัญอีก ไม่คิดจะยึดไว้ การค้นพบนี้ทำให้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์วุ่นวายใจก่อนที่จะเข้าอบรมค่อยๆคลายไป อาจจะยังไม่สามารถปล่อยวางได้ถาวร แต่เราได้พบวิธีการแก้ปัญหาทางอารมณ์ไม่ให้สะสมจนชีวิตมีแต่ความทุกข์
.
“สิ่งภายนอกไม่ได้มีผลให้เกิดความทุกข์ ความสุขกับเราในการดำเนินชีวิต แต่มาจากการความคิดของเราทีให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆไปเอง ลองละวางความคาดหวังในคุณค่านั้นลง ชีวิตเราจะดำเนินไปอย่างสงบผ่อนคลาย บ่อยครั้งที่เราคิดล่วงหน้าไปเองว่าจะมีสิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบใจเกิดขึ้น จิตจะปรุงแต่งฟุ้งซ่านให้เกิดความหวาดกลัว ทำให้เกิดความทุกข์ การมีสติกับปัจจุบัน ช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ฟุ้งซ่านคิดไปไกล ฝึกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เรามีสติพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีปัญญาแก้ไขปัญหาได้ทัน ไม่หลงวนอยู่ในความทุกข์
.
“เมื่อมีความวุ่นวายใจ ให้คิดช้าลง พิจารณาถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นณ.ขณะนั้น เมื่อเราช้าลงเราจะเห็นว่าอารมณ์ความวุ่นวายใจทั้งหลายมีสาเหตุจากสิ่งใด จากบทเรียนที่ได้ทำทั้งหมดสอนว่าสุดท้ายความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นจากการยึดมั่นในตัวตน ไม่ละวางกิเลส ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ จิตปรุงแต่งไปตามกิเลส เมื่อเราเอาสติมาจับอารมณ์ได้ทัน ความฟุ้งซ่านจะหยุด เมื่อจิตสงบ จิตจะมีกำลังที่จะพิจารณาลึกลงไปในอารมณ์ที่เกิดขึ้น เห็นกิเลส เห็นความยึดมั่น ฝึกให้สม่ำเสมอจิตจะคลายความยึดมั่น เห็นว่าสุขทุกข์นั้นไม่มีจริง เป็นเราที่สร้างขึ้นมาเอง ในการเขียนบทท้ายๆทำให้จิตพบความสงบมากขึ้น”
.
คุณกฤตยากร (อิ๋ว) อาชีพ เภสัชกร

 

✍️อ่านบทเรียนและความประทับใจเพิ่มเติมที่
https://drive.google.com/file/d/142Dm1bRiEQw-PQmuM6tKMFsCigKdu-66/view?usp=sharing

ติดตามกิจกรรมการอบรม
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/