“ก่อรูป” คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๒

ความหลังครั้งยุวชนสยาม

 

คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๒

ตอน “ก่อรูป”

เขียนโดย ประชา หุตานุวัตร

เขียนเสร็จเมื่อปลายเหมันต์ ปี ๒๕๔๘ แก้เกลาใหม่ ตุลาคม ๒๕๕๘

กระท่อมน้อยในทุ่งฝัน ชุมชนฟินด์ฮอน สก๊อตแลนด์

 

ผลจากการประชุมอย่างหนึ่งที่แน่ๆก็คือเราต้องหาสมาชิกเพิ่ม  พยายามขยายไปตามโรงเรียนต่างๆให้มากที่สุด ผมจำได้ว่าเราทำกันสองสามวิธี  ประการแรกก็คือไปหาเพื่อนต่างโรงเรียนที่เรารู้จัก ผมเข้าใจว่า ป้อม สุจินดา เพื่อนบ้านงิ้วรายของชีฯเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาด้วยวิธีนี้ เธอเรียนอยู่สตรีวัดระฆัง ผมชวนหลายสาวที่เรียนอยู่สตรีวิทย์  มนัสชวนเพื่อนจากสุวรรณาราม ผมเข้าใจว่าเพื่อนศึกษานารีที่จัดงานภาษาอังกฤษด้วยกัน มาร่วมประชุมตั้งแต่ต้นที่บ้านโตแล้ว แต่มีสองคนจากศึกษานารี ที่ไม่ได้ร่วมกับงานชมรมฯ แต่ไปเจอกันที่ศึกษิตสยาม คือรังสิมา ลิมปิสวัสดิ์ และ วาสนา พุ่มพัดตุน สองคนนี้เป็นศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ภัทรศรี อนุมานราชธน  หนีโรงเรียนไปเหมือนเรา เพราะอ่านหนังสืองงานศพของโกมล คีมทองเหมือนกัน จำได้ว่าตอนจะตั้งกลุ่ม นัดเจอเธอทั้งสองที่ข้างห้องสมุดวัดอนงคาราม ตรงวงเวียนเล็กในสมัยนั้น เธอทั้งสองอยู่มศ.๔ ผมอยู่มศ.๕ สันติสุข โสภณสิริอาจจะอยู่ด้วย เพราะเข้าคุ้นกับห้องสมุดนี้ดี เขาเคยบอกว่าเขาอ่านหนังสือหมดทุกเล่มในห้องสมุดนี้

อีกวิธีหนึ่งคือไปตามโรงเรียนที่มีครูฝึกสอนที่เคยมาสอนเรา และสนิทสนมกัน ผมจำได้ว่าทำให้เราได้เพื่อนจากวิทยาลัยครูธนบุรี มาร่วมด้วย ถ้าจำไม่ผิดคนที่มาร่วมค่ายกับเราคือสมชาย ชูมาก เป็นคนนครศรีธรรมราช ผมจำได้คร่าวๆว่าเวลาคุยกับเพื่อนกลุ่มนี้ ผมจะบอกว่า เราตั้งกลุ่มเพื่อฝึกฝนตนเอง พัฒนาตนเองก่อนออกไปพัฒนาสังคม เห็นได้ชัดว่านี่เป็นวิธีคิดแบบท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์

  อีกวิธีหนึ่งก็คือไปตามโรงเรียนที่เราได้ข่าวว่านักเรียนทะเลาะกับครู โดยเฉพาะพวกที่ทำหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน นี่ก็มีเบื้องหลัง เพราะเราในฐานะกรรมการนักเรียนได้พยายามออกหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนมาก่อน แต่ถูกสั่งปิดตั้งแต่ยังไม่ได้ออกเล่มแรก จนสันติสุขกับผมเคยถูกอาจารย์ใหญ่เรียกไปอบรมส่วนตัว และเรียกพ่อแม่มาทำทัณฑ์บนด้วยนี่เอาไว้เล่าตอนต่อไปดีกว่า

ตอนนี้ขอเล่าเฉพาะการก่อร่างของกลุ่มยุวชนสยามที่ยังไม่ได้มีชื่อด้วยซ้ำไป เหตุเพราะผมเป็นกรรมการนักเรียนด้วย ทำให้มีอภิสิทธิเข้าออกโรงเรียนมากกว่าคนอื่น ยิ่งกว่านั้น วีรกร คำประกอบได้เอากุญแจไขประตูมาให้  “มึงเอาไว้ใช้ กูปั๊มจากแบบดินน้ำมัน ตามที่กูดูหนังมา” นัยว่าเขาไปขอกุญแจภารโรงมาดูเล่นแล้วก็กดลงไปบนดิน้ำมัน แล้วเอาแบบไปให้ช่างทำกุญแจทำ

โรงเรียนเรามีสองประตู ประตูด้านสะพานพุทธจะใส่กุญแจ ด้านติดโรงเรียนเพาะช่างจะมียามเฝ้า จะออกต้องมีใบอนุญาตจากอาจารย์  พอผมได้กุญแจจากวีระกร ผมก็เข้าออกได้สบาย บางครั้งผมก็ไปคนเดียว บางครั้งมนัสก็ไปด้วย จำได้ว่ามนตรี จึงสิริอาลักษณ์เป็นคนหนึ่งที่เข้ามาร่วมก็ด้วยวิธีนี้ เพราะเขาทำหนังสือพิมพ์อยู่ที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์  เราไปหาเขาถึงห้องเรียนเลยทีเดียว ตอนหลังผมได้เรียนการทำหนังสือพิมพ์ “ยุวทัศน์” ของเรากับเขา

เมื่อเราคุยกันไปสักระยะหนึ่ง ผมเข้าใจว่าเราเริ่มไปคุยกันอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ที่ศึกษิตสยาม อยากเชิญแกเป็นที่ปรึกษา แกก็บอกว่าอย่าเอาแกเลย เพราะถ้าเอาแกจะถูกเพ่งเร็ง ให้ไปเชิญอาจารย์ระวี ภาวิไลดีกว่า เราจึงได้อาจารย์ระวีเป็นที่ปรึกษาให้ในระยะแรก

อาจารย์สุลักษณ์ พยายามต่อให้พวกเราได้คุยกับนักเรียนจากอัสสัมชัญ เข้าใจว่ามีกลุ่มทางนั้นเกิดขึ้นแล้ว ได้คุยกันครั้งแรกที่ศึกษิต แต่คงไม่ได้ร่วมกันจนปีต่อมา เพื่อไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ มาเข้าค่ายครั้งที่สอง อีกสายที่อาจารย์แนะนำมาคือ โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา ผ่านทางบุญทรง เคล้าสเน่อร์ ลูกสาวของวิลเลี่ยมที่เป็นเพื่อนของอาจารย์สุลักณ์ บุญทรงไม่ได้มาร่วมกับเรามากนัก แต่เป็นตัวต่อให้เราได้รู้จักกับปิติวงศ์ ที่มาเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญเรื่องค่ายครั้งแรกมาก จากปิติวงศ์ทำให้เราได้รู้จักกับวิศิษฐ์ วังวิญญู และปกรณ์ มโนธรรม นอกจากนี้ปิติวงศ์ ยังได้เชื่อมให้เราได้รู้จักกับ น้าอาจ หรืออาจารย์องอาจ บุญรักษ์ ที่มาเป็นที่ปรึกษาค่ายอย่างสำคัญ น้าอาจสอนอยู่ที่โรงเรียนสาธิต จุฬาฯ

เมื่อมารู้จักกับเพื่อนกลุ่มทางด้านนี้ เราจึงมาประชุมกันที่สระน้ำจุฬาฯเป็นประจำ  ชีฯเคยปรารภทีเล่นที่จริงว่านี่จะเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อะไรเทือกนั้นด้วยโดยเฉพาะช่วงเตรียมค่าย เพราะปิติวงศ์เคยมีประสบการณ์ด้านนี้และได้อาศัยน้าอาจเป็นที่ปรึกษาด้วย มองย้อนไปน้าอาจเป็นที่ปรึกษาที่เราพอใจมาก ไม่เคยก้าวก่ายการตัดสินใจของเรา คอยแต่แนะนำและอยู่เคียงข้างเพื่อเป็นกำลังใจ

แต่นี่ก็เป็นช่วงท้ายๆของปีการศึกษานั้นแล้ว ขาประจำอีกคนของการประชุมที่สระน้ำจุฬาฯคือพันธุ์เลิศ จากเตรียมอุดมฯเหมือนกัน สนิทสนมกันจนได้ไปเยี่ยมบ้านเธอที่นครสวรรค์ แต่ตอนหลังห่างออกไป คงเพราะพ่อไม่ค่อยสนับสนุน เพราะเราไปเถียงกับพ่อเธอถึงบ้านที่นครสวรรค์ด้วย แต่นี่ผมก็เดาเอาเอง ผมเข้าใจว่าหนุ่มๆรุ่นผมหลายคน รวมทั้งผมด้วยพาชอบพันธุ์เลิศเป็นพิเศษ เพราะมีความมั่นใจในด้านความคิดความอ่านของตนเองอย่างที่ไม่เห็นในคนรุ่นเดียวกัน ทั้งยังมีเสน่ห์ตามสมควร แต่เมื่อวิสาสะกันน้อยลงตามลำดับ มิตรภาพก็ค่อยๆจืดจางไปตามกาลเวลา เมื่อเธอไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมยังได้ตามไปเยี่ยมหลายครั้งเมื่อขึ้นไปหาชีฯ