ข้อสอบกลางภาคเขียนทบทวนชีวิตและสะท้อนบทเรียน นักศึกษา ม.บูรพา

อาจารย์ของโครงการฯ ได้รับเชิญให้จัดกระบวนการและร่วมออกแบบข้อสอบกลางภาคนักศึกษา ม.บูรพา จำนวน ๓ ห้องเรียน ในวิชาการออกแบบและการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ บันทึกเชิงกระบวนการส่วนตัวพากลับมาทบทวนตนเอง จับประเด็นวิเคราะห์ และเรียบเรียงถ่ายทอด  ดังนี้เป็นส่วนหนึ่งจากงานเขียนข้อสอบ

 

“ความรู้สึกหลังบันทึก หลังบันทึกนั้นทุกอย่างก็ดีขึ้นเพราะเราได้ระบายความผิดพลาดในอดีตลงไปในกระดาษให้กระดาษแผ่นนั้นนำความรู้สึกแย่ๆของเราออกไป รู้สึกว่าตัวเองก็เก่งนะที่สามารถเก็บความรู้สึกที่บั่นทอนจิตใจของตัวเองมาเป็นเวลาเกือบ1ปี ทำให้รู้ว่าความสุขจริงๆแล้วมันไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาที่เกิดเรื่องดีดีเท่านั้นแต่ความสุขมันเกิดได้ทุกทีขอแค่เรายอมรับในสิ่งที่เราผิดพลาดและก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปให้ได้ หลังจากได้ระบายความรู้สึกแย่ๆลงไปในกระดาษ มันเหมือนเป็นบทเรียนชิ้นนึงของเรามันเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เราสามารถนำมันมาเป็นบทเรียนและนำมันมาเป็นแนวทางและแก้ไข้ปัญหานั้นหากปัญหานั้นกลับมาเกิดกับเราอีกครั้ง”

(นายธนบดี พรกระจ่างสกุล)

 

“ข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวตนเรา ฉันสังเกตได้ว่าตัวเองเป็นคนอารมณ์แบบว่าใจเย็นแต่บางสถานการณ์ก็ใจร้อนพร้อมหาเรื่องได้ตลอดถ้ามาทำให้โกรธ ไม่ชอบเข้าสังคม รักความสันโดษ สงบนิ่ง ไม่ชอบความวุ่นวาย หัวเราะง่าย เก็บกดไม่ค่อยได้แสดงออก ขี้สงสารใจอ่อนกับคนแก่ ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับหนึ่งเป็นคนที่หัวโบราณมีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ เวลาทำงานหรือทำอะไรก็ตามจะต้องแผนมีหลักการวางขั้นตอนไว้เสร็จ เป็นคนที่อยู่ในขอบเขตเรื่องกฎระเบียบ เป็นคนตรงต่อเวลาไม่ชอบผิดสัญญา เป็นคนที่รักความอิสระเสรี ทุกคนมีสิทธิทางความคิดการกระทำเท่าๆกัน จริงจังกับงานไม่ชอบการเล่นจนเสียการเสียงาน จริงจังกับการใช้ชีวิตโดยจะท่องไว้เสมอว่าชีวิตคนเราไม่มีวันย้อนกลับได้จึงทำทุกอย่างเต็มที่และไม่ประมาทจนคนอื่นมองว่าเราเครียดเกินไป ที่จริงฉันเองก็มีมุมที่เฮฮาผ่อนคลายแต่น้อยคนนักที่จะได้เห็นถ้าไม่ใช่ครอบครัวและเพื่อนสนิทจริงๆ ชีวิตของฉันก็เป็นไปแบบเรียบง่ายอยู่ในกฎระเบียบที่ครอบครัววางไว้ ซึ่งตัวตนของฉันจะมีปรากฏอยู่ในบันทึกบางส่วนฉันไม่ได้เลือกที่จะบันทึกตัวตนทั้งหมดของฉันลงไปในบันทึกเพราะเกรงว่าจะดูแย่ไปกว่าเดิมเพราะเท่าที่ได้อ่านบันทึกของฉันทั้ง 2 ก็พอเดาได้ว่าฉันเป็นคนยังไงอาจจะไม่ตรงกับทัศนคติของคนอ่านก็เป็นได้เดี๋ยวจะพาลทำให้คนอ่านหมั่นไส้และไม่ชอบฉันขึ้นมากันพอดี ข้อสังเกตจากบันทึกอีกอย่างคือไม่มีใครรู้จักเราเท่าตัวเราเอง คงยากที่จะให้เราเป็นอย่างที่คนอื่นบอกว่าเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราจะเชื่อได้ยังไงว่าสิ่งที่คนอื่นบอกมันคือตัวตนเราบางทีสิ่งที่คนอื่นบอกอาจจะเป็นสิ่งที่เขาอยากให้เราเป็น ดังนั้นเราจึงต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองแต่ก็อย่าเชื่อมั่นจนไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น”

(นางสาวอลิษา แก้วบัวดี)

 

 

“คนเรามักจะใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบที่ต้องการ ปล่อยให้อดีตเป็นเพียงแค่ความทรงจำ จนลืมที่จะนึกย้อนกลับไปเพื่อหาบางสิ่งบางอย่างและฉันเองก็เป็นเหมือนกับคนเหล่านั้น แต่เมื่อถึงยามจำเป็นที่ต้องใช้เรื่องราวในอดีตเป็นเครื่องมือในการศึกษาเล่าเรียน มันก็ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องราวต่างๆที่ไม่น่าจดจำและทำให้ฉันนั่งน้ำตาไหล ในขณะที่จดบันทึกเรื่องราวลงในกระดาษ มันทำให้ฉันเห็นว่า คนรอบข้างเป็นห่วงและรักฉันมากแค่ไหน แต่ฉันกลับเอาแต่ใจ ใช้ความคิดตัวเองเป็นหลักในการเลือกเส้นทางชีวิต โดยไม่คิดถึงคนอื่น เมื่อฉันบันทึกเรื่องราวเสร็จ มันก็ทำให้ฉันค้นพบความผิดพลาดของตัวเองและคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็น บทสอบชีวิตที่ยากจะก้าวผ่านไปได้ นั้นคือเหตุการณ์ที่เสียยายไป โดยที่ไม่มีวันกลับคืนมา และฉันก็ไม่ได้กลับไปบ้านที่พัทลุงเพราะติดสอบปลายภาค เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ฉันรู้สึกผิดมาก เพราะยายคอยช่วยเหลือฉันเรื่องเงินค่าเทอมตลอด และฉันก็ตั้งใจว่าจะเอาใบปริญญากลับไปให้ยาย แต่พอฉันมาเรียนที่นี้ได้ไม่ถึงเทอมนึ่ง ยายก็มาเสียไป และฉันไม่มีโอกาสได้กลับไปร่วมพีธีกรรมแต่อย่างไรเลย ฉันพยายามขอสอบก่อน แต่มันก็ไม่ทัน จากเหตุการณ์นี้ไม่ได้ทดสอบแค่เรื่องเรียน แต่ยังทดสอบชีวิตของฉันด้วย การที่ฉันตัดสินใจเลือกอนาคตของฉัน มันทำให้ฉันรู้สึกผิดและเสียใจต่อยายจวบจนทุกวันนี้
การที่ฉันเลือกใช้ชีวิตความความคิดและความสุขของตัวเอง เลือกที่จะมาเรียนไกลบ้าน เพื่อตามหาความฝันของตัวเองและอยากอยู่ใกล้กับคนที่รัก ฉันทุ่มเททุกอย่างเพื่อเขา แต่กลับไม่คิดถึงคนที่บ้านว่า พวกเขาจะเป็นอย่างไร จนในวันนี้ฉันได้ทราบตคำตอบผ่านการเขียนบันทึกนี้ ว่าไม่มีรักไหน ที่จะรักเราจิงเท่ารักของพ่อแม่ เราะถ้าคนอื่นรักฉันจริง เขาคงไม่ทิ้งฉันไป ทั้งๆที่รู้มาโดยตลอด3ปี ว่าฉันทุ่มเทกับเขามากแค่ไหน และมันคงไม่มีใครที่สำคัญ ไม่แพ้ไปจากคนในครอบครัว นั้นคือ คำว่า “เพื่อน” ที่อยู่กับฉันตลอด ไม่เคยทิ้งกันไปไหน สำหรับตอนนี้ เรื่องร้ายๆก็ผ่านพ้นไปและมันทำให้ฉันรู้ว่าควรใช้ชีวิตต่อไปยังไงและทำอย่างไรถึงจะไม่ก้าวพลาดอีก นอกจากนั้น ฉันยังรู้สึกว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นฉันจะพยายามตั้งใจเรียนเพื่อยายต่อไป และจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า

 

(นางสาวศังสินา พรหมจินดา)

 

“การสะท้อนตัวเองและการทบทวน
การที่ผมได้ เริ่มเขียนบันทึกนั้นมันทำให้ผมได้คิดอะไร หลาย ๆ อย่างว่า ก่อนหน้านี้ ผมเคยทำอะไรไปบางและทำอะไรผิดพลาดไปบ้างทั้งเรื่องที่ขาดหายไปหรือเรื่องที่ทำมากไป และในขณะนั้นมันทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้ มองเห็นตัวเอง มองเห็นอดีต สิ่งที่เกิดขึ้น และผลที่ตามมา ทำให้ผมได้คิดอะไรมากขึ้นและได้ลองคุยกับตัวเองได้ ทบทวนกับตัวเอง ได้ลองเช็คอะไรหลายๆอย่าง ได้ถามตัวเองว่าแต่ก่อนทำไมเราทำเช่นนั้น และหลังจากการที่ผมได้บันทึก ผมได้รู้เลยว่า อดีตมันมีอะไรผิดพลาด หลายๆ อย่างแต่ใช่ว่ามันจะมีแต่ความผิดพลาดอย่างเดียว ความสุขจากอดีตก็มีเช่นกัน มันทำให้ผมได้รู้ว่า ในอนาคตผมจะทำเช่นไรกับมัน เพราะว่าอดีตมันไม่สามารถกับไปแก้ไขได้ และควรทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และควรทำอนาคตให้ดียิ่งกว่า และถ้าสังเกตุดี ๆ จาการใช้ชีวิต ของผม ผมเป็นคนมีลักษณะ เป็นคนที่ทำอะไรไม่ค่อยคิดเป็นคนที่ใช้ชีวิตวันต่อวัน เป็นคนจริงจัง ทำอะไรทำจริง และจากการที่ได้บันทึกผมก็รู้ได้ว่าผมนั้นเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายนะ เพราะจากที่ผมบันทึก ผมจะคิดถึงเรื่องไม่ดีมากกว่าเรื่องที่ดี หากพูดเรื่องดีก็จะมีเรื่องไม่ดีตามมา หรือผมอาจจะคิดมากไปเอง เพราะบางที หลายคนอาจจะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน บางทีผมก็คิดว่าตัวเองมีสองคนนะ เพราะบางที ผมก็มีช่วงเวลาที่เบื่อหน่ายมาก ขี้เกลียดมาก ไม่อยากทำอะไรเลย แต่บางที ตัวเอง ก็ขยันทำทุกอย่างเต็มที่ ขยันเหมือนคนบ้า แต่ไม่ว่าจะเป็น อย่างไร สองคนนั้นก็คือตัว ผมเอง ผมว่าผมมีหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำเลย ต้องขอบคุณบันทึกจริง ๆ ที่ทำให้ผมได้รู้ว่า ขาดอะไรไปและ ต้องทำอย่างไรกับอนาคต ไม่ว่าอย่างไรผมว่าผมจะไม่เปลี่ยนตัวเอง จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตเต็มที่ต่อไป แต่สิ่งที่ผมจะทำในอนาคตก็คือใช้ชีวิตเต็มที่ต่อไป แต่ที่จะคิดว่าเต็มที่นั้นมันจะมีทางแก้ไขได้ไหม คือว่าถ้าทำไปแล้วจะมีทางออกไหม บางคนอาจจะเปลี่ยนตัวเองแบบว่า ทำอะไรต้องคิดให้มากขึ้น แต่ผมว่าผมเป็นแบบเดิมดีแล้ว ผมว่าการแก้ปัญหานี้และสนุกที่สุดแล้ว บางที่ผมอาจะเป็นคนแปลกก็ได้นะ”

(นายอนุชา ชอบอาภรณ์)

 

เรียนรู้จากข้อสอบชีวิตของนักศึกษา ม.บูรพา ที่ทำข้อสอบกลางภาคแบบใหม่ เรียนรู้จากชีวิตผ่านกระบวนการเขียน ต้องขอบคุณอาจารย์สุขุมมิตร กอมณี อาจารย์ที่นักศึกษาชื่นชมว่าหายากนัก ได้ให้โอกาสอาจารย์ทางโครงการฯ ร่วมออกแบบข้อสอบใหม่… ข้อความต่อไปนี้คัดจากส่วนหนึ่งของงานเขียนสะท้อนจากบันทึกนักศึกษาที่ร่วมสอบ

“ขณะที่เขียนเรื่องราวต่างๆลงไปนั้น ทั้งในการเขียนด้วยปากกา วาดรูปออกมาจากความทรงจำ มันทำให้เรานั้นยิ้ม หัวเราะ และจำความรู้สึกในช่วงเวลาแต่ละเรื่องนั้นๆได้ด้วย ซึ่งมันเป็นความสุข และมันเป็นการตอกย้ำให้สิ่งดีๆเหล่านี้ยังอยู่ในความคิดละหัวใจตลอดไป ยอมรับว่าในขณะที่กำลังเอาปากกามาเขียนเรื่องราวนั้นๆ ก่อนที่จะเขียนได้ทบทวนก่อน แต่การทบทวนนั้นมันก็จำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด แต่พอเราได้เริ่มเขียนมันลงไป เชื่อมั้ยว่า อารมณ์และความรู้สึกรวมทั้งเรื่องราวนั้นๆเรานึกออกได้หมดจำภาพได้หมด จนบันทึกลงไปไม่ทัน จนต้องค่อยๆเรียบเรียงและเขียนมันลงไปให้หมด นี้แหละมันคือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากหัวสมองและปลายปากกาของเรา ขอบคุณการทบทวนครั้งนี้ ซึ่งทำให้เรากลับมามีความสุขอีกครั้งในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างมรค่า ต้องขอขอบคุณจริงๆ…”

 

(นางสาวหัทยา หนูอิ่ม)

 

“การที่จะมีชีวิตที่มีความสุขได้นั้น มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาก แค่เพียงเรารู้จักรักตัวเอง หรือลองหันมาคุยกับตัวเองมากขึ้น มาใส่ใจกับสิ่งที่อยู่กับตัวเรา มาแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ให้ได้ โดยสิ่งเหล่านี้ อาจจะทำได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือความรู้สึกของเรา เพราะการดำเนินชีวิตในแต่ละวันมันไม่มีอะไรแน่นอน เราอาจจะเสียคนที่รัก อาจจะทำของหล่นหาย อาจจะเกรดเฉลี่ยลดลง แต่ทั้งหมดนี้ถ้าเรารู้จักคิด รู้จักปล่อยวางทำใจให้สบาย และมองหาอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกว่านี้ เช่นเดียวกับการอยู่โดยไม่มีแม่ ขาดความอบอุ่น มันเป็นปัญหาหนักที่ได้เจอ และตัวเราต้องอยู่กับพ่อ ผู้ชายที่เรากอดไม่อุ่น แต่นั้นมันเป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดของเรา ที่เราสร้างขึ้นมานั่นเอง และจนตอนนี้ พ่อก็ได้ทำให้ความรู้สึกที่เราสร้างขึ้น รู้ว่า เขาคือคนที่เราอยากกอดไม่ปล่อย มากที่สุด”

 

(นางสาวยุภาภักดิ์ สมขาว)

 

สำเนาที่ นางสาวชณัฐฐา มั่งสูงเนิน 57020022 การพัฒนาชุมชน

…ภาพถ่ายเป็นส่วนหนึ่งงานเขียนของ นางสาวชณัฐฐา มั่งสูงเนิน… สะท้อนมุมมองต่อเจตนาของข้อสอบชุดนี้