ธรรมะ กับ เรื่องวัว สำหรับปีวัวและปีไม่วัว

 

บทความ ไกด์โลกจิต ตอนนี้ได้ขอน้อมนำข้อคิดจากพระไตรปิฎกสามข้อใหญ่ และภาพปริศนาธรรมคนจับวัว ซึ่งเชื่อมั่นว่าสามารถช่วยให้เรารอดปีวัวและปีใดๆ หลังจากนี้ รวมทั้งการเป็นนายเหนือวัวภายในตัวตนของตัวเอง ขอให้ดูรอยเท้าที่ย่ำบนพื้นแล้วเดินตามไป

.

.

1 อยู่อย่างโคประเภทใด ให้เลือกเอง :

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า วัวตัวผู้ มีอยู่สี่แบบด้วยกัน 

 

แบบหนึ่ง ระรานพวกพ้องของตัวเอง ไม่ระรานพวกคนอื่น

แบบหนึ่ง ระรานพวกคนอื่น ไม่ระรานพวกพ้องตนเอง

แบบหนึ่งก็ระรานสร้างความเสื่อมเสียไปทั่ว

แบบหนึ่งก็ไม่ระรานและไม่สร้างความเสื่อมเสียให้พวกใด *(1)

 

วัวที่ว่านั้นก็เปรียบเหมือนคนสี่จำพวก ท่านมิได้ทรงตรัสโดยตรงว่าแบบใดดีที่สุด แต่ให้เราตัดสินใจด้วยตนเองว่า จะประพฤติแบบใด และรับผลที่เป็นเช่นนั้นด้วยตนเอง

โคยังมีหลายฝูง คนก็มีหลายพวกพ้อง มีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นฝ่ายๆ มีนิสัยจำเพาะผิดแผกกัน เราจะเป็นวัวที่ยอมรับความต่าง หรือเป็นสัตว์มีเขาที่อยากเอาชนะอย่างเดียว

เราจะทำให้ปีวัวปีนี้และปีใดๆ เป็นชีวิตที่ดี ก็อยู่ที่การการวางตัวและความเป็นมิตรของตนเอง จะอยู่อย่างสร้างมิตร จะอยู่อย่างสร้างศัตรู จะเลือกทำทั้งสองอย่างกับบุคคลที่เราคิดว่าสมควรได้รับ หรือจะไม่ขัดแย้งหรือแข่งดีกับใคร เราเลือกเอง

ท้ายที่สุดแล้วกรรมที่วัวหรือตัวเราเองสร้างไว้ก็จะย้อนคืนกลับมาที่ตน

เพราะชีวิตเราคือผู้เลือกที่สำคัญ ปีใดจะเป็นปีที่ดีหรือปีชง เราเป็นผู้ตัดสินใจ จะเป็นปีแห่งสงคราม หรือปีแห่งสันติภาพ ล้วนขึ้นอยู่กับเราเลือกเป็นวัวแบบใด

คนที่เราช่วยเหลือหรืออย่างน้อยก็ไม่ประทุษร้ายแก่เขา แม้จะเป็นคนละฝ่ายกันทางความเชื่อ การเมือง หรือเทือกเถาเหล่ากอก็ตาม สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นจะคืนกลับมาที่ตัวเราเอง การไม่สร้างเวรกรรมและกรรมลบให้แก่ผู้ใด นั่นก็เป็นกรรมที่ดีที่ส่งเสริมความสุขและความสงบใจแก่ตัวเราเองแล้ว

วัวที่ระราน หากเที่ยวพาลกับพวกเดียวกันก็ยากจะอยู่อย่างเป็นสุข พาลกับพวกอื่นก็พาความยุ่งยากลำบากมาให้ทั้งตนและคนรอบข้าง พาลทั้งสองฝ่ายก็อาจพาความตายมาถึงตนอย่างง่ายดาย วัวที่รู้อยู่อย่างสันติ จึงมีชีวิตที่ยั่งยืน

.

.

2 เลี้ยงวัว เลี้ยงตัวให้เจริญ ด้วยหลักสิบเอ็ดประการ :

ในพระไตรปิฎก มีคำสอนหนึ่งความว่า การจะเลี้ยงวัวได้ดี ต้องรู้ดังนี้

 

หนึ่ง รู้รูปโค วัวเป็นอย่างไร

สอง รู้ลักษณะของโค ดีไม่ดีเป็นอย่างไร

สาม รู้กำจัดไข่แมลงวัน ชำระเนื้อตัวโคให้สะอาด

สี่ รู้ปกปิดรักษาแผลวัว

ห้า รู้สุมไฟคลายหนาวและไล่ยุงให้วัว

หก รู้แหล่งน้ำเพื่อพาวัวไปกิน

เจ็ด รู้ว่าโคกินน้ำแล้วหรือไม่

แปด รู้ที่รู้ทางที่จะพาวัวเดินท่องไป

เก้า รู้ว่าจะให้วัวหากินหญ้าและเลี้ยงไว้ที่ใด

สิบ รู้จักรีดนมให้เหลือไว้บ้าง

สิบเอ็ด รู้จักเอาใจและบำรุงรักษาพ่อโคจ่าฝูง *(2)

 

ท่านทรงตรัสเปรียบเทียบว่า ผู้ไม่รู้จักสิบเอ็ดข้อนี้ยากจะดูแลฝูงวัวให้เจริญได้ ภิกษุหรือผู้ฝึกปฏิบัติตนก็ต้องรู้จักสิบเอ็ดข้อนี้ในเชิงเปรียบเทียบด้วยเช่นกัน จึงจะดูแลตนให้เจริญได้

แม้บุคคลทั่วไปก็ตาม เมื่อรู้ในสิ่งที่ควรรู้ทั้งหลายนี้ก็จะทำให้ชีวิตของตนเองทั้งในปีวัวและปีไม่วัวให้งอกงาม

อย่างแรกต้องรู้จักรูป หมายถึง เข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ มากระทบกับการรับรู้ของเรา ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นสิ่งที่เรารับรู้ ไม่ใช่ความเป็นตัวตนและของตน

อย่างที่สองต้องรู้จักลักษณะ หมายถึง เข้าใจว่าคนดีก็ตาม คนเลวก็ตาม ต่างมีกรรมเป็นเครื่องกำหนด มีการกระทำในอดีต ปัจจุบัน และปัจจัยต่างๆ ที่ตนเคยทำเคยประสบมาเป็นลักษณะทำให้ดีเลว

อย่างที่สามต้องรู้จักไข่แมลงวันและชำระตัว หมายถึง เข้าใจการรักษาตนให้ห่างจาก อกุศลวิตก คือการคิดลบในทางพุทธศาสนา ได้แก่ คิดในเรื่องกาม การรับรู้และอารมณ์ความเพลิดเพลินทั้งหลาย , คิดในทางชัง ความไม่ชอบ ความไม่พอใจ และความขุ่นมัวทั้งหลาย และคิดในทางเบียดเบียน คิดแล้วบั่นทอนตนเองหรือคิดที่จะบั่นทอนคนอื่น

อย่างที่สี่ต้องรู้จักปกปิดรักษาแผล หมายถึง เข้าใจการสำรวมระวังในการรับรู้ทั้งหลายเพื่อมิให้ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความอยากได้ ความโกรธเกลียด และความหลงมัวเมาขึ้น

อย่างที่ห้าต้องรู้จักสุมไฟ หมายถึง เข้าใจแบ่งปันความรู้และธรรมะต่างๆ ที่ได้เรียนรู้หรือศึกษามาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

อย่างที่หกต้องรู้จักแหล่งน้ำ หมายถึง เข้าใจการเป็นผู้คงแก่เรียน รู้สอบถาม สืบค้น ขวนขวายการศึกษา และรู้รับฟังคนอื่นให้เกิดปัญญา

อย่างที่เจ็ดต้องรู้จักว่าดื่ม(ธรรมะ)แล้วหรือไม่ หมายถึง เข้าใจนำสิ่งที่เรียนรู้ ข้อคิด รวมถึงธรรมะต่างๆ มาใช้แก่ตัวเอง และซึมซับบทเรียนต่างๆ ที่มีผู้สอนแก่เราอย่างซาบซึ้งยินดี

อย่างที่แปดต้องรู้จักทาง หมายถึง เข้าใจอริยมรรคองค์ 8 ประการ เป็นทางชีวิตที่ควรก้าวเดินไป อันประกอบด้วย ความเชื่อที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การคิดที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การสื่อสารที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ความประพฤติที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การหาเลี้ยงชีพที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , ความเพียรที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , มีสติ และ มีสมาธิ อย่างเหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์

อย่างที่เก้าต้องรู้จักที่เลี้ยงวัว หมายถึง เข้าใจการฝึกสติปัฏฐาน 4 ดำรงสติอยู่กับปัจจุบัน และเจริญสมาธิภาวนา

อย่างที่สิบต้องรู้จักรีดนมให้เหลือ หมายถึง เข้าใจความพอดีในการบริโภค การใช้สอย และการแสวงหาหรือรับมาซึ่งสิ่งของต่างๆ จากคนอื่น มิให้ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น

อย่างที่สิบเอ็ดต้องรู้จักเอาใจและบำรุงรักษาพ่อโค หมายถึง เข้าใจการบูชาคุณของครูบาอาจารย์และผู้ใหญ่ มีสัมมาคารวะ มีความประพฤติต่อท่านที่เหมาะสม และรู้จักกตัญญู

ผู้รู้แล้วปฏิบัติทั้งสิบเอ็ดข้อนี้ มิว่าในปีวัวหรือปีใดๆ ก็จักเป็นปีที่เจริญ

.

.

3 ตัดกระแสมารเหมือนโคตัดกระแสน้ำ :

ยังมีพระพุทธพจน์อีกส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกที่ทรงเปรียบเทียบคติสอนใจกับการทำหน้าที่ของโคบาล คือผู้เลี้ยงฝูงวัว

ท่านทรงตรัสเล่าว่า กาลครั้งหนึ่ง มีโคบาลหนึ่งคนเป็นผู้ขาดปัญญา นำฝูงวัวฝ่ากระแสน้ำไป โดยไม่คำนึงว่าตอนนั้นเป็นช่วงท้ายฤดูฝน ไม่รู้ว่าตรงไหนควรข้ามไม่ควรข้าม และไม่รู้ว่าควรพาฝูงวัวไปขึ้นฝั่งใด จนท้ายที่สุดเหล่าโคที่เขาพามาก็ถึงความพินาสอยู่กลางกระแสน้ำนั้น

เปรียบเหมือนมีผู้นำที่ขาดสติปัญญา ไม่รู้จักความเป็นไปของโลก ไม่เข้าใจในบ่วงมารว่าสิ่งใดบ้างที่ผูกรัดจิตใจของเราไว้กับความทุกข์ ไม่รู้จักการหลุดพ้นไปจากความทุกข์ จึงนำพาคนที่ต้อยตามลงไปสู่กระแสมาร

ขณะที่ยังมีโคบาลอีกผู้หนึ่ง เป็นคนที่รู้จักพิจารณาฤดูกาล รู้ทำเลที่เหมาะจะพาข้ามไป รู้ว่าควรพาฝูงวัวขึ้นฝั่งใด และรู้ว่าควรให้โคจ่าฝูง พ่อพันธ์ุ แม่พันธุ์ และตัวใหญ่แข็งแรงได้เดินลุยต่อ ตามด้วยโคหนุ่มโคสาว และลูกวัว ตามลำดับ

เขาคนนี้สามารถพาฝูงวัวของตนตัดผ่านกระแสน้ำได้สำเร็จ *(3)

การล่วงพ้นจากบ่อเหตุแห่งทุกข์ของเรา มิว่ามากหรือน้อยเท่าใด เราก็จะช่วยให้มีคนตามเรามา มิว่าคนรอบตัว ครอบครัว ลูกน้อง มิตรสหาย หรือคนที่เราใส่ใจ หากปรารถนาให้เขาพ้นจากอุปสรรคหรือภัยทั้งหลาย เราก็ต้องเพียรฝ่าข้ามกระแสมารออกมาด้วยปัญญาเสียก่อน

กระแสที่ว่านี้ก็คือกระแสของตัณหา คือความอยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็นทั้งปวง ซึ่งจะพาไปสู่วังน้ำวนที่ดูดกลืนสัตว์ทั้งหลาย เรียกว่า สังโยชน์ เป็นกิเลสที่ผูกมัดใจเราให้อยู่กับบ่วงทุกข์ อันได้แก่ 

 

การยึดมั่นกายใจเป็นตัวตนของตน 

ความลังเลเคลือบแคลงใจ 

ความถือดีไม่อยู่ในวินัยกับครรลองที่ควร 

ความหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กับอารมณ์น้อยใหญ่

ความกระทบกระทั่งขุ่วมัวทางใจทั้งหลาย 

ความหลงยึดในรูปธรรมอันละเอียดลออ

ความหลงยึดในนามธรรมต่างๆ

ความสำคัญตนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ความฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย

ความไม่รู้จริงคิดไปเอง

 

การจะข้ามแม่น้ำเชี่ยว ต้องมีสติและปัญญาหาทางข้ามไป เช่นกันกับกระแสมารที่จะพาผู้คนและสัตว์น้อยใหญ่ไปสู่วังวนแห่งความเสื่อมและทุกข์ไม่สิ้นสุด 

ข้ามได้มากข้ามได้น้อย พึงพิจารณาตนเองและเล็งหาทางที่เหมาะสม

หากเราไม่เป็นผู้นำ ก็จงตามผู้นำที่ถูกควร ด้วยการศึกษาธรรมะและบทเรียนทั้งหลายที่ดี ซึ่งต้องนำเราไปสู่ทางหลุดพ้นจากความทุกข์ มิได้ส่งเสริมโลภ โกรธ และหลงให้มากขึ้น

ค่อยๆ ดำเนินตามท่านและคติสอนใจเหล่านั้นไป เหมือนลูกวัวตัวน้อยอยู่แถวหลัง ตามเสียงท่านร้องเรียก

ทำได้มากน้อยเพียงใดเดี๋ยวก็มีผู้ตามเรามาเอง ขอเพียงเราเริ่มต้นที่ตัดกระแส

การละวางในสังโยชน์ ฝืนตัณหาคือความอยาก และลดทอนโลภ โกรธ หรือหลง แม้เพียงสักเสี้ยวหนึ่งหรือแม้เพียงข้อหนึ่งข้อใด อุปสรรคบางอย่างในชีวิตก็จะลดน้อยลงไปแล้ว

ชีวิตปีนี้จะเป็นปีที่ดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรากล้าหาญที่จะทวนกระแสภายในใจของเราเองอย่างไร 

.

.

4 จับปีวัวให้อยู่มือ เรียนรู้จากภาพปริศนาธรรม :

มีภาพปริศนาธรรมที่โด่งดังอยู่ชุดหนึ่งซึ่งเรียกว่า Ten Ox Herding Pictures หรือในภาษาไทยเรียกว่า ภาพคนจับวัว หรือ คนฝึกวัว มีอยู่ทั้งหมดสิบภาพด้วยกัน

โดยสันนิฐานว่าอาจมีที่มาจากการตีความและเชื่อมโยงหลักธรรมใน โคปาลกสูตร , สติปัฏฐานสูตร และ มหาสติปัฏฐานสูตร ภาพชุดนี้มีอยู่หลายเวอร์ชั่นด้วยกัน มาจากพระบ้าง นักปฏิบัติธรรมบ้าง ศิลปินในอดีตกาลบ้าง เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาสอนธรรมแก่ใจคนชม

ภาพปริศนาธรรมนี้มีนัยยะทั้งในแง่ของการฝึกสมาธิภาวนา และการใช้ชีวิต ดังการตีความของท่านพุทธทาส โดยสรุปดังนี้

เป็นการบรรยายชีวิตตั้งแต่แรกเริ่มจากการที่ไม่รู้ประสีประสาอะไรอันเกี่ยวกับชีวิต เป็นลำดับมาจนกระทั่งมองเห็นร่องรอยแห่งชีวิต เดินตามรอยแห่งชีวิต สำเร็จประโยชน์ในการมีชีวิตอย่างโลกอย่างเต็มที่ ได้เสวยผลของชีวิตอย่างโลกๆ ถึงที่สุดแล้ว ในที่สุดก็เบื่อระอา เลิกความสนใจในเรื่องโลกและเรื่องตัวเอง เรียกว่าถึงความว่าง แล้วก็เกิดเป็นสิ่งที่ผลิขึ้นมาใหม่ในฝ่ายโลกุตตระหรืออสังขตะ มีชีวิตเพียงเที่ยวแจกของส่องตะเกียง” *(4)

ผู้เขียนขอนำภาพปริศนาธรรมนี้มาบรรยายเชื่อมโยงเป็นหลักคิดในการใช้ชีวิตปีวัวและปีไม่วัว ทีละภาพ (ชมภาพปริศนาธรรมท้ายเว็บไซต์นี้) ได้แก่

 

หนึ่ง ภาพเป็นคนธรรมดากลางพงไพร มีฉากหลังเป็นภูเขาในม่านเมฆ มีทีท่าฉงนสงสัยและเขลาหลง ไม่รู้จักความหมายของชีวิต ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเพื่ออะไร ยังไม่มีเป้าหมายของตนเอง

สอง ในภาพนั้นเอง คนๆ เดียวกัน เริ่มเห็นร่องรอยเท้าของสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งก็คือวัว เป็นรอยก้าวทอดไป เขาเริ่มสนใจและตามติด เหมือนกับชีวิตที่เริ่มเห็นเป้าหมายลางๆ เริ่มรู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่ออะไร โดยมันอาจจะเป็นร่องรอยที่มาจากนอกตัว เช่น คนอื่นบอกมา เป็นค่านิยม มีตัวอย่างจากคนอื่น หรือทำตามสิ่งที่สังคมบอกให้ทำ

สาม คนๆ นี้ ในที่สุดก็ได้เจอวัว แต่เจอแค่ก้น จากเดิมที่ค่อยๆ เดินตามรอยเท้า ตอนนี้เห็นเป้าหมายชัดเจนก็วิ่งเข้าหา เหมือนกับคนที่หาเป้าหมายของตนเองเจอ หาแรงบันดาลใจเจอ หรือหาความต้องการของตนเองได้ ก็มีพลังมุ่งหน้าไปสู่สิ่งที่ฝันไว้

สี่ เมื่อเข้าถึงวัวแล้วก็ปลุกปล้ำกันน่าดู จับสายคล้องวัวไว้มั่น อีกฝ่ายก็พยายามวิ่งสะบัด ต่อสู้กันระหว่างคนกับวัว เหมือนที่เราต่อสู้กับชีวิต ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มั่นหมาย เพื่อที่จะควบคุมเจ้าวัว หรือชีวิตของตนเอง หรือสิ่งที่ปรารถนาไว้ให้ได้

ห้า คนในภาพปราบวัวได้สำเร็จ กลายเป็นวัวเชื่อง ให้เขาจูงเดินไปแต่โดยดี มีสายผูกโยงจูงจมูกเพื่อควบคุม กำแซ่ไว้เตรียมฟาดเพื่อปราม เป็นนายแก่วัวอย่างสมบูรณ์ เหมือนที่คนได้สิ่งที่หวังครอบครองสำเร็จ เป็นนายแก่ชีวิต ได้ควบคุมสิ่งที่ต้องการให้เป็นไปตามใจตน แต่ยังต้องคอยระมัดระวังและจัดการ

หก จากวัวที่เดินอย่างยอมจำนน ตอนนี้ก็กลายเป็นวัวร่าเริง คนขี่หลังก็ร่าเริง เป่าขลุ่ยขี่กลับบ้านไปอย่างผาสุข ถึงพร้อมด้วยสิ่งที่ปรารถนา เช่นคนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็เฉลิมฉลองยินดี เบิกบานใจ ไม่ต้องเคร่งเครียดหรือวิตกกังวลแล้ว

เจ็ด กลับมาอยู่ลำพังคนเดียว ทิ้งวัว ทิ้งความเป็นเจ้าของวัว อยู่บ้านเดียวดาย มองขึ้นฟ้าดูดวงตะวันส่องฉายยามอรุณรุ่ง ผ่อนคลายจากการยึดถือสิ่งที่แสวงหวังมา ปลงๆ กับการจะต้องหามาใหม่ เบื่อหน่ายกับการต้องดิ้นรน

แปด เป็นวงกลมแห่งความว่าง ไม่มีทั้งคน ไม่มีทั้งวัว ไม่มีบ้าน ไม่มีต้นไม้ ไม่มีตะวัน มีแต่ความว่าง สุดท้ายสิ่งที่หามาและความสุขทั้งหลายก็หายไปไม่มีเหลือ เป็นแค่ของว่างเปล่า ความอยากหาให้ได้มาให้ได้มีก็ว่างเปล่า

เก้า เป็นภาพของต้นไม้ที่ยอดอ่อนๆ กำลังแตกช่อผลิบานออกมา มีบรรยากาศของความสดชื่นและงอกงาม เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นใหม่ เป็นการเกิดใหม่ของชีวิต จากความเข้าใจในโลกที่มากขึ้น

สิบ คนๆ เดิมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่มีวัวให้ขี่หรือจูง เดินไปอย่างปอนๆ คอยแจกตะเกียง เสมือนปัญญาและสิ่งที่ดีให้กับผู้อื่น ใบหน้ายิ้มแย้มเบิกบาน ไม่มีม่านหมอกใดๆ ในภาพอีกแล้ว มีแต่ความชัดเจน

 

ปริศนาธรรมในภาพเหล่านี้สอนอะไรแก่เรา หากวัวนั้นก็คือชีวิตในปีวัวและปีอื่นๆ 

หากวัวในภาพเป็นดั่งเป้าหมายที่เราไล่ตามไขว่คว้า 

ภาพเหล่านี้กำลังให้ข้อคิดอะไรกับเรา เพื่อจะใช้ชีวิตในปีวัวและปีไม่วัวอย่างมีความสุขและมีความหมาย

เรากำลังเป็นเหมือนคนในภาพใด อยู่ตรงจุดไหนของปริศนาธรรมทั้งสิบภาพ บางเรื่องเราอาจเป็นดังภาพหนึ่ง บางเรื่องเราอาจเป็นอีกภาพก็ได้

บางทีวัวในภาพ มุมหนึ่งก็บางสิ่งบางอย่างในใจเราเอง สิ่งที่เราควรดูแลและจัดการ แล้วจึงปล่อยวาง

พินิจให้ดีด้วยปัญญา และสติในปัจจุบัน

 

 

อนุรักษ์ ครูโอเล่

คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 59

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต :

www.dhammaliterary.org/คอลัมน์ไกด์โลกจิต/

> > > สามารถสนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา

www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

*(1) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พลิพัททสูตร [๑๐๘]

*(2) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสกเอกาทสกนิบาต โคปาลกสูตร [๒๒๔]

*(3) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๔. จูฬโคปาลสูตร อุปมาด้วยนายโคบาล [๓๘๘]

*(4) ท่านพุทธทาส บรรยายภาพปริศนาธรรม ชุดจับวัว (ฝึกวัว) https://www.pagoda.or.th/buddhadasa/2019-05-24-06-28-44-2.html