บันทึกกิจกรรมและความรู้สึกหลังการเรียน ## ปอง

บันทึกกิจกรรมและความรู้สึกหลังการเรียน ## ปอง
หลักสูตร ห้องเรียนนักกล้าฝัน เดือนแรก

 

 

วันที่ 5 กันยายน 2558 หัวข้อ “พื้นที่ชีวิต ความปลอดภัย และ ความไว้วางใจ” โดย อ.อนุรักษ์ เม่นหรุ่ม
ประสบการณ์และความรู้สึกหลังการเรียน

 
ประทับใจมาก เมื่อเทียบกับการเรียนกระบวนกรชั้นต้นในสถาบันอื่น กิจกรรมที่อ.โอเล่ให้ลองทำในวันแรกนี้ สัมผัสได้ถึงความตั้งใจที่จะฝึกฝนผู้เข้าร่วมให้เข้าใจในงานกระบวนกร และสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ข้อสังเกต บทเรียน และ การประยุกต์
กิจกรรมที่ชื่นชอบมากที่สุดคงเป็นในส่วนของกิจกรรมกล้องถ่ายรูป แม้จะเป็นกิจกรรมเพียงสร้างความคุ้นเคยและยังไม่ได้สรุปมาก แต่สัญญาณร่างกาย ณ ขณะร่วมกิจกรรมให้ความรู้สึกของการปล่อยวาง การไว้วางใจ และที่รับรู้ได้ คือ ทุกครั้งที่เปิดตาจะเกิดความรู้สึก ละมุน wow! สัมผัสได้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดของภาพที่เห็นมากขึ้น ทั้งๆที่ภาพเหล่านี้ก็เคยเห็นมาก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังสัมผัสได้ถึงความใส่ใจในช่างภาพที่ตั้งใจสร้างภาพที่สวยงามให้กับผู้ชม
การขมวดประเด็นที่ชื่นชอบจะเป็นเรื่องของการเขียนเพื่อทดสอบทิฐิปาทานในใจตนเอง สามารถมองเห็นว่าเรามีมากหรือ น้อย การสร้างหน้ากระดาษในส่วน “ฉันเคย ฉันมี และ ฉันเป็น” ที่ใหญ่จนแทบไม่เหลือพื้นที่รับความคิด “ ฉันได้แง่คิด ฉันได้เรียนรู้” ทำให้มองเห็นตัวตนของตนเองชัดเจนขึ้น เปรียบเสมือน แก้วน้ำที่รับน้ำมาจนเกือบเต็ม หรือ ปฏิเสธที่จะรับน้ำผู้ใด
แต่ยังคงมีข้อสงสัยในการจัดกระบวนกรอีกหลายข้อที่คงต้องใช้ประสบการณ์เรียนรู้ต่อไป อาทิเช่น การเช็คอุณหภูมิผู้เข้าร่วม การเลือกรูปแบบกระบวนการ วิธีการขมวดปม และแนวทางการสะท้อน เป็นต้น โดยสรุปแล้วสำหรับการเริ่มต้นในวันแรก รวมถึงสิ่งแวดล้อม เช่น เพื่อน อาหาร และ บรรยากาศ ให้ความรู้สึกดีมากๆ
วันที่ 6 กันยายน 2558 หัวข้อ “โลกด้านใน” โดย พี่โส่ย พวงทอง
ประสบการณ์และความรู้สึกหลังการเรียน
วันนี้ต้องบอกว่า แปลกใจกับความรู้สึกของตัวเองมากกว่า จากที่เมื่อวาน (วันที่ 5) รู้สึกถึงการละวางกรอบความคิด และ การสร้างความวางใจ วันนี้กลับรู้สึกว่า การละวางในความคิด เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่….ต้องไม่ใช่ปล่อยปละความคิดและการกระทำของตัวเราให้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม การฟังเสียงของร่างกาย สัญญาณต่างๆจากภายในมีความสำคัญมาก หากชีวิตจะเกิดสมดุลได้ต้องเลือกการดูแลตัวเราเองให้พร้อมต่อการรับพลังงานด้านบวกและลบก่อน หมายถึงการมีสติ รับรู้อารมณ์ของตนเองให้แน่ชัด ตอบตนเองได้ถึงความชอบ ความรัก ความโกรธ และ ความเกลียด เมื่อนั้นจึงจะพร้อมต่อการรับพลังงานของผู้อื่น รับฟังและสามารถช่วยเหลือผู้อื่น (การโดนสะกิดทางอารมณ์) และพร้อมที่จะปล่อยอารมณ์ของตัวเราและผู้นั้นทิ้งไป (การสละทางอารมณ์)
ข้อสังเกต บทเรียน และ การประยุกต์
บางครั้งเราควรเลือกใช่หรือไม่ บางครั้งเราควรแสดงออกใช่หรือไม่ การเป็นผู้คอยรับเพียงการกระทำของผู้อื่น ไม่รับฟังเสียงของตัวเอง เรายังสามารถเรียกตัวเราเองว่า เป็นนักฟังที่ดี เป็นผู้ที่น่าเชื่อถือได้อยู่หรือ ในเมื่อสิ่งๆนั้นเรายังไม่ได้เริ่มกับตัวเองเลย เราควรเริ่มต้นฟังเสียงตัวเราเองก่อน เชื่อสัญญาณและสัญชาตญาณของตัวเราเองก่อน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะฟังตัวเราและไม่พิจารณาสิ่งอื่นใด จนเกิดการสร้างข้อขัดแย้งกับผู้อื่น เราเพียงบอกตัวเราเองทุกครั้งว่า ก่อนการฟังผู้ใด เราควรตั้งใจรับรู้อาการของตัวเราก่อน เราเกิดอารมณ์ใด ณ ขณะนั้น และเราจะสละได้อย่างไร
การรับฟังผู้อื่น ต้องรับฟังโดยสามารถปล่อยวางอารมณ์ของเราเองได้ ไม่เกิดความรู้สึก ณ ขณะฟัง เพราะความรู้สึกของเราเกิดจากอุปาทานในใจที่เราเคยมีประสบการณ์ร่วมมา เมื่อเกิดอุปาทานแล้ว การตั้งใจรับฟังถึงความรู้สึกและเจตนารมณ์ของผู้พูด จะเกิดการบิดเบือนไป การสังเกตในท่าทาง การรับรู้อารมณ์ และความใส่ใจในความรู้สึกของผู้พูดจะหายไป เมื่อเกิดเช่นนั้นแล้วการสนทนาจะไม่เกิดประสิทธิภาพแต่อย่างใด
สรุป คือ เราควรให้ความสำคัญกับการฟังทุกอย่าง โดยเริ่มต้นที่การฟังเสียงภายในตัวเราก่อน เชื่อใจเสียงภายใน เมื่อรับรู้อารมณ์ ให้เกิดความเข้าใจในสิ่งนั้น และปล่อยวาง หรือ เลือกแสดงออกหากสมควรทำ การรับฟังผู้อื่น ให้รับฟังอย่างตั้งใจ เสมือนการรับฟังเสียงภายในของเรา มีทั้งเรื่องราว อารมณ์ และ สิ่งที่อยากสื่อ ขอเพิ่มเติมในความรู้สึกผ่านงานเขียนรอบนี้อีกสักนิด ตอนเริ่มพิมพ์ เกิดความสับสนในตัวเอง มีความเข้าใจว่า เราควรเลือกแสดงออก แสดงความคิดเห็น มากกว่าปล่อยหรือ ยอมให้ผู้อื่นแสดงออก แต่หลังจากพิมพ์มาถึงตรงนี้ เข้าใจตนเองและสิ่งที่เป็นหัวข้อ “โลกภายใน” ชัดเจนมาก ไม่ใช่การแสดงออก แต่เป็นการฟังต่างหาก!!