บางส่วนจากข้อสอบการสะท้อนตนเอง กลุ่มเรียนเดือน ก.ค. ชุดที่ ๖

“สำหรับดิฉันคิดว่าตัวดิฉันเป็นคนที่อารมณ์ร้อนง่าย ขี้โมโหง่าย ขี้น้อยใจง่ายแต่ในบางมุมก็มีที่อ่อนไหวอยู่ ซึ่งคิดว่ามีคนที่จะเข้าใจยากในตัวดิฉัน บางครั้งก็คิดว่าเราเป็นคนที่เข้ากับผู้อื่นยากเพราะเป็นคนไม่ค่อยพูดหรือจะพูดกับคนที่สนิทเท่านั้น ทำให้เป็นคนที่มีเพื่อนน้อย อาจมีบางครั้งที่จะต้องไปไหนมาไหนคนเดียวก็มีเหงาบ้าง แต่ก็ยอมรับได้เพราะคิดว่ายังไงชีวิตนี้ก็ต้องมีบางมุมที่ทุกคนต้องอยู่คนเดียวให้ได้ จะพึ่งพาคนอื่นตลอดไปก็ไม่ใช่เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ในของตัวเอง และดิฉันคิดว่าทุกคนบนโลกล้วนเห็นแก่ตัวอยู่ที่มากหรือน้อยรวมถึงตัวดิฉันเองด้วย มีการแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อให้อยู่ได้ในสังคมซึ่งต่างจากสังคมเมื่อสมัยยังเด็กเป็นสังคมที่บริสุทธิ์ไม่มีพิษภัย เพราะทุกคนมีความจริงใจต่อกัน ยิ่งโตขึ้นดิฉันขึ้นเข้าใจในชีวิตมากยิ่งขึ้นอาจมีบางครั้งที่ชีวิตเราอยู่ในจุดสูงสุดวันนี้เรามีความสุขมากแต่พรุ่งนี้เราก็อาจจะทุกข์มากได้เช่นกันทุกคนล้วนต้องเจอ แต่ถ้ามองชีวิตเรากับบุคคลอื่นที่ไม่มีโอกาสเหมือนเรา ทำให้ดิฉันรู้สึกโชคดีมากที่ได้เกิดมาในชีวิตแบบนี้แม้อาจจะไม่สมบูรณ์ทุกอย่างแต่ก็ไม่ลำบาก…

 
“ดิฉันคิดว่าชีวิตเปรียบเสมือนนิยามเล่มนึง แม้จุดเริ่มต้นของนิยายไม่สามารถกำหนดเองได้ ให้สมบูรณ์แบบ อาจไม่ได้เกิดมามีพร้อม ทั้งชาติกระกูล ฐานะ หรือมีแบบใครเขาทุกอย่างเราไม่สามารถกำหนดเรื่องราวลงไปได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาและวาสนา หน้าปกนิยายเป็นสิ่งชักชวนให้หลงใหลชวนให้คนอ่าน แต่ภายในเนื้อหาชวนให้คนติดตามเรื่องราวเนื้อเรื่องภายในเล่มเปรียบเสมือนชีวิตเราสามารถกำหนดเองได้ให้มันดีหรือร้ายอยู่ที่เราเลือกกระทำ…ในนิยายนั้นมีหลายบทแต่ละบทก็อาจแตกต่างกันออกไปเป็นประสบการณ์ชีวิต บางครั้งอาจถูกกฎระเบียบอยู่ในกรอบไปซะทุกอย่างและในบางครั้งชีวิตก็อาจมีนอกกรอบบ้าง ผิดพลาดไปบ้างแต่ดิฉันเชื่อว่าสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ในบทถัดไปและทิ้งบทก่อนหน้าที่ไม่ดีไว้เป็นเพียงความทรงจำ เป็นเพียงบทเรียนให้เราได้เรียนรู้และแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด ดิฉันเชื่อว่าทุกคนเกิดมานั้นไม่เคยไม่มีใครทำผิด แต่อยู่ที่ทำผิดแล้วจะปรับปรุงแก้ไขไหมจะปล่อยให้นิยายดำเนินเรื่องต่อไปแบบผิดๆไหม และในบางครั้งโอกาสก็ไม่ได้มีเสมอไปสำหรับความผิดพลาด ดังนั้นก่อนที่จะเขียนนิยายลงไปนั้นควรคิดให้ดีซะก่อน ดีกว่าต้องใช้ลิควิดลบน้ำหมึก เพราะมันทำให้กระดาษเปื้อนไม่สวยงาม หรือถึงขั้นต้องฉีดกระดาดออก และในชีวิตจริงคงไม่มีอุปกรณ์ใดๆที่ช่วยลบความผิดพลาดได้อย่างง่ายดายเหมือนในนิยาย ดังนั้นก่อนที่จะทำอะไรควรไตร่ตรองและคิดให้ดีก่อน ไม่ใช่ว่าชีวิตนั้นผิดพลาดไม่ได้เลย ผิดพลาดได้แต่คิดว่าไม่ควรบ่อยจนเกินไป ควรนำความผิดพลาดในครั้งก่อนมาเป็นบทเรียนให้เขียนนิยายต่อไปได้อย่างสวยงามจะได้ไม่ต้องเสียเวลาลบบ่อยๆ…”

 

/ นางสาวลลิตา จุลนพ มหาวิทยาลัยบูรพา ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา

 
“อีกมุมหนึ่งของชีวิตจริงข้าพเจ้า คือ ตอนที่อาจารย์วิทยากรให้แก้ปมโดยให้กลับมาเป็นวงกลมแบบเดิมนั้น ข้าพเจ้าได้ค้นพบตัวเองว่า เมื่ออยู่กับคนหมู่มาก และเมื่อมีคนเสนอ หรือมีผู้นำ ข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะรับฟังและทำตาม เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เห็นควร และส่วนใหญ่ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ตามมากกว่าในสถานการณ์นั้น นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า มีคนที่สามารถเป็นผู้นำได้เยอะ มีคนออกเสียงเยอะ ข้าพเจ้าเลยจะขอเป็นผู้รับฟังและก็จะคอยเป็นผู้ตามหรือผู้สนับสนุน แต่ถ้าในสถานการณ์อื่นนอกเหนือจากเหตุการณ์นี้หรือเมื่อใดที่ไม่มีผู้นำ ข้าพเจ้าก็สามารถที่จะเป็นผู้นำได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ข้าพเจ้าจะไม่ยอมปล่อยให้สิ่งๆนั้นผ่านไปโดยที่ข้าพเจ้าไม่มีส่วนร่วมไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าจะรู้สึกว่าตัวเองด้อยประโยชน์และไม่มีคุณค่า อาจจะเป็นตัวถ่วงของเขาหรือเปล่า อย่างน้อยก็ให้ข้าพเจ้าได้ออกความเห็น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม

 
เหมือนเวลาที่อาจารย์ให้แบ่งกลุ่มทำงาน ข้าพเจ้าก็จะเป็นคนรับเรื่องของกลุ่มไม่ได้เป็นหัวหน้านะคะ แต่เหมือนเป็นคนเดินเรื่องซะมากกว่า พอข้าพเจ้าได้รับมอบหมายงานมา เราก็จะมาคิดกันในกลุ่ม และเราก็จะแชร์ความคิดเห็นกัน สิ่งไหนที่เห็นตรงกันเราก็จะเลือก สิ่งไหนที่มันรู้สึกคำพูดแปลกๆเพื่อนๆในกลุ่มก็จะมาช่วยกันเพิ่มเติมคำพูดนั้นลงไปใหม่
การที่เราทำตัวเหมือนน้ำครึ่งแล้วอยู่ตลอดเวลานั้น ข้าพเจ้าคิดว่าถือเป็นการดีที่สุดที่จะใช้เป็นคติในการดำรงชีวิตต่อไป และข้าพเจ้าคิดว่า ภาพด้านบน และ คติที่ว่า “จงทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดเวลา” เหมาะกับการเปรียบกับตัวข้าพเจ้าที่สุดแล้วค่ะ ในการดำรงชีวิตที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด”

 

/ นางสาวปุณยาพร ประชานอก

 
“การให้วาดวงกลม แล้วมีจุดตรงกลาง เรามีมากหมายหลายวิธีมากเพื่อจะสร้างวงกลมนั้นขึ้นมา โดยความคิดของเราเอง หรือ การให้คนอื่นเข้ามาช่วยเรา ก็เหมือนกับ เราจะทำสิ่งใดควรพึ่งตัวเอง ความคิดตัวเอง และอีกอย่างคือให้คนอื่นเข้ามาช่วยเราคิด ช่วยเราทำ ทุกอย่างก็จะออกมาตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้ สำเร็จ ลุล่วงไปได้ด้วยดี ต้องรู้จักตัวเอง และหันมามองคนรอบข้างบ้าง ควรเปิดโอกาสรับฟังคนอื่น อย่าฟังแต่ความคิดตัวเอง เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย แล้วก็มีกิจกรรมหลายๆอย่างที่ทำให้เรารู้ วิธีแก้ไข หรือทางออก ที่มันขึ้นอยู่กับใจเรา ว่าเราเข้มแข็งพอมั้ย ที่จะฟ่าฟัน สู้กับอุปสรรคนั้น พี่วิทยากรทำให้เห็นว่า อุปสรรค มัน ก็จะแฝงไปด้วยทางออก คือจะแก้ไขอย่างไร เราก็ต้องดูอุปสรรคนั้นก่อน เราถึงจะแก้ได้ตรงจุด แล้วก็กิจกรรมกล้องถ่ายรูป ทำให้เราเข้าใจถึงความกังวลกลัวเพื่อนจะชน คือ คิดถึงคนอื่น อยากให้เขาได้เห็นได้ลืมตามาเห็นวิวสวยๆ เกิดความประทับใจนั้นเอง อีกกิจกรรมการเปรียบการเขียนเหมือนอะไร ตัวฉันเปรียบการเขียนเหมือน กับไข่กับลูกเจี๊ยบคือ เราต้องฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ คือ เขียน ก ข ค พอโตมาเป็นลูกเจี๊ยบก็เขียนได้มากขึ้น เหมือนเป็นการเรียนรู้พัฒนาตนเองขึ้นมา ส่วนกิจกรรมที่ฉันชอบมากที่สุดคือการได้วิ่งไปจับเป้าหมาย โดยมีอุปสรรคคอยขัดขวาง เพื่อนบางคนเลือกไม่มีอุปสรรค แต่ตัวฉันเลือกมีอุปสรรค เพราะฉันมองว่า การที่คนเราเกิดมาทุกคนย่อมมีอุปสรรคกันทุกคน ไม่ใช่ราบรื่นเหมือนเดินบนกลีบกุหลาบเสมอไป แล้วแต่ว่าจะมากหรือจะน้อยก็เท่านั้น การมีอุปสรรคไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่มันขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะมองอุปสรรคนั้นหนักหนา หรือ เบาบางมากแค่ไหน ถ้าคิดว่ามันหนักหนา ทำไม่ได้หรอก มันก็จะท้อ ทั้งๆที่เรายังไม่ได้ลองทำเลย”

 

/ นางสาวชลทิชา กุฎเงิน

 
“ดิฉันขอเปรียบตัวเองเหมือนกับ ดวงอาทิตย์ เพราะชีวิตฉันมีทั้งมืดและสว่าง ขึ้นลงสลับกัน แต่ก็ขึ้นอยู่สูงสุดได้เสมอ เหมือนดังแสงของดวงอาทิตย์ ที่มีบางครั้งบางคราวโดนเมฆหรืออุปสรรคปัญหาต่างๆบดบัง ผ่านฝนผ่านพายุมาบ้าง และก็ยังมีพระจันทร์ คือ พ่อและแม่คอยโอบอุ้ม และมองตัวฉันอยู่ไกลๆไม่เคยห่าง ค่อยต่อสู้เพื่อฉันเคียงข้างฉันเสมอ ในบางครั้งคนก็เห็นค่าของดวงอาทิตย์ แต่บางคนคิดว่าดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ให้โทษคือแดดร้อนแผดเผาร่างกาย แต่สุดท้ายแล้ว โลกและทุกๆคนก็ยังต้องการดวงอาทิตย์เพื่อให้โลกนี้เกิดความสมดุล ต้องการแสงแดดเพื่อทำเกษตรกรรม ต้องการแสงแดดเพื่อความอยู่รอด และอีกมากมาย มันจึงมีคุณค่าในตัวมันเสมอ แม้คนอื่นไม่เห็น หรืออาจจะมองข้ามไปก็ตาม แต่เราไม่เคยลืมคุณค่าในตัวของเราเอง”

 

/ นางสาวจิรภิญญา สุขีพันธ์