จิตโง่ VS จิตฉลาด ตอนที่สาม

 

7 จิตที่โง่ โทษคนอื่นและสิ่งต่างๆ ทำให้ทุกข์
จิตที่ฉลาด ยอมรับว่าชีวิตคือความทุกข์
.
คำสอนสำคัญหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ชาวพุทธเองหลายคนพยายามปฏิเสธ หรือเรียกว่าหนีก็ว่าได้ แม้จะเป็นคำสอนที่เราท่องกันบ่อยๆ ในบทสวดมนต์ก็ตาม คำสอนที่ว่านั้นคือ

แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ | แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ | แม้ความตายก็เป็นทุกข์ | แม้ความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ | ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ | ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ | มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์…

กล่าวโดยย่นย่อที่สุด ชีวิตนั่นแหละคือความทุกข์

จิตที่ยังโง่เขลา คือเบาปัญญาในการยอมรับความจริงดังกล่าว ก็จะพยายามหนีความจริงด้วยการหาแพะรับบาป โทษคนนั้นโทษสิ่งนี้เป็นตัวบั่นทอนความสุขที่พึงมี เป็นตัวก่อทุกข์แก่กายและใจตนเอง

เราสังเกตตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ไม่ยาก เป็นตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เมื่อฝนแล้งก็ดี เมื่อเกิดโรคระบาด หรือความทุกข์ยากเกิดขึ้น มนุษย์หลายส่วนก็จะหาที่กล่าวโทษ มิว่าจะเป็นปีศาจ แม่มด เทวดา ฯ นำมาสู่การขับไล่ การบูชายัญ การขว้างปาก้อนหิน การเผาทั้งเป็น ฯ เฉกเช่นพิธีกรรม และการลงโทษต่างๆ ที่มีมาในอดีต

บางเรื่องก็ยังคงทำตามกันมา แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า การล่าแม่มด ก็ยังมีให้เห็นถึงปัจจุบัน

การมีที่ให้กล่าวโทษ ทำให้เรารู้สึกสบายใจชั่วคราว ได้ผลักไสความรับผิดชอบออกไปไกลตัวขึ้น และทำให้มีความคาดหวังว่า ถ้ากำจัดสิ่งนั้นๆ แล้ว หรือได้ตอบสนองบางเงื่อนไข เช่น ขอขมา เซ่นสังเวย หรือขับไล่ออกไป ฯ จะทำให้ความทุกข์ยากจบสิ้น

จิตที่ฉลาดแล้วเท่านั้นจึงยอมรับว่าชีวิตเป็นความทุกข์อย่างไร เพราะต่อให้แม้ไม่มีคนอื่นหรือสิ่งใดๆ ที่สามารถกล่าวโทษหลงเหลืออยู่เลย กายใจก็เป็นทุกข์ได้อยู่ดี ปัญหาก็เกิดขึ้นไม่ยกเว้น

ความกลัวทำให้จิตโง่ลง เราไม่อยากที่จะเป็นผู้ผิดเสียเอง ไม่อยากยอมรับความจริงที่ว่า ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบ เป็นความหนัก ความลำบาก และความสูญเสียอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว

เราเป็นเพียงสัตว์โลกผู้เวียนว่ายไปตามกรรม เรื่องต่างๆ ที่พบเจอนั้นเป็นไปตามกรรมที่ทำมา ต่างฝ่ายต่างเป็นเหตุและผลของการเกิดขึ้นของทุกข์ยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน

เราเป็นผู้สร้างปีศาจที่ตนกำลังกล่าวโทษอยู่ในตอนนี้ และก็เคยเป็นปีศาจที่กำลังต่อสู้นั้นด้วย คนที่เคยกระทำอย่างเลวร้ายต่อเรา เมื่อนานมาแล้ว เราก็เคยกระทำอย่างเดียวกันต่อเขา หรือต่อผู้อื่น

ลองพินิจด้วยกฏแห่งกรรม หรือภาพสะท้อนของจิตใจ เราก็จะเข้าใจปีศาจที่กำลังโทษ โกรธ หรือกลัวอยู่มากขึ้น

ถ้าจะหาคนผิดที่ก่อทุกข์ให้กับเราจริงๆ พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสสรุปอีกว่า อุปาทานขันธ์ทั้งห้า เป็นตัวทุกข์ *(๑) การเกิดและการตายที่ว่าก็ยังหมายถึง การเกิดและการดับไปของขันธ์ต่างๆ คือความทุกข์

ถ้าสรุปง่ายๆ โดยย่อ ขันธ์ก็คือองค์ประกอบที่ก่อตัวขึ้นมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ฉัน หรือตัวเรา มีทั้งรูปธรรมและนามธรรม หรือเรียกว่ากายใจก็ได้ ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เรียกว่ากายใจหรือก่อเป็นกายใจนี่เอง คือความทุกข์

มันไม่ได้อยู่นอกตัวเลย มิได้เป็นคนอื่น หาใช่เทวดา ปีศาจ เชื้อโรค หรือกลุ่มคนใด แต่กลับกันสิ่งที่เรียกว่าเป็น ฉัน เป็นตัวเราต่างหาก คือที่ตั้งแห่งความทุกข์อยู่แล้ว ไม่มีใครหรืออะไรให้ต้องโทษเลย

แม้ว่าจักรวาลทั้งหมดเหลืออยู่เพียงแค่เราคนเดียว ความทุกข์ก็ยังมี

จิตที่ฉลาดจึงยอมรับว่าชีวิตเป็นความทุกข์ในตัวมันเอง แม้แต่การตายก็เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรน่าคาดหวังหรือยึดมั่นว่าจะเป็นสุขอย่างแท้จริงได้เลยในชีวิตและกายใจ

กระนั้นความตายก็ไม่ใช่ทางออก บางคนเห็นความจริงอย่างไม่รอบด้านก็จะพลอยเชื่อไปว่าในเมื่อชีวิตคือความทุกข์ ถ้าอย่างนั้นจบชีวิตลง ทุกข์ทั้งหลายก็คงหายไป

พระองค์ทรงตรัสสอนดักไว้แล้ว แม้แต่ความตายก็ยังไม่พ้นจากทุกข์

จิตใจหาใช่สิ่งสุดลงเมื่อร่างกายแตกดับ ยังมีภพภูมิ หรืออาจเรียกว่า ภาวะ ให้จิตใจได้เดินทางและพบเผชิญ ซึ่งไม่ว่าสวรรค์หรือนรกต่างไม่พ้นจากสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

หากปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ต้องฝึกตัวเองให้อยู่กับความเป็นจริง ไม่หนีหรือสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความกลัว ความโกรธ หรือความอยาก ยอมรับความเป็นจริงอันเป็นทุกข์นั้น จนเข้าใจสาเหตุและแก่นแท้แห่งชีวิตจนหมดเปลือก อิสระแท้จริงจึงเกิดขึ้น

คำว่า ทุกข์ หมายถึงความไม่สบาย ความเดือดร้อน ความหนัก ความลำบากต้องดิ้นรน และยังรวมถึงคำว่า ไม่สมบูรณ์แบบ อีกด้วย

ลองมองให้เห็นความทุกข์อย่างแท้จริง มิใช่ด้วยความกลัว ความโกรธ หรือความอยาก เราจะเห็นโฉมหน้าที่แท้จริง มันไม่ได้น่ากลัว น่าโกรธ หรือจะต้องหนีหรือสู้อะไรเลย

มันเป็นแค่นั้น เพียงความไม่เที่ยงแท้ แค่ความจริงของกายและใจเท่านั้น

ในเมื่อทุกข์ไม่ใช่ศัตรูของเรา ก็ไม่เหลือมนุษย์ เชื้อโรค และสิ่งอื่นใดที่จะเป็นศัตรูของเราอีกแล้ว

.
.
8 จิตที่โง่ คิดว่าเมตตาคือการเอาใจ
จิตที่ฉลาด คิดว่าเมตตาคือการขัดใจ
.

คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเมตตา เรามักจะตัดสินว่าคนนั้นคนนี้เมตตาหรือไม่จากพฤติกรรมภายนอกที่ตอบสนองความต้องการของใจตนเอง มิใช่โดยเนื้อแท้ของความเมตตาธรรม

จิตที่มีความโง่หรืออวิชชาบังตา จะเชื่อว่าคนที่เมตตาคือคนที่ตามใจ พูดหรือทำในสิ่งที่ใจเราอยากได้ ซึ่งอาจเรียกอย่างแทงใจว่า กำลังเอาใจอยู่ เป็นผู้ที่เมตตาหรือรักเรา นี่คือตัดสินไปตามอำนาจของตัณหาหรือความอยากของตนเอง

จิตฉลาดจะเข้าใจการมีเมตตาด้วยปัญญา ความรักความกรุณามิใช่สิ่งที่แสดงออกตรงตามทัศนคติที่เรามีหรือตรงตามความคาดหวังเสมอไป แต่โดยเนื้อแท้มีความไม่จองเวรและไม่ปรารถนาให้เราจองเวร นั่นคือความเมตตาที่แท้จริงตามหลักพุทธศาสนา

การตีความอย่างผิดๆ เกิดขึ้นจากอคติที่มี ซึ่งโน้มเอียงไปตามลักษณะทั้งสี่ ได้แก่ ความชอบ ความชัง ความหลง และความกลัว

อคติเหล่านี้คือต้นเหตุหนึ่งของความโง่เขลาของจิตใจ

หากอีกฝ่ายมีท่าที หรือคำพูดที่สอดคล้องกับความชอบหรือความหลงที่เรามี จิตก็อาจนึกคิดตีความว่า นั่นคือการมีเมตตา ดีงาม ถูกต้อง ไม่มีอีโก้ ฯ

หากอีกฝ่ายมีท่าที หรือคำพูดที่ตรงกับความชังหรือความกลัวที่เรามี จิตก็อาจนึกคิดตีความว่า นั่นคือการไม่มีเมตตา ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง มีอีโก้ ฯ

การมีเวร คือการผูกใจไว้ด้วยความโลภ โกรธ และหลง ทำให้มีความเกลียด ความเคียดแค้น ความหวง ความกลัว ความใคร่ การอยากเอาชนะ และการบั่นทอนเบียดเบียนกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไปตามความเคยชินของจิตใจมนุษย์กับสัตว์ทั้งหลาย

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวว่า คนที่มีความเมตตา คือผู้ที่มีความตั้งใจอยู่เสมอว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร *(๒) ซึ่งก็คือการขัดใจสัตว์ทั้งหลายที่ก่อเวรกันเป็นนิจ ทั้งต่อตนเองและคนอื่น

พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสอีกว่า “ผู้ใดมีส่วนแห่งจิตประกอบด้วยเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ย่อมไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ชนะ เวรของผู้นั้นย่อมไม่มีเพราะเหตุอะไรๆ เลยๆ” *(๓)

จิตที่ยังขาดความเมตตานั้นแหละ คือจิตที่ยังมีความโง่เขลา ที่ยังจองเวร ผูกใจเจ็บโกรธ หวังทำร้ายเบียดเบียน หวังการเอาชนะผู้อื่น และหลงใหลกับความชอบใจ จิตเช่นนี้ที่ยังไม่เข้าใจความเมตตาที่ถูกต้อง

จิตฉลาด แม้ถูกว่ากล่าว ตักเตือน ตัดสิน หรือทำโทษ ก็มิได้ตีความคนอื่นว่าไร้เมตตา แต่การได้รับโอกาสให้ขัดใจตัวเองจากความโลภ โกรธ หรือหลงต่างๆ นั่นแหละคือความเมตตาที่มีค่าแล้ว

เพราะจิตที่มีความเมตตา ย่อมไม่หาเรื่องเอาชนะ ไม่ผูกเวรแก่กันและกัน คือไม่หาเรื่องให้ตนเองเป็นทุกข์และก่อกรรมทำเข็ญใดๆ เพราะแม้แต่การคิดตีความท่าทีคนอื่นจนตนเองเป็นทุกข์ นั่นก็ขาดความเมตตาต่อตนเอง

จิตที่มีความเมตตา ย่อมแลเห็นประโยชน์จากการถูกตำหนิ ถูกตัดสิน หรือแม้แต่การถูกทำโทษ โดยไม่คิดแก้แค้น เอาคืน หรือหวังเอาชนะ นี่ย่อมทำให้เกิดปัญญา จึงได้ชื่อว่า เป็นจิตที่ฉลาด

จิตโง่ แม้แต่ตนเองก็ยังไม่เมตตา แล้วยังคาดหวังให้คนอื่นเมตตาตามความเชื่อผิดๆ ที่มี คือหวังให้พฤติกรรมของผู้อื่นเติมเต็มกิเลสในใจ นี่ยิ่งซ้ำร้าย

ความเมตตา มิใช่การตามใจ แต่เป็นการขัดใจ เพราะรู้ดีว่าการตามใจด้วยกิเลส มิใช่หนทางออกจากความทุกข์ แต่การขัดใจจากความเคยชินและความอยากทั้งปวง คือทางออกจากความทุกข์ที่แท้กว่า

ต่อตนเองก็ด้วย จิตโง่จะเมตตาตัวเองด้วยการตามใจ จนนำมาสู่ภัยในวันหน้า

จิตฉลาดแล้วเมตตาตัวเองด้วยการขัดใจ เพื่อป้องกันโทษจากกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลาย ทั้งวันนี้และวันหน้า

.
.
9 จิตที่โง่ ต้องการแค่มิตร
จิตที่ฉลาด ต้องการกัลยาณมิตร

คนทั่วไปไหลตามการถูกเอาใจ คือพูดดีด้วย ทำดีด้วย และแสดงออกสอดคล้องกับความคาดหวัง ก็พร้อมจะคล้อยตามแล้วรู้สึกดีตอบ

การถูกเอาใจมันเติมเต็มความอยากใคร่ในเรื่องความต้องการเป็นคนสำคัญ อยากมีตัวตน อยากเป็นที่รัก อยากมีความสุข อยากหลงใหลกับสัมผัสต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

คนเราบางทีชอบให้คนอื่นปากหวาน เอาใจ พูดดี แต่ไม่เห็นค่าคำตรงที่แทงใจ รวมทั้งคำเตือนเรื่องสำคัญที่ตัวเองไม่อยากฟัง

ดังนั้นเราจึงมีเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว เพื่อนคุย เพื่อนเล่น หรือแม้แต่เพื่อนที่ตอบสนองกิเลสด้วยกันในรูปแบบต่างๆ เสียมากกว่าเพื่อนแท้ที่ชวนเราหลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง

เรียกได้ว่า จิตโง่ ต้องการเพื่อนหรือมิตรที่มาตอบโจทย์กิเลสตัณหา

จิตที่ฉลาด ต้องการเพื่อนหรือมิตรที่เป็นยิ่งกว่าเพื่อน แต่เป็นผู้ให้ปัญญา แล้วพาเราออกจากวังวนแห่งทุกข์ไปด้วยกัน

มิตรก็คือเพื่อนทั่วไป ซึ่งมักโน้มเอียงไปทางช่วยสนองความต้องการทั่วไปในทางโลก

กัลยาณมิตรคือเพื่อนแท้ที่เป็นมากกว่านั้น อาจทำหน้าที่เกื้อกูลทางโลกด้วย และช่วยในสิ่งที่มิตรทั่วไปไม่อาจทำ

ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ใน บทความเรื่อง “๕ คำสอนพระพุทธเจ้า เพื่อรับมือคำด่าและท่าทีแย่ๆ” ความว่า

“ลักษณะความเป็นกัลยาณมิตรนั้นก็ประกอบด้วย ๗ ลักษณะคือ น่ารักใคร่พอใจหรืออาจเรียกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย , น่าเคารพและเป็นที่พึ่งพาได้ , น่าชื่นชมเพราะด้วยความรู้ความสามารถและการพัฒนาตนเอง , รู้จักพูดอย่างเหมาะสม , รู้จักฟังและอดทนต่อถ้อยคำ , รู้จักสนทนาและสื่อสารในสิ่งที่ละเอียดและลึกซึ้งให้เข้าใจ และไม่ชักนำไปในทางที่ไม่ควรอันผิดจากอริยมรรค *(๔)

“เหตุที่ต้องยกความมีมิตรแท้ที่ดีตามหลักพุทธศาสนาเช่นนี้ก็เพราะว่าบางครั้งกัลยาณมิตรก็มาสู่เราในทางที่ไม่ชอบหรือมากล่าวในสิ่งที่เราไม่พอใจ อาจเป็นคนที่เราไม่ได้รู้จักมาก่อน แต่มีกรรมหรือปัจจัยที่ต้องมาเตือนหรือสอนใจกันด้วยวิธีที่ไม่ต้องการ

“เป็นธรรมดาที่คนจะเลือกฟังในสิ่งที่เชื่อ เลือกฟังในสิ่งที่ตนเองชอบ นอกนั้นก็มักจะฟังแต่ไม่ได้ยิน แม้ว่าสิ่งที่ไม่ได้เชื่อหรือไม่ได้ชอบจะมีประโยชน์และเป็นความจริงอีกด้านก็ตาม

“คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ปรัชญาโบราณของจีนกล่าวไว้ในท่อนหนึ่งว่า “คำจริงไม่หวาน คำหวานไม่จริง” การที่มีผู้พูดถึงความผิดพลาดอันละเอียดอ่อนของเราก็สอดคล้องกับคุณสมบัติข้อหนึ่งของกัลยาณมิตร คือการสามารถพูดหรือสนทนาในสิ่งที่ลึกได้ ไม่ใช่พูดดีๆ กับเราอย่างตื้นเขินเท่านั้น แต่ด้วยกิเลสก็มักทำให้เผลอชอบแต่คนที่พูดดีๆ กับเรามากกว่า ทั้งๆ ที่คำพูดเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นจริงหรือไม่ได้มาจากการพิจารณาที่ลึกซึ้ง”

จึงกล่าวได้ว่า จิตโง่ จะใฝ่หาเพื่อนจากตัณหา สนองความอยาก ส่วนจิตฉลาด จะใฝ่หาเพื่อนแท้จรุงปัญญา

ใครที่เอาแต่พูด ทำ และแสดงออกเพียงเพื่อให้เรารู้สึกพอใจ ใครคนนั้นอาจมิได้ช่วยให้เราไปสู่หนทางที่ดีงาม

อาจช่วยให้มีความสุขชั่วครั้งชั่วคราว แต่แลกกับทุกข์อันยาวนาน

ใครที่พูดแทงใจ ทำ หรือแสดงออกที่ขัดใจเรานักหนา อาจเป็นผู้ที่จริงใจและเตือนใจเรามากที่สุด อาจเป็นผู้ช่วยให้เราหลุดจากวังวนอันเนิ่นนาน

เราจะหาเพื่อนที่ทำให้มีความสุข แต่โง่เขลาลง หรือยินดีต้อนรับเพื่อนที่ให้ในสิ่งที่ไม่อยากได้ แต่มีคุณค่าต่อชีวิตและทำให้เราฉลาดมากขึ้น

กัลยาณมิตรอาจไม่ได้ช่วยเติมเต็มความอยากในทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือทางใจ แต่ช่วยให้เราสุขแท้มากพอที่จะไม่ต้องอยากในสิ่งเหล่านี้หรือลดน้อยลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ

กัลยาณมิตรอาจแสดงออกในทางที่เราไม่รู้สึกว่าเขาเมตตา แต่เตือนให้ตัวเราเมตตาตนเองอย่างแท้จริง

จิตโง่จะอยากฟังคำหวานหรือท่าทีอันหอมหวนต่อไป ส่วนจิตที่ฉลาดมากขึ้นแล้ว ย่อมคิดตามว่า เราจะหาเพื่อนที่ดีเช่นนี้ได้อย่างไร

อย่าเพิ่งเข้าใจผิด กัลยาณมิตร มิได้อยู่ในสถานปฏิบัติธรรมหรือคอร์สอบรมเท่านั้น

ทำกรรมดีไว้ ระวังใจไม่โลภหลงกับสิ่งยั่วยุต่างๆ เมื่อนั้นกัลยาณมิตรก็จะมีมา เกิดขึ้นตั้งแต่ในตนเอง คือ สติ

ฝึกใจให้ฉลาดต่อความจริง มองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในทางที่ไม่อยากให้เกิดด้วยการยอมรับและเปิดใจ เมื่อนั้นก็จะเห็นกัลยาณมิตรก็จะมีมา เกิดขึ้นตั้งแต่ในตนเอง คือ ปัญญา

เคารพคุณค่าชีวิต มิผูกใจจองเวรด้วยความโลภ โกรธ หรือหลง มีความตระหนักอย่างดีว่า ทุกชีวิตเวียนว่ายตายเกิดล้วนเป็นทุกข์ เมื่อนั้นก็จะดึงดูดกัลยาณมิตรให้มีมา เกิดขึ้นตั้งแต่ในตนเอง คือ ความเมตตากรุณา

กัลยาณมิตรอาจอยู่ในทุกที่ แม้แต่ในความทุกข์ หากเรามีสติ ปัญญา และความเมตตากรุณา เราก็จะเห็นพวกเขา ไม่ใกล้ไม่ไกลเลย

.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 62

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

> > > ติดตามหลักสูตรอบรม
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

*(๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๘๐]
*(๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๕๘๐]
*(๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ๗. เมตตาภาวสูตร [๒๐๕]
*(๔) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต สขสูตรที่ ๒ [๓๔]