“ตามขุด” คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๔

ความหลังครั้งยุวชนสยาม

คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๔

ตอน “ตามขุด”

เขียนโดย ประชา หุตานุวัตร

เขียนเสร็จเมื่อปลายเหมันต์ ปี ๒๕๔๘ แก้เกลาใหม่ ตุลาคม ๒๕๕๘

กระท่อมน้อยในทุ่งฝัน ชุมชนฟินด์ฮอน สก๊อตแลนด์

 

เมื่อมาถามตัวเองตอนนี่ว่าอะไรทำให้พวกเราในวัยนั้น เอาจริงเอาจังกับการตั้งกลุ่มยุวชนสยามโดยมีเพียงอุดมคติกว้างๆว่าจะทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ยังไม่มีอุดมการณ์อะไรให้ยึดมั่นจริงจังนัก และหลายคนในหมู่พวกเราก็เป็นพวกเรียนดี เอาดีตามที่สังคมสมัยนั้นยกย่องได้สบายๆตามวิถีของตนๆ ผมเข้าใจว่ามีหลายเหตุปัจจัยยากที่จะหาข้อสรุปทั่วไปได้ แต่เท่าที่พอเห็นและสังเกตได้และมองย้อนหลังไปสี่ทศวรรษ ประการแรกน่าจะเกิดจากความแปลกแยกอันเนื่องมาจากการแก่งแย่งแข่งขันในหมู่นักเรียนเรียนดีประการหนึ่ง ประการที่สองน่าจะเป็นความมันอันเกิดจากการได้ทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ประการสุดท้ายน่าจะเป็นเพราะเราเริ่มได้รับกระเส็นกระสายของวัฒนธรรมคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยกลุ่มที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะจากประวัติของโกมล คีมทอง

สี่ปีกว่าในสวนกุหลาบก่อนที่ชีฯจะมาชวนผมตั้งกลุ่มนั้น ผมรู้สึกได้ว่าการแข่งขันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อนจริงๆน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะนับแต่เมื่อขึ้นชั้นม.ศ.๒ และผมเลื่อนจากห้องราชินีมาอยู่ห้องราชา สมัยนั้นสอบไล่ชั้นม.ศ.๕เป็นข้อสอบส่วนกลาง และมีการเทียบคะแนนทั่วประเทศ  โรงเรียนผมและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจะผลัดกันได้ตำแหน่งที่หนึ่งประเทศไทยกันเป็นประจำ นอกจากนั้นนักเรียนที่ได้ตำแหน่ง ๕๐ คนแรก จะได้รับการจารึกชื่อไว้บนกระดานเกียรติยศของโรงเรียน เรียกว่าติดบอร์ด เมื่อมาอยู่ห้องราชา ที่มีอยู่ประมาณ ๓๐กว่าคน ตำแหน่งที่หนึ่งประเทศไทยก็ต้องถือว่าเป็นไปได้สำหรับทุกคน

จำได้ว่าตอนอยู่ชั้นม.ศ.๓ ยังสนุก ตอนพอขึ้นถึงชั้นม.ศ. ๔ ผมก็ล้าเต็มที เพื่อนสนิทเหลือเพียงคนสองคน ทุกคนเอาแต่เรียน เวลาสอบบางคนถึงกับมือไม้สั่นเพราะความวิตกกังวล แม้ผมจะออกจากโรงเรียนมานาน แต่ยังฝันร้ายเรื่องสอบเสมอๆเป็นสิบปี  แต่ตอนนั้นความล้า ความอึดอัดนี้ไม่มีคำอธิบาย ผมก็ได้แต่โทษตัวเองว่าเราไม่เก่งพอ เราไม่แน่พอ เราคงไม่ได้ที่หนึ่งประเทศไทยหรอก ตัวเองไม่ได้เก่งกาจแค่ไหน ที่มาอยู่ห้องราชาได้ก็เพราะขยันดูหนังสือ เราฉลาดสู้คนนั้นไม่ได้ คนนี้ไม่ได้

แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึงเมื่อรุ่นพี่ชั้นมศ๕มาชวนไปจัดงานประจำปีที่เรียกวางานสมานมิตร รุ่นพี่คนนี้ชื่อพินิจ เป็นนักเรียนห้องราชาชั้น มศ๕ สายวิทยาศาสตร์ ผมไปเป็นลูกมือว่างั้นเถอะ พองานสมานมิตรจบ ผมก็ใจแตก เพราะรู้รสเสียแล้วว่าการทำกิจกรรมนี่มันแค่ไหน

ส่วนใหญ่เราทำงานกันตอนโรงเรียนเลิก จึงสามสี่ทุ่ม ก่อนกลับบ้านรุ่นพี่ก็จะพาไปเลี้ยงราดหน้ายอดผักที่ข้างโรงหนังเอ็มไพร์ ที่อยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนนัก ถ้าจำเป็นเราก็จะโดดเรียน ออกไปซื้อของบ้าง ออกไปติดต่อคนมาแสดงงานบ้าง ผมเห็นพี่พินิจทำงานเอาจริงเอาจัง เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างการติดตั้งระบบไฟฟ้าของห้องประชุมใหญ่ พวกเราทำกันเองหมด ชื้อของเอง เดินสายไฟเอง ต่อไฟเอง เพราะเรียนมาแล้วแต่ชั้นมศ ๒ ไม่มีครูบาอาจารย์มากำกับเลย

เป็นอีกโลกหนึ่งที่ผมไม่รู้จัก ได้ออกจากโลกของการเรียนเพื่อตัวเองจะได้ตำแหน่งดีๆ มาทำอะไรที่ “เพื่อส่วนรวม”แม้จะเป็นนามธรรมในแง่เป้าหมาย แต่ตัวกิจกรรมเห็นกันจะแจ้ง นักเรียนเป็นร้อยเป็นพันได้สนุกกับกิจกรรมที่เราจัดขึ้น แม้จะเหนื่อย เพราะต้องยกโต๊ะขนโต๊ะสารพัด แต่ก็ได้รับความพึงพอใจมาก  การได้ร่วมคิดร่วมตัดสินใจทำโน่นทำนี่ด้วยตนเองน่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดความแปลกแยกลงไปได้มาก

ผมเข้าใจว่าผมเคยถามพี่พินิจว่ามาทำกิจกรรมอย่างนี้แล้ว ไม่กลัวไม่ได้ที่หนึ่งประเทศไทยหรือ แกหัวเราะหึๆ แล้วถามกลับมาว่า

“เอาไปทำไม ที่หนึ่งประเทศไทย”

ผมเข้าใจว่าพองานจบกลับมาห้องเรียนอีกครั้ง ผมก็สงบใจก้มหน้าก้มตาเรียนไม่ได้อีกต่อไปเสียแล้ว  เนื่องจากผมชอบภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐาน ผมก็เริ่มไปช่วยรุ่นพี่อีกคนที่ทำงานชมรมภาษาอังกฤษ พี่คนนี้อยู่แผนกศิลป์ ทำให้ผมเป็นประธานชมรมในปีต่อมา

นอกจากจะโดดเรียนเป็นประจำแล้ว ผมคงเริ่มขวางโลก เริ่มไม่เดินตามค่านิยมของเด็กห้องราชา และเริ่มอ่านหนังสือนอกหลักสูตร จำได้ว่ามีเพื่อนชื่อเบญจะ เห็นผมแปลกๆไป วันหนึ่งเขาก็พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับพี่ชายเขาในมหาวิทยาลัยที่ผมฟังแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่วันรุ่งขึ้นเขาก็เอาหนังสือของพี่ชายมาให้ผมอ่าน ชื่อ “จิตว่าง” โดย พุทธทาสภิกขุ นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนภูมิสถาปัตย์ของโลกแห่งความคิดอ่านของผม ไม่นานผมก็เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง เพราะจากเล่มเล็กๆที่ตอนหลังรู้ว่าเป็นเล่มที่ คุณปุ่น จงประเสริฐ ย่อมาแล้ว ผมก็ได้ไปหาหนังสือของท่านอาจารย์แห่งสวนโมกข์มาอ่านเกือบทุกเล่มที่มีขายอยู่ในตลาด อ่านอยู่เป็นเดือน อ่านเกือบตลอดเวลา ข้ามปี ผลพวงของการอ่านแบบนี้ นอกจากจะทำให้หนีโรงเรียนไปสวนโมกข์ในปีต่อมาแล้ว ยังทำให้ปักใจแน่ว่าอุดมคติชีวิตแบบชนชั้นกลางที่เคยตั้งไว้ตลอดมาไม่ได้เรื่องเสียแล้ว

ที่เคยคิดว่าต้องเรียนหมอ หรือวิศวฯ ต้องทำงานมีเงินมากๆ มีบ้านหลังใหญ่ๆ มีรถขับ มีเมียสวยๆ วิมานในอากาศเหล่านี้ ถูกลื้อลงมากองเป็นขยะอยู่กับพื้นดินเสียแล้ว  อุดมคติใหม่ที่เกิดขึ้นเงียบๆก็คือเราต้องเลื่อนขั้นตนเองในทางธรรม อย่างน้อยในชีวิตนี้ควรได้ถึงโสดาบัน อะไรปานนั้น

อาจเป็นเพราะไปซื้อหนังสือที่ร้านธรรมบูชาของคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ เป็นประจำก็ได้ ทำให้ผมได้พบกับรุ่นพี่แผนกศิลป์อีกคน คือสถาพร ลิ้มมณี จากพี่สถาพรนี่เองที่ผมได้อ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นครั้งแรก ในยุคที่สุชาติ สวัสศรีเป็นบรรณาธิการ เล่มแรกและเป็นเล่มที่มีอิทธิพลกับผมมากคือฉบับคนหนุ่ม บมความหนึ่งเขียนทำนองว่า สังคมไทยไม่มีคนหนุ่มสาว เรามีแต่เด็กและคนแก่ เพราะเราสอนคนให้เป็นเด็กตลอดเวลา และพอเลิกเป็นเด็กก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบไปแล้ว ความเป็นตัวของตัวเองไม่เคยมี ความข้อนี้ทำให้เกิดเรื่องในห้องเรียนใหญ่โต

เช้าวันนั้น ก่อนเข้าห้องเรียน ตอนอบรม หลังเคารพธงชาติ อาจารย์ใหญ่ประกาศว่าสารวัตรนักเรียนจับนักเรียนสวนกุหลาบได้สามสี่คนที่พากันไปดูหนังตอนชั่วโมงเรียน ผมจำได้คร่าวๆว่าเป็นโรงหนังแกรนด์ที่แถววังบูรพา เดินจากโรงเรียนไปไม่ไกล พอเข้าห้อง ชั่วโมงแรกเป็นวิชาหน้าที่พลเมืองศีลธรรมพอดี อาจารย์ที่สอนเป็นอาจารย์ประจำชั้นด้วย ผมและเพื่อนๆเบื่อวิธีสอนของแกมานาน เพราะแกมาตะเบ็งอ่านหนังสือเรียนให้เราฟัง เรารู้สึกว่าเราไปอ่านเองก็ได้ จำได้ว่าเสียงแกคับห้อง เวลาแกเสริมอะไรเพิ่มเติมจากหนังสือก็มีลักษณะเทศนา ทำให้เรารู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้เรื่อง

ครูประเภทนี้เองที่ทำให้เด็กอยากต่อต้าน อยากทำในสิ่งที่แกบอกไม่ให้ทำ ไม่ต้องใครอื่น ลูกชายแกเองที่อยู่ชั้นมศ๕เราเห็นก็รู้ว่าเป็นเด็ก “เก” ตามมาตรฐานของแก ประเภทกางเกงขารีบเสื้อตัวใหญ่ๆ เราก็นินทาในใจว่าลูกตัวเองยังสอนไม่ได้เลย เช้านั้นแกก็เอาเรื่องเมื่อหน้าเสาธงมาพูดต่อ ประณามเด็กเหล่านั้นซ้ำลงไปอีก ทำนองว่าเด็กห้องราชาต้องไม่เป็นอย่างนั้น

ผมไม่ชอบที่เอาห้องเราไปเปรียบกับห้องอื่น ทำให้เกิดการแบ่งชั้นกันมากขึ้นไปอีก และทำให้เราคบเพื่อนห้องอื่นยาก ประกอบกับร้อนวิชาที่อ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับคนหนุ่มมา ผมก็ลุกขึ้นเถียงเป็นชุด  ชนิดคำไม่ตกฟาก ความไม่มั่นใจก็ทำให้น้ำเสียงยิ่งออกก้าวร้าว

อันที่จริงเพื่อนอีกหลายคนก็ชอบเถียงครูบาอาจารย์ แต่ส่วนมากเป็นการลองภูมิและหมิ่นภูมิอาจารย์วิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  ครูบาอาจารย์บางคนก็รู้แค่ในตำราเรียน เพื่อนบางคนที่เก่งวิชาเหล่านี้ เริ่มเรียนสูงขึ้นไปด้วยการอ่านเองจากห้องสมุดบริติชเค้าซิลที่อยู่ใกล้โรงเรียนในตอนนั้น และเข้าใจพื้นฐานบางอย่างที่เราเรียนมากกว่าที่ครูอาจารย์เข้าใจ ผมเห็นเพื่อนบางคนทำแบบนั้นผมก็หมั่นไส้เพื่อนอยู่บ้าง แต่บางทีอาจารย์ก็ไม่เป็นผู้ใหญ่ เพื่อนบางคนถามเพราะความไม่รู้ แต่อาจารย์มีปมอยู่แล้ว และรู้ว่าไอ้เด็กห้องนี้บางคนมันรู้มากกว่า พอตอบไม่ได้ก็พาล

ผมจำได้ว่าวันหนึ่ง ในวิชาคณิตศาสตร์ ศุภมิตรยืนขึ้นถามว่า loge คืออะไร อาจารย์วรรณ จันทรเพชรตอบไม่ได้ โกรธหัวพัดหัวเหวี่ยง บอกว่าในหนังสือก็มีนิยามอยู่แล้ว นี่ก็จริงอยู่ แต่อ่านแล้วมันไม่เข้าใจ เพื่อนคนนี้เป็นเด็กเรียบร้อย เป็นหัวหน้าห้องด้วย  ตอนหลังก็มาเป็นกำลังของค่ายยุวชนค่ายแรกด้วย ผมก็รู้สึกเห็นใจเพื่อน การเรียนหลายวิชา เราก็ทำแบบฝึกหัดแก้โจทย์ ไปตามตัวอย่างที่หนังสือให้มา พวกเราก็ทำได้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ที่มาที่ไป ต่อมาจึงรู้ว่าโทษครูบาอาจารย์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะระบบของเราไม่ได้สอนเรื่องเรื่องประเด็นพื้นฐานมาแต่แรก ทั้งยังไม่ได้สอนให้มีวิจารณญาณด้วย ทั้งระบบเป็นแบบนี้ตราบจนทุกวันนี้ เพราะเหตุนี้ เราจึงยากที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ของเราเอง

แต่ต้องกล่าวไว้ในที่นี่ด้วยว่าครูบาอาจารย์ที่รู้จริงและรู้สึกในวิชาที่ตนสอนก็มีอยู่หลายคนในโรงเรียน ชั้นมศ ๔นั้นอาจารย์พินิจ สอนวิชาชีววิทยาเป็นท่านหนึ่งที่เรานับถือ ผมยังจำได้ที่แกบอกว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยานั้น แม้ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต แต่ไม่รู้หรอกนะว่าจริงๆแล้วชีวิตคืออะไร ชั้นปีหนึ่งเราก็จะมีครูบาอาจารย์ประเภทนี้ ปีละคนสองคน บางทีก็เป็นวิชาทางด้านภาษา บางทีก็เป็นทางด้านสังคมศาสตร์ แม้อาจารย์วรรณเองก็มีข้อดี ท่านเป็นคนไชยา และเป็นคนแรกที่พูดถึงท่านอาจารย์พุทธทาส แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าแกพูดถึงอะไร

แต่ผมรู้ว่าท่านพูดถึงอาจารย์พุทธทาสก็เมื่อผมมาอ่านหนังสือของท่านอาจารย์แล้ว และอาจารย์วรรณนี่เองที่ให้ข้อคิดสำคัญในวันหนึ่ง ว่า สังคมเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับครู “พวกห้องเธอมีใครไหมที่จะเรียนครู” ทุกคนต่างก็จะเรียนหมอ เรียนวิศวะ เรียนสถาปัตย์กันหมด เราจึงไม่ได้คนที่คุณภาพที่สุดมาเป็นครู นี่คงเป็นคำท้าทายที่ซ่อนอยู่ลึกๆในใจผม เมื่อผมตัดสินใจเรียนครู ก็นึกถึงคำพูดของแกอยู่เป็นครั้งคราว

กลับมาเรื่องผมกับครูประจำชั้น เถียงกันได้พักใหญ่ อาจารย์ ก็บอกว่า “ถ้าเธอไม่เต็มใจเรียนกับฉัน ฉันก็ไม่เต็มใจสอนเธอ” ผมนั่งอยู่แถวหน้าติดประตูทางออกพอดี ผมก็ลุกขึ้นเดินออกจากห้องทันที ทั้งมานะและโทสะคงทำงานเต็มที่ ในแง่หนึ่งการทะเลาะกันก็เหมือนการเล่นละครแบบหนึ่ง แต่เมื่อเข้าถึงบทมากๆ เราก็แยกไม่ออกระหว่างเรากับตัวละครที่เราสวมบท

พอเดินออกจากห้อง ด้วยความเคยชินผมก็ตรงไปที่ห้องชมรมภาษาอังกฤษที่ผมดูแลอยู่ อาจารย์ โรเบิต ชอร์ที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษนั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย ผมเลยเดินกลับ ออกจะเคว้งๆอยู่ จึงตัดสินใจไปที่ห้องสมุด รู้อยู่ว่าต้องไปเจออาจารย์บรรณารักษ์ และอาจต้องถูกถามว่าชั่วโมงเรียน ทำไมมาห้องสมุด แต่ผมรู้ว่าอาจารย์ไม่ใช่คนดุ และมีเหตุผลพอสมควร พอเดินเข้าไป แกทักถามพอเป็นพิธีนิดหน่อย แล้วก็ไม่ว่าอะไร ผมจึงได้ใช้ห้องสมุดเป็นที่พักพิงอีกหลายครั้งในชั่วโมงสอนของอาจารย์ประจำชั้น จนอาจารย์ศิริเพ็ญเข้ามาไกล่เกลี่ย อาจารย์สอนภาษาไทย และพยายามสอนมากกว่าในหนังสือ ผมรู้สึกเป็นกันเองในระดับหนึ่ง เมื่อเดินสวนกันตอนพักกลางวันวันหนึ่ง อาจารย์ก็เรียกผมเข้าไปคุย ไม่ได้ตำหนิผมทันที แต่ฟังผมพูดว่าเรื่องมันเป็นมอย่างไรก่อน

พอผมเล่าแล้วก็ได้ไปเอาหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์เล่มนั้นมาให้อาจารย์ดูด้วย อีกสองสามวันแกก็เรียกเข้าไปคุยอีก คราวนี้ท่าทียอมรับความคิดของเรา แต่บอกว่าเราอาจตีความเกินเลยไปก็ได้ และว่าอย่างไรเสียเราควรขอโทษ เพราะอย่างไรอาจารย์ที่เราทะเลาะด้วยก็เป็นครูประจำชั้น

ผมแปลกใจที่เรื่องนี้ไม่ถึงอาจารย์ใหญ่ แต่ครูอาจารย์ในระดับมศ ๔-๕คงรู้กันหมด เพราะเดินไปไหนเหมือนมีครูบาอาจารย์มองเป็นพิเศษ หรือผมอาจรู้สึกไปเองก็ได้ มาคิดตอนหลัง ครูบาอาจารย์คงห่วงอนาคตผม ถ้าเรื่องถึงอาจารย์ใหญ่กระมัง

แล้วในที่สุดผมก็เข้าไปขอโทษ เมื่อผมเข้าไปหา แกไม่สามารถถอดท่าทีโกรธออกได้ ยิ่งผมว่าบอกชัดเจนว่าขอโทษในท่าทีที่ก้าวร้าว แต่ยืนยันในความเห็นที่ได้แสดงออกไป ก็ยิ่งทำให้หน้าแกตึงมากขึ้น ยังจำได้ที่แกต่อว่าว่า “พอชั้นบอกให้ว่าไม่เต็มใจสอน เธอก็สะบัดก้นออกจากห้องเลยนะ” ผมไม่ได้ตอบ แต่ก็นึกอยู่ในใจว่าเออ ผู้ใหญ่นี่แปลกดี อยากให้เด็กง้ออยู่เรื่อย เล่าถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงตอนอยู่ชั้นประถมปลาย ผมต้องขอขมาครูท่านหนึ่ง เพราะเขียนบัตรสนเท่ห์ไปว่าท่าน พอเห็นผมเข้าไปหา ท่านเกือบจะเข้ามากอดผม นับว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ทางอารมณ์ต่างกัน

สังคมศาสตร์ปริทัศที่ว่านี้ได้มาจากพี่สถาพร ลิ้มมณี ที่เป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่อ่านหนังสือมากและกว้างกว่าเด็กสายวิทย์ที่เอาแต่เรียนอย่างผม สมัยนั้นมีรัฐสภาชั่วคราวก่อนที่จอมพลถนอมจะปฏิวัติตนเอง แกยังเคยชวนให้ไปนั่งฟังส.ส.อภิปรายในรัฐสภาด้วย และจากรุ่นพี่คนนี้นี่เองที่ทำให้ผมได้รู้จักรุ่นพี่อักคนรุ่นพี่ที่เข้าธรรมศาสตร์ไปแล้ว คนนี้นี่เองที่เคยเขียนบทความลงในหนังสือประจำปีของโรงเรียนว่า ชื่อนักเรียนเรียนดีที่ติดบอร์ดนั้น ควรเอาไปจารึกไว้บนหนังหมามากกว่า ทำให้ครูบาอาจารย์โกรธกันมาก จนเป็นตำนานของรุ่น เล่าขานกันต่อมา  ผมเข้าใจว่าผมได้ยินชื่อสำเริง คำผอุก็จากที่สถาพรนี่เช่นกัน เป็นอันว่าผมได้สัมผัสกับวัฒนธรรม “หัวรุนแรง” อันเป็นวัฒนธรรมย่อยของสวนกุหลาบเข้าแล้ว

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีส่วนทำให้ผมเข้ามาร่วมก่อตั้งกลุ่มยุวชนอย่างจริงจังน่าจะเป็นเรื่องสันติสุขและผมถูกทำทัณฑ์บนที่พาดพิงถึงก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับเราสมัยนั้นนี่เป็นเรื่องไร้สาระที่สุดเรื่องหนึ่ง นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตอนขึ้นชั้นมศ๕มาแล้ว

เรื่องมีอยู่ว่ากรรมการนักเรียนคิดจะออกหนังสือพิมพ์ของนักเรียน ผมเป็นกรรมการนักเรียนคนหนึ่ง คุยกับอาจารย์ใหญ่เรียบร้อยแล้ว และได้ตั้งอาจารย์สอนภาษาไทยสายศิลปะท่านหนึ่งเป็นคนตรวจก่อนเข้าโรงพิมพ์ ปรากฏว่าข้อความที่ไม่ผ่านคือบทความของ สมพล จาตุศรีพิทักษ์ และประเด็นที่ไม่ผ่านไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นเรื่องภาษา สมพลเขียนว่า “มาตรแม้นว่า” อาจารย์ท่านนั้นบอกว่า ต้อง “มาตรว่า” หรือ “แม้นว่า” ถ้าใช้ “มาตรแม้นว่า” ถือว่าซ้ำกัน อาจารย์จะแก้ให้ได้ สมพลไม่ยอม เพราะถือว่าเป็นแบบฉบับการเขียนของตน อาจารย์ไม่มีสิทธิเข้ามาก้าวก่าย พวกเราที่เป็นกองบรรณาธิการเห็นด้วยกับสมพลและพากันไปพบอาจารย์ท่านนั้น ผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว สันติสุขไม่ได้เป็นกรรมการนักเรียนแต่เป็นกองบรรณาธิการด้วย แล้วเราก็เถียงกับอาจารย์เป็นการใหญ่ ตกลงกันไม่ได้ ไม่นานต่อมา ผมและสันติสุขก็ได้จดหมายจากอาจารย์ใหญ่ให้พาผู้ปกครองมาทำทัณฑ์บน ในข้อหาร้ายแรงถึงกับจะถูกไล่ออก เสียดายที่จดหมายหายเสียแล้ว ในด้านหนึ่ง เราเห็นความไม่เป็นธรรมของผู้ใหญ่ชัดเจน ในอีกด้านหนึ่ง เราเริ่มได้นิยามใหม่ให้กับตนเองอย่างช้าๆ เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ใหม่ที่เราไม่เคยนิยามตนเองมาก่อน แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ชัดเจนนักก็ตาม ว่านี่คือที่มาของคำว่า ขบถ

เรื่องเล็กๆอีกเรื่องที่เสริมมุมนี้ก็คือ กรรมการนักเรียนอยากเชิญ ไขแสง สุกไสมาพูดให้นักเรียนฟัง เพราะอาจารย์ใหญ่สุวรรณ จันทร์สมจะเชิญคนที่วิทยากรจากข้างนอกมาพูดเสมอๆ แต่เราเห็นว่าไม่ค่อยได้เรื่อง เช่น ภิญโญ สาธร สมพร เทพประสิทธา เป็นต้น พออาจารย์ใหญ่เห็นชื่อไขแสงก็ตกใจ บอกว่านี่เป็นคอมมิวนิสต์ตัวใหญ่ ให้ยกเลิก นี่นำให้เราเริ่มสนใจว่าคอมูนิสต์เป็นอย่างไร

เรารู้จัก ไขแสง ผ่านทางชมรมฝึกพูดแห่งประเทศไทย งานนี้ชีฯเป็นตัวเชื่อม เพราะพี่ชายของเขา คือทินวัตร มฤคพิทักษ์ เป็นโต้โผอยู่ที่นั่น และชีฯชวนเราไปเข้าชมรม ผมจำได้ว่าผมไปพูดสองครั้งในชุดนักเรียนนี่แหละแล้วก็เลิก ครั้งแรกเป็นที่ชื่นเชม พอครั้งที่สอง นำความคิดท่านอาจารย์พุทธทาสไปขยาย คนวิจารณ์เป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนไม่มีความรู้พอ บอกว่านี่โน้มไปทางคอมมูนิสต์ นับแต่นั้นผมก็ถอยออกมา

แต่จุดที่หักเหชีวิตผมจริงๆก็เป็นการได้อ่านหนังสืองานศพ ของโกมล คีมทอง เที่ยงวันนั้นผมขึ้นไปตึกศาลาพระเสร็จ ที่เป็นอาคารเรียนของชั้นมศ ๓ เพื่อไปหาอาจารย์สุดารัตน์ ชุณหคล้าย ซึ่งเป็นอาจารย์ฝึกสอนในชั้นนี้ แต่ได้มาช่วยงานชมรมภาษาอังกฤษอย่างแข็งขัน เพราะน้องๆชั้นมศ๓ในชมรมไปชวนมาช่วยจัดหมวดหมู่หนังสือ จนตอนหลังมาคุ้นเคยกับผมและเพื่อนๆชั้นมศ๕หลายคน จนตามไปถึงบ้าน และคบหาต่อมานาน

ตอนโกมล และรัตนาตายใหม่ๆนั้น ผมเริ่มได้ข่าวสั้นๆจาก แผ่นพับขนาด๔หน้ายก พิมพ์สวยงาม โกมลเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบด้วย จำได้ว่าผมอ่านด้วยความทึ่ง และอยากรู้อยากเห็น พอเที่ยงวันนั้นผมขึ้นไปหาอาจารย์สุดารัตน์ ไม่พบตัวอาจารย์ แต่บนโต๊ะทำงานที่อยู่บนระเบียง ไม่ได้อยู่ในห้องหับ มีหนังสืองานศพของโกมลวางอยู่  นิสัยเสียที่ชอบถือวิสาสะของผมทำให้ผม “ยืม”หนังสือเล่มนั้นมาอ่านโดยไม่ได้บอกเจ้าของก่อน จำได้ว่านั่งอ่านอยู่หลังห้อง กับสันติสุข

ตอนมศ๕นี่ ผมนั่งหลังห้องแล้ว ไม่ได้นั่งแถวหน้าเหมือนปีก่อน อ่านเพลินจนเผลอ ไม่เห็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่เดินมาด้านหลัง แกว่า “ชั่วโมงครู เธออย่าเพิ่งอ่านได้ไหม ทำงานของครูก่อน” อาจารย์ท่านนั้นเป็นคนใจดี และเป็นผู้ใหญ่ ที่อ่านพร้อมกับสันติสุขอีกเล่มในช่วงนั้นคือปรัชญาชีวิต ของคาริน ยิบราล

ผมเข้าใจว่าเพราะอ่านงานเขียนของโกมลนี่เองที่ทำให้ผมชวนมนัสหนีโรงเรียนไปสวนโมกข์  เพราะโกมลได้เล่าเรื่องที่ไปสวนโมกข์ได้อย่างน่าสนใจและเป็นเหตุให้มนัสกับผมได้มาจัดห้องแสดงเรื่องสวนโมกข์และความคิดของท่านอาจารย์พุทธทาสในงานสังคมนิทัศน์ดังได้กล่าวมาในตอนต้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสทำให้ผมเห็นว่าอุดมคติแบบชนชั้นกลางที่ผมไฝ่ฝันมานานนั้นไม่ได้เรื่อง โกมล ทำให้ผมเห็นมีโลกใหม่อีกโลกหนึ่งที่ผมไม่รู้มาก่อน เป็นโลกของนักคิดนักอุดมคติ โลกของนักแสวงหาที่เต็มไปด้วยสีสันและความหวัง การเสียสละ การขัดเกลาตนเอง การทำโลกให้ดีขึ้น การมีครูบาอาจารย์ และเป็นโลกที่แสนหวาน เพราะจดหมายที่โกมล เขียนถึงใครๆนั้น หลายฉบับเขียนถึงสตรีหลายคนที่เขารักอย่างชวนฝัน ผมประกาศในใจทันทีที่อ่านหนังสือจบผมอ่านจบว่า “กูจะเรียนครู”

เมื่อมองย้อนไป จะว่านี่เพราะผมเป็นคนอ่านหนังสือแคบก็ได้ ทำให้หนังสือมีอิทธิพลมากมาย ในชีวิตช่วงนั้นนอกจากหนังสือเรียนแล้ว ผมก็อ่านหนังสือของเดล คาร์เนกี่ที่พี่ชายคนโตสะสมไว้ที่บ้านเท่านั้น จำได้ว่าเมื่อมีเรื่องถกเถียงกับอาจารย์ใหญ่สุวรรณ จันทร์สมนั้น แกบอกให้ผมไปหาหนังสือของคนนี้มาอ่าน ผมบอกว่าผมอ่านหมดแล้ว แต่ผมไม่เห็นด้วยกับคนเขียน แกเลยเงียบไป ฉะนั้นพอผมมาอ่าน ท่านพุทธทาส และโกมลจึงมีอิทธิพลมากมาย จำได้ว่าช่วงกำลังจัดตั้งกลุ่มยุวชนสยามนั้น ผมซื้อ “ตัวกู-ของกู”แจกเพื่อนๆหลายคน ตอนนั้นรู้สึกแรงว่าถ้าจะทำประโยชน์ให้สังคมได้อย่างจริงจังและบริสุทธิใจแล้ว เราควรฝึกตนเองให้ถึงขั้นโสดาบันเป็นอย่างน้อย

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง บางครั้งผมก็คิดว่าชีวิตเป็นพลังบางอย่างที่ต่อเนื่องมาจากอดีต แต่ไม่ใช่เรื่องของกรรมหรือโชคชะตาที่ถูกกำหนดมาอย่างตายตัว เป็นเรื่องของพลังหรืออำนาจอะไรบางอย่างที่นอกเหนือกว่าเราจะรู้ได้ หรือควบคุมได้ แต่สิ่งแวดล้อมในขณะนั้นๆและการเลือกของเรา ก็มีส่วนกำหนดทิศทางของพลังต่อเนื่องนั้นด้วย มองจากแง่มุมหนึ่ง ทุกอย่างที่ผมได้เลือก ได้ผ่าน ได้เรียนรู้ ล้วนเป็นคุณให้ผมก้าวจากก้าวหนึ่งมาสู้อีกก้าวหนึ่งได้อย่างมีคุณค่าเสมอ มาถึงตอนนี้ผม มองย้อนไป ก็ไม่มีอะไรที่ผมเสียใจกับการตัดสินใจที่ผ่านมาในชีวิต มีก็อยากขอโทษคนนั้นคนนี้ที่เราได้ทำร้ายเขา มากบ้างน้อยบ้าง หรือคนนั้นคนนี้ที่เราอาจจะทำร้ายในภายภาคหน้า ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะเรายังรู้ไม่แจ้งแทงไม่ตลอดนั่นเอง

ทั้งหมดที่เล่ามาในตอนนี้ก็เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนจะมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มยุวชนสยาม ขอโทษท่านผู้อ่านที่ต้องการแต่จะอ่านเรื่องยุวชนสยาม ที่ต้องมาอ่านเรื่องนอกประเด็นนิดหน่อยด้วย