๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนสอง)

 

 

๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนสอง)

 

๖ ระวังจิตถูกยึดอำนาจ :
.
ประชาธิปไตยภายนอก ได้ผู้นำจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยภายใน จิตได้ผู้นำจากสติ สำนึกคือผู้ปกครอง ท่ามกลางบุคลิกภาพย่อยหรือตัวตนอันหลากหลายเป็นประชาชน ในตัวเราประกอบด้วยตัวตนมากมาย แต่ละตัวตนคือชุดของความคิด ซึ่งประกอบไปด้วยความต้องการ ความเคยชิน ความเชื่อ และความรู้สึก ต่างผลัดกันทำหน้าที่ขึ้นมาครองเก้าอี้จิตสำนึก เป็นนายกผู้ปกครองเมืองหลวงของจิตใจ ขึ้นชื่อว่าการเมืองแล้วย่อมมีความวุ่นสลับกับความว่าง ตัวนั้นตัวตนนี้ผลัดเปลี่ยนกันมามีอำนาจ เฉกเช่นสภาพสังคมภายนอกใจ
.
อำนาจภายนอกขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก อำนาจภายในขึ้นอยู่กับปัจจัยภายใน เมื่อใดอำนาจขาดเสถียรภาพ การเมืองย่อมสั่นคลอน มิว่าเรื่องภายนอกตัวหรือภายในจิตใจตนเอง เมื่อใดการปกครองสุดโต่งหรือขาดสติ เมื่อนั้นย่อมเกิดการปลุกปั่นและขบวนการเพื่อหวังพลิกขั้วอำนาจ เป็นธรรมชาติดังลูกตุ้ม เมื่อเหวี่ยงไปในฝั่งใดถึงที่สุด ก็จะรุดรีบผันกลับมาอีกฝ่าย ทั้งอำนาจภายนอกและภายใน ต่างมั่นคงแข็งแรงที่สุดเมื่ออยู่ตรงกลาง นั่นคือภาวะทางการเมืองที่ว่างจากความวุ่นมากที่สุด
.
จิตของเราเมื่อวันใดถูกครอบงำด้วยอารมณ์อย่างหนึ่งมากเกินไปแล้ว ย่อมมีแนวโน้มที่เราจะดิ้นรนเหวี่ยงแกว่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง มิใช่เฉพาะคนมีปัญหาทางจิตใจที่จะมีสองขั้วสลับไปมาเท่านั้น แต่เราทุกคนต่างมีสองฝ่ายและมากกว่า พลิกข้างกลับไปกลับมาอยู่เสมอ
.
เมื่อใดใจเราถูกความเกียจคร้านยึดอำนาจ นานวันเข้า ตัวตนอื่นๆ ภายในก็จะเรียกร้องประท้วงเราให้ขยันขันแข็ง แต่แล้วก็เหวี่ยงแกว่งไปยังความกลุ้มกังวลใจ กลัวทำไม่ได้ กลัวทำไม่เสร็จ บีบคั้น กดดัน ไปต่างๆ นานา เมื่อจิตเกาะกุมในสิ่งใดมากเกินไป เป็นสิ่งนั้นมากจนขาดสติ วันหนึ่งก็จะแกว่งไปอีกขั้วหนึ่ง เพราะลึกๆ แล้วเราใฝ่หาความสมดุลและความเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้
.
วันดีคืนดี จากชีวิตที่มีความสุข เมื่อเผลอไผล ใจก็ถูกยึดอำนาจด้วยความคิดลบ จากปมในอดีต หรือความกลัวกังวลต่างๆ เมื่อยามมีสติก็คิดแก้ไขเรื่องใดๆ ได้ถูกต้อง แต่เมื่อยามใจถูกยึดกุมด้วยความเครียดหรือเสียใจ ปัญญาที่มีก็หายไปหมดสิ้น เมื่อใดขาดสติ จิตก็พร้อมถูกยึดอำนาจโดยกิเลสหรือสิ่งมัวหมองต่างๆ สภาพสังคมก็จะเลวร้ายลงมากขึ้น
.
แม้ว่าไม่ขาดสติ และมีสมาธิ แต่เอาสติสมาธิไปใช้ในทางหมกมุ่นและใส่ใจบางเรื่องมากเกินไป จิตสำนึกเราก็ถูกรัฐประหารโดยพรรคพวกเรื่องดังกล่าวแล้ว กลายเป็นยึดเอาสิ่งที่หมกหมุ่นเป็นเนื้อเป็นตัวตน เราก็ได้สูญเสียตัวเราอย่างที่เป็นจริงไป เมื่อใดใจตกร่องและสุดโต่ง เมื่อนั้นใจก็ถูกยึดอำนาจเช่นกัน
.
เหมือนการเมืองภายนอกที่เมื่อใดจมปลักกับขั้วอำนาจบางขั้วอยู่นานปี เมื่อถึงคราวก็ล้มลง เปลี่ยนพรรคเปลี่ยนพวกขึ้นปกครอง หรือแม้แต่เปลี่ยนระบอบบริหารใหม่ก็มี เหมือนโลกที่วันหนึ่งถูกปกครองด้วยสัตว์เหล่าหนึ่ง ถึงคราวก็ถดถอยและสูญพันธ์ุ มีสัตว์เหล่าใหม่ขึ้นแทนที่ เป็นวัฏจักรของชีวิต เป็นวงเวียนของธรรมชาติ แต่ไม่มีขั้วใดที่เป็นสุขอย่างแท้จริง สงบอย่างแท้จริงไม่มี
.
ภายในจิตเราคือการเมืองที่เปลี่ยนขั้วไปมา ทิฐิหรือความคิดความเชื่อก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน วันหนึ่งเราอาจคิดแบบหนึ่ง วันหน้าเมื่อจิตถูกปฏิวัติด้วยอารมณ์ใหม่ ความคิดก็สามารถกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนเกมเก้าอี้ดนตรี เก้าอี้คือจิตสำนึก ซึ่งพร้อมจะถูกประชาชนทั้งหลายแห่งจิต แย่งกันนั่งบัญชาการ
.
อำนาจภายในเกิดจากการรู้เท่าทันการแย่งที่นั่งจิตสำนึกเหล่านี้ ความอ่อนแอเกิดจากความประมาทและไหลตามจิตถูกยึดอำนาจวันแล้ววันเล่า ใจเราไม่อาจหาความสงบสุขได้เลย เป็นสังคมที่พร้อมจะถูกยุแยงจากกิเลสและปั่นป่วนอยู่เรื่อยๆ เหวี่ยงแกว่งไปมาอีกนานเท่านานกว่าจะรู้ว่าความสมดุลและสุขสงบอันจริงแท้อยู่ที่ใด
.
.
๗ ปรองดองจากภายใน สันติภาพแห่งใจ :
.
ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ลิ้นกับฟันย่อมพลาดทำร้ายกันเป็นเรื่องปกติ ตัวตนภายในและกลไกทั้งหลายของจิตใจอยู่ใกล้กันยิ่งกว่าลิ้นและฟัน ย่อมกระทบกระทั่งขัดกันมิใช่เรื่องเสียหาย บางครั้งสมองและหัวใจก็ไม่ลงรอยกัน ไม่รู้จะเลือกตามใจหรือตามเหตุผล เสียงบางตัวตนข้างในบอกอย่างหนึ่ง อีกฝ่ายบอกอีกอย่างหนึ่ง ความขัดแย้งมีอยู่ทั้งภายในและภายนอกตัว
.
เมื่อใดก็ตามที่ตัวตนต่างๆ ในตัวเราไม่ลงรอยกัน มีเสียงความคิดความรู้สึกเห็นต่างขัดแย้ง หรือมีบางสุ้มเสียงก่อหวอดประท้วงภายในลุกลาม นั่นคือสภาพสังคมของจิตใจที่วุ่นวายปั่นป่วน เมื่อนั้นที่ประชาธิปไตยแท้จริงจึงจะแก้ไขวิกฤตินี้ได้ ประชาธิปไตยที่มากกว่าการแย่งกันมีอำนาจ
.
หากร่างกายเราถูกกระทำอย่างเผด็จการจากการหมกหมุ่นในความคิดเกินไป ร่างกายก็จะประท้วงเรา เสียงข้างในที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับร่างกายก็จะประท้วงเราผ่านความรู้สึก หากสำนึกเราละเลยไม่สนใจความขัดแย้งนี้ เราก็จะได้ยินการประท้วงจากร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ และสภาพสังคมภายในจิตใจก็เลวร้ายลงตามอาการที่หนักขึ้น
.
การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ด้วยการ “กดข่ม” บางตัวตนและเสียงในกายจิตมิให้แผลงฤทธิ์ เป็นอุบายเฉพาะหน้าที่จำเป็น แต่วิธีนี้อย่างเดียวมิได้ช่วยให้สังคมภายในเติบโต สังคมภายนอกก็เช่นกัน หากเรามุ่งหมายสร้างสันติสุขด้วยการกดข่มคนที่เห็นต่างและความขัดแย้ง วันแล้ววันเล่า จากอุบายที่ได้ผลก็จะผันกลายเป็นการ “กดขี่” จากผู้สร้างสันติภาพก็จะกลายเป็นเผด็จการ
.
เมื่อตัวตนใดในจิตได้ถือครองอำนาจมากเกินไป ย่อมกดขี่ตัวตนอื่นภายในใจอย่างไม่รับฟัง พยายามกดข่มความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่แตกต่างหรือไม่ปรารถนา เหมือนผู้นำที่ถูกครอบงำด้วยความกลัวอำนาจจะหายไป กลัวว่าสังคมกายใจจะไม่เรียบร้อยและสงบสุข กลัวว่าจะควบคุมไม่ได้ แต่หากมิได้ใช้ปัญญาร่วมพิจารณาสาเหตุของสิ่งเหล่านั้น การกดข่มก็จะเป็นเพียงการละเลยและปิดบังปัญหาที่ยังมีอยู่ภายใน
.
การมองโลกแต่แง่บวก ก็มิใช่หนทางออกจากปัญหา เพราะเป็นการเลือกข้างรับฟังฝ่ายเดียว กดขี่ความรู้สึกอื่นๆ ที่มีอยู่ และเป็นการกลบเกลื่อนความจริงเท่านั้น การมองว่าไม่มีความขัดแย้งหรือไม่มีปัญหาทั้งที่มีอยู่ก็เป็นการหลอกตัวเอง ต้องแก้ปัญหาด้วยการยอมรับความจริง บนวิธีประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้น ประชาธิปไตยที่เกิดจากการฟัง มิใช่เพียงออกเสียง
.
การยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้น มุมมองเขาและมุมมองเราไม่สอดคล้องกันก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ต่อให้แม้เป็นความเห็นเราที่ว่าดี ก็ยังเกิดจากการปรุงแต่งของจิตใจไม่แตกต่างกัน ในตัวเขาเองก็มีตัวตนที่ขัดแย้งกันทะเลาะกันภายใน ตัวเราก็มีกลไกของจิตใจต่างๆ ที่ไม่ลงรอยกัน เรากับเขาจะขัดแย้งกันก็มิแปลก เพราะในตัวเรายังขัดแย้งเลย ความไม่สงบของสังคมเกิดจากความไม่สงบของจิตใจคนในสังคมร่วมกัน
.
ด้วยการยึดถือตัวตนแล้ว เราทุกคนมีความเป็นเผด็จการในตนเอง คือการเอาตัวตนเป็นศูนย์กลาง เมื่อขาดสติเราก็เผลอกดขี่ข่มเหงร่างกายและจิตใจตนเอง ความขัดแย้งก็จะยังมีอยู่ในจิตใจ เพราะเราไม่ได้รักตัวเองอย่างแท้จริง เรารักเฉพาะบางด้านที่ชอบเท่านั้น
.
เสียงที่ทะเลาะวิวาทหรือคอยบ่นในหัวเรา ในโทรทัศน์ ในเวทีชุมนุม ในวงคุยต่างๆ ต้องการการรับฟัง หากเรากดข่ม กดขี่ หรือกลบเกลื่อนไว้ จากเสียงกระซิบนินทาก็จะขยายใหญ่มากขึ้น เขาก็จะก่อการประท้วง เพื่อให้เสียงนั้นดังขึ้นมากพอจะมีคนได้ยิน เรื่องราวความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ดังสัญญาณเตือนจากร่างกายเล็กๆ ที่สมองไม่ค่อยรับฟัง ก่อนจะขยายใหญ่เป็นโรคร้าย
.
ทุกตัวตนที่ขัดแย้งกันในใจเรา ต่างก็มีความกลัวซ่อนอยู่ภายใน มีความต้องการหวังได้รับการเติมเต็ม และมีเจตนาที่ดีทั้งสิ้น หากสำนึกรับฟังและใส่ใจสิ่งเหล่านี้ ความขัดแย้งภายในก็จะคลี่คลาย ลองเมตตาทุกเสียงภายใน แล้วสื่อสารกับตนเองไม่หลีกหนี
.
ถามตัวตนที่ถกเถียงกันในใจเรา พวกเขาต้องการอะไร เขากลัวอะไร ไม่อยากให้เราเป็นอย่างไร แต่ละฝ่ายกำลังยึดถือกรอบความคิดและความคาดหวังต่อตัวเราแบบไหน และเราหวังให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างไร
.
เสียงทุกเสียงมีคุณค่ามิใช่แค่ในคูหาเลือกตั้ง แต่ทุกเคหาเรือนใจ ความสงบสุขแห่งสังคมจะเกิดขึ้นเมื่อเราเคารพทุกเสียง เมื่อทุกตัวตนและทุกฝ่ายในตัวเราได้รับความรักและการรับฟัง เราจะเมตตาทุกฝ่ายในการเมืองได้ เราต้องยอมรับและรักทุกฝ่ายในการเมืองของจิตใจเราเองก่อน
.
.
๘ เผด็จการคือเหรียญคนละด้าน :
.
มิว่าการเมืองภายนอกหรือภายในจิตใจ ต่างอยู่ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา” หมายถึง ไม่แน่นอน มีเสื่อมไป และไม่ใช่ตัวตน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปตามปัจจัยมากมาย เหมือนธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั่วไป ใจคนเราไม่แน่นอน การเมืองก็ไม่เคยแน่นอน
.
ความเป็นธรรมชาตินั้น จากร้อนไปหนาว หนาวแล้วร้อน อ่อนไปแข็ง แข็งแล้วอ่อน มีสองขั้วของสิ่งต่างๆ สลับหมุนเวียนไปมาเป็นวัฏจักร เรียกขั้วที่มีสภาพแบบอ่อนว่า “หยิน” เรียกขั้วที่มีสภาพแบบแข็งว่า “หยาง” ตามหลักปรัชญาเต๋า
.
การเมืองก็ดี มีสองขั้วที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมีบทบาท อาจเรียกขั้วหนึ่งว่าประชาธิปไตย อีกขั้วคือเผด็จการ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ขั้วใดเหวี่ยงสุดโต่งไปทางหนึ่งแล้วก็ย่อมแกว่งกลับมาอีกขั้วหนึ่ง เมื่อสังคมสุดโต่งไปทางประชาธิปไตย จนขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เน้นประชานิยมจนขาดวินัยการปกครอง กฎหมายย่อหย่อน เพราะสังคมมีความอ่อน หรือ “หยิน” มากเกินไป ถึงวันหนึ่งการเมืองย่อมถูกเหวี่ยงไปอีกขั้วที่แข็งกว่า เรียกว่าเป็น “หยาง” มากกว่า มิว่าด้วยการรัฐประหาร การชุมนุม หรือกลไกต่างๆ แปรสภาพการปกครองเป็นความเข้มงวดและเผด็จการมากขึ้น จนกว่าจะถูกเหวี่ยงไปเป็นอีกขั้วอีกครั้ง สลับกันเช่นนี้หยินหยางในทางการเมือง
.
ในจิตใจก็มีสองขั้วนี้อยู่ด้วย บางทีเราใจอ่อนเกินไป บางครั้งก็ใจแข็งเกินไป รับฟังคนอื่นมากบางเวลา บางคราวเราก็ยึดความเห็นตนเองเป็นหลัก บางวันเราก็ฟังเสียงหลายด้านภายในเพื่อ “ชั่งใจ” บางหนเราก็ “ช่างมัน” แล้วมุ่งหน้าทำโดยไม่ฟังเสียงกังวล จิตเรามีภาวะเป็นนักการเมืองทั้งสองขั้วนี้อยู่ ทั้งการกระทำต่อตนเองและต่อผู้อื่น
.
ยิ่งเรายึดถือตัวตนของตัวเองไว้เพียงใด เราก็เป็นเผด็จการต่อร่างกาย หัวใจ และผู้อื่นมากเท่านั้น ยิ่งเรารับฟังและเผื่อแผ่ใจแก่ทุกๆ ด้านของตนเองและคนอื่นเพียงใด ใจเราก็เป็นสังคมประชาธิปไตยมากเท่านั้น แต่หากเรารับฟังแต่ผู้อื่นโดยมิได้มีจุดยืนของตนเลย เราก็เป็นไม้ที่ปักเลนพร้อมเอนง่อนแง่น หากไม่ใช้ความเด็ดขาดเพื่อตัดสินใจในเวลาสำคัญ เราก็ไร้ภาวะผู้นำ
.
เผด็จการ คือความเป็นหยาง หรือความแข็งในธรรมชาติ เผด็จการ มีความหมายถึงการกระทำที่เด็ดขาด และการใช้อำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว สิ่งนี้หากมากเกินไปมิในตัวเราเองหรือในสังคมภายนอก ย่อมเป็นโทษมหันต์อย่างที่เข้าใจได้ทั่วไป ทว่าหากมีแต่หยินในหัวใจเราแล้ว หรือหากการกระทำ และการปกครองใจตนปราศจากหยาง ชีวิตจะเป็นอย่างไร
.
หากเราเป็นเผด็จการต่อตนเองมาก เราอาจเฝ้าคาดหวัง บีบคั้น หรือทำร้ายตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า ยึดในความมุมานะเกินพอดี นี่เรียกว่าหยินพร่อง คือมีหยางแต่ขาดหยิน หากเราตามใจแก่ตน เป็นประชาธิปไตยที่สุดโต่ง ไม่ยอมชี้ถูกผิดที่ชัดเจน กระทำไปตามความอยากจนเกิดทุกข์ ขาดการฝึกขัดเกลาตนเองเพราะปล่อยปละละเลย นี่เป็นภาวะหยางพร่อง คือมีหยินแต่ขาดหยาง
.
มิว่าเราเอนไปทางด้านใดมาก เมื่อปล่อยไว้นานความทุกข์ก็จะบีบให้ตัวตนอื่นๆ ในจิตที่อยู่ฝ่ายค้านหรือคนละขั้วกับตัวตนปกติ ออกมาประท้วงและยึดอำนาจ กายใจเราก็เหวี่ยงไปอีกฝั่ง จากหยางมาก ขยันเกินไป กลายเป็นเกียจคร้าน จากหยินมาก สบายๆ กลายเป็นหมกมุ่น หากโชคดี เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วมีปัจจัยส่งเสริมก็อาจเหวี่ยงมาพอดี ชั่วครั้งชั่วคราว
.
สังคมภายในจึงไม่อาจมีความสงบสุขได้ เพราะการเหวี่ยงไปครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการขาดสติ ไม่รู้เท่าทัน และไม่ได้เกิดจากปัญญา การสลับขั้วทางการเมืองในหัวใจจึงย่อมเป็นทุกข์ไม่มากก็น้อย มิว่าในจิตเราขณะนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการมากกว่ากันก็ตาม หากมีสติเราจะเลือกปรับสองขั้วนี้ให้พอดีแก่กาล แก่งาน แก่ตน และสิ่งทั้งหลาย
.
.
๙ สายกลางแห่งการเมืองภายใน :
.
บุคคลที่จะดูแลสมดุลระหว่างสองขั้วอำนาจของการเมืองจิตใจ ได้อย่างถ่องแท้ต้องฝึกตนเป็น “สัตบุรุษ” พุทธศาสนากล่าวว่า คนแบบสัตบุรุษนี้ มีลักษณะ ๗ ประการ ได้แก่ เป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักหมู่คน และเป็นผู้รู้จักบุคคล ทั้ง ๗ รู้จึงทำให้เราพอดีระหว่างสองขั้ว หยิน-หยาง ประชาธิปไตยและเผด็จการ ต่อการดูแลตนเองและผู้อื่น
.
ด้วยการเป็นสัตบุรุษ จึงสามารถให้ทานอย่างแท้จริง หรือช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างแท้จริงอีกด้วย โดยมีลักษณะเป็นการให้ทานอย่างสัตบุรุษ มีดังนี้
.
“ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ” *
.
นักการเมืองที่แท้จริงในสังคมควรมีลักษณะเช่นนี้ การเป็นนักการเมืองต่อโลกแห่งจิตตนเอง ก็ควรมีลักษณะเช่นนี้ ให้ทานตนเองเช่นนี้ ผ่านการใช้ชีวิต การประพฤติทางกาย วาจา และใจ จึงจะเป็นการปกครองกายจิตตนเองที่เป็นสุขแท้จริง
.
อำนาจในการปกครอง แบ่งในทางพุทธศาสนาได้ ๓ ประการ ได้แก่ อัตตาธิปไตย ยึดตนเป็นใหญ่ โลกาธิปไตย ยึดโลกและผู้คนเป็นใหญ่ และธรรมาธิปไตย ยึดธรรมะเป็นใหญ่ ซึ่งการใช้อำนาจฝึกตนเองก็แบ่งเป็น ๓ ประการเช่นเดียวกัน โดยที่พระพุทธเจ้านั้นมิได้ทรงตำหนิอัตตาธิปไตย หากแต่ทรงตรัสว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง ดังข้อความต่อไปนี้
.
“เธอย่อมสำเหนียกว่า ก็ความเพียรที่ปรารภแล้ว จักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วจะไม่หลงลืม กายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำตนเองแลให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย ฯ” **
.
กล่าวง่ายๆ ว่า ให้นำจิตกลับมาใส่ใจที่ตนเอง เห็นว่าตนเองควรแก่การพัฒนามากเพียงใด แล้วใส่ใจที่ตนเองเป็นหลัก นี่คือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในการฝึกตัวเอง แน่วแน่จริงจังอย่างเผด็จการในการขัดเกลาตน มิย่อหย่อน และมิหวั่นไหวไปกับเสียงจากผู้อื่นและสิ่งนอกตัว
.
ในพระไตรปิฎก พุทธศาสนามิได้ชี้ว่าอำนาจ ๓ แบบนี้ข้อใดดีที่สุด บางครั้งเราต้องทำตนเป็นที่ตั้ง บางครั้งต้องใส่ใจมุมมองและความรู้สึกของคนในโลก และบางคราวก็ต้องยอมขัดใจตนและคนอื่นเพื่อความจริง หรือธรรม
.
บางหนพระพุทธเจ้าต้องแสดงอิทธิฤทธิ์เหนือข้อพระธรรมวินัย ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ทำ เพื่อกำราบจิตของผู้มาที่ครอบงำด้วยทิฐิมานะ ในการตัดสินใจบางเรื่องระหว่างหมู่สงฆ์ ท่านก็มิได้บังคับ ปล่อยภิกษุตัดสินใจร่วมกันเอง บางครั้งท่านก็กำหนดขึ้นเองโดยมิได้ระดมความเห็น เราจักรู้ว่าเมื่อใดควรใช้อำนาจแบบใด เราต้องฝึกความเป็นสัตบุรุษในตนเอง เพื่อรู้ปัจจัยต่างๆ อย่างมีสติแล้วจึงเลือกใช้อำนาจได้อย่างเหมาะสม
.
หนทางสู่การสร้างสันติสุขในสังคมภายนอก และโลกภายในตัวเราเอง อยู่ในทางเดียวกันกับหนทางสู่การดับทุกข์ในพุทธศาสนา นั่นคือ “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือเรียกว่า “ทางสายกลาง” ซึ่งตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
.
“การประกอบความพัวพันกามสุขในกามทั้งหลาย อันเป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบการทำตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาอันไม่เกี่ยวข้องส่วนสุดทั้ง ๒ ประการนี้” ***
.
สุดโต่งไปในทางตามใจกิเลส ก็ไม่ใช่ทางที่เจริญ สุดโต่งไปในทางเบียดเบียนตนที่ไร้ประโยชน์ ก็ไม่ใช่ทางที่เจริญ หากสังคมในใจเราสุดโต่งไปทางประชาธิปไตย แล้ว เราก็จะสนองความอยากของตัวตนทั้งหลายในตัวเรา ใช้ชีวิตอย่างขาดวินัยและการอดทน นี่ก็จะเป็นทางแห่งความเสื่อม หากเราสังคมในใจเราสุดโต่งไปทางเผด็จการ ไม่รักตัวเอง เบียดเบียน กดดัน อยู่แต่ในกรอบ และละเลยการดูแลตนเองอย่างอ่อนโยน นี่ก็เป็นทางแห่งความเสื่อมเช่นกัน
.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทานี้นั้นแล ตถาคตตรัสรู้แล้ว ทำจักษุ ทำญาณ ย่อมเป็นไป เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ” ***
.
ด้วยหนทางแห่งความพอดีเช่นนี้ จึงทำให้เกิดสันติสุขแห่งสังคมภายใน เพื่อการดับความทุกข์ในโลกแห่งจิตตนเอง เมื่อโลกภายในของเราแต่ละคนสงบสุขมากขึ้นแล้ว ลดการสุดโต่งทั้งหลายลงแล้ว สังคมภายนอกก็จะสงบสุขมากขึ้นและสมดุลขึ้นตามลำดับเช่นกัน
.
เราทุกคนมีส่วนร่วมช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ ด้วยการกลับมาพัฒนาการเมืองในจิตใจของตนเอง ฝึกตนบนหนทางที่ไม่ย่อหย่อนและไม่เบียดเบียน ตระหนักรู้ในตัวตนต่างๆ ภายในจิตที่ยื้อแย่งแข่งกันมีอำนาจ รับฟังทุกเสียงภายในจิตใจอย่างเห็นคุณค่า เลือกด้วยสติปัญญา ผลัดการใช้อำนาจทั้งสามแบบอย่างเหมาะสม
.
การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่เริ่มต้นในจิตของเราอีกด้วย เสียงของทุกคนในสังคมมีคุณค่ามากกว่าหนึ่งเสียงในคูหาเลือกตั้ง ทุกการกระทำด้วยกาย วาจา และใจ นั่นคือคูหาที่จิตเราเข้าไปร่วมกำหนดอนาคตของสังคมโลกใบนี้แล้ว
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๑
.
.

> > > อ่านบทความนี้ ตอนแรก

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/
.
.
*จูฬปุณณมสูตร [๑๕๑ ] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
**อธิปไตยสูตร [๔๗๙] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
*** ยุคนัทธวรรค ปฏิสัมภิทากถา [๕๙๘] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค