ความประทับใจ การอบรม “เขียนเยียวยา” รุ่นที่ ๒๖ (๔)

 

 

” รู้สึกได้ถึงการเยียวยาตัวเองด้วยการเขียนที่มีผลต่อความคิดในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เป็นทิศทางของการดูแลตัวเองที่ถูกกับจริตตัวเองมาก การได้ทบทวนด้วยการดึงทุกความคิดออกมาเป็นเรื่องราวร้อยเรียงเป็นลำดับ ทำให้เกิดสติและปัญญาในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากตัวเองและคนอื่นได้อย่างดี การได้เปิดใจกับตัวเองอย่างยอมรับทุกความจริงและทุกความรู้สึกแบบไม่ได้ปิดกั้น ทำให้ไม่ทำร้ายตัวเองด้วยความคิดเหมือนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อีก เมื่อคิดแล้ว ก็มีการทบทวนและใคร่ครวญจนเรื่องราวนั้นๆตกผลึกและจบได้แบบไม่วกวนและละล้าละลังเหมือนที่เคยเป็น หลังอบรมรู้สึกดีมากมายและตั้งใจว่าจะพัฒนาตัวเองในเรื่องของการเขียนนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อลงลึกถึงจิตใจให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะจิตใจที่มีความสุข รู้เป้าหมายและรู้วิธีที่จะดูแลตัวเองให้มีชีวิตที่เหลือไปถึงเป้าหมายแบบไม่กดดัน น่าจะทำให้เกิดความคิดที่ดีต่อตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น
.
” บทเรียนจากการอบรม สำหรับตัวเอง คือ คนเราจะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่ตัวเองเลือกที่จะเป็น เลือกที่จะทำ ในทุกการเลือกและลงมือทำ ความคิดทั้งนั้นที่เป็นตัวกำหนด การปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งมากกว่าที่เป็น คือการทำร้ายตัวเองโดยตรง ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมักมีทั้งดีและร้ายแล้วแต่มุมที่จะเลือกหยิบขึ้นมาใช้ ถ้าคิดว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ดีทั้งนั้น ความทุกข์ก็จะไม่มี ความสุขจะเกิดได้ในทันที ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านไปแล้วก็ควรปล่อยให้ผ่านไป ไม่เก็บมาคิดและเก็บไว้จนเกิดเป็นปมกลับมาทำร้ายตัวเองแบบไม่รู้ตัว เหลือเรื่องราวที่พลาดพลั้งเอาไว้เตือนตนไม่ให้เพลี่ยงพล้ำอีกเท่านั้นก็พอ ไม่ต้องจำจนเจ็บ จุกและจบแบบไม่สวยงาม เพราะชีวิตคนเราทุกคนเกิดมาต่างก็สุขและทุกข์กันไปคนละแบบ ไม่มีใครที่ไม่ทุกข์หรือรับแต่ความสุขล้วนๆตั้งแต่เกิดจนจากโลกนี้ไป ทุกข์หรือสุขก็แค่ความรู้สึกที่มีความคิดตาม เกิดมาเดี๋ยวก็ดับไป รู้เท่าทันก็วางได้ไวและจะใช้ชีวิตที่เหลือได้อย่างเข้าใจตัวเอง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ”
.
คุณณัชชา (ณิช) อาชีพ นักธุรกิจ
.
.
” ประทับใจรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ต้องเปิดเผยบันทึกที่เขียนเรื่องราวส่วนตัวให้ใครเห็นแม้แต่อาจารย์ แต่ให้สรุปสิ่งที่ได้จากการเขียนส่ง เช่น ความรู้สึกหลังบันทึก หรือบทเรียนที่ได้รับ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้จากการทบทวนด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ โดยที่อาจารย์จะแนะนำเป็นครั้งคราวเมื่อสังเกตุว่าเราติดขัดกับสิ่งใดอยู่ เป็นสิ่งที่ประทับใจมากเพราะบางครั้งตัวเองก็ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากังวลในเรื่องนี้อยู่ ชอบที่แบ่งหมวดหมู่ชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจเลือกหัวข้อบันทึกที่ตรงกับความต้องการ มีหัวข้อให้เลือกเยอะ กระบวนการบันทึกก็มีมากบ้างน้อยบ้าง ให้ได้เลือกตามจังหวะของร่างกายและใจในเวลานั้น
.
” เราไม่เคยจริงจังในการจัดสรรเวลามาดูแลจิตใจตัวเอง หรือมีก็มีน้อยมาก จนได้มาเรียนเขียนกึ่งออนไลน์ ตั้งใจแบ่งเวลาในการทำการบ้านสม่ำเสมอ แค่เพียงตั้งใจและลงมือทำ หัวใจก็รับรู้ได้เลยว่าตัวเรานั้นมีคุณค่า เพราะเรามีเวลาให้และได้รับการดูแลใส่ใจ ความทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากความคิดของเราเอง ปัจจัยภายนอกเป็นเพียงส่วนนึงเท่านั้น เราควรใช้หัวใจให้มากขึ้น ฟังความรู้สึก และไว้วางใจในสิ่งที่ทำลงไปแล้วหรือยังมาไม่ถึง
.
” ให้เวลาแก่ตัวเองในการเยียวยา อย่าเร่งรัด กดดัน หรือบับคั้นมากจนเกินไป ความรู้สึกจริงๆอาจถูกซ่อนไว้ลึกมากโดยที่เราไม่รู้ตัวเพราะเราไม่กล้าเผชิญความจริง หรือเคยชินในการเก็บไว้จนหลงลืมไป จึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งที่การเขียนจะพาเราไปพบความรู้สึกนั้น เห็นได้จากหัวข้อเดิม เขียนต่างเวลากันสิ่งที่ได้ก็ยังไม่เหมือนกัน ”
.
คุณสุพัตรา (สุ) อาชีพ ค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์
.
.
” รู้สึกว่าเราได้ทบทวนตัวเองในเรื่องที่ผ่านมา ระลึกถึงความรู้สึกนึกคิด เรื่องดีดี เรื่องที่แย่ เรียนรู้กับครูโอเล่ที่สะท้อนในการบันทึกแต่ละเรื่อง อยากบันทึกต่ออีกมากมาย ที่จะทำให้สะท้อนตัวตนออกมา
.
” ชอบหัวข้อ ฉันโชคดี กับจดหมายจากร่างกาย ทำให้กลับมาดูแลตนเองมากขึ้น มองที่ตัวเราเองมากขึ้น ฟังสิ่งที่ตัวเราเองบอกตัวเองมากขึ้น ดูแลสุขภาพตัวเรามากขึ้น ฟังเสียงร่างกายตัวเอง ดูแลเขามากขึ้น นำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง มีสติกับตัวเองมากขึ้น ได้บทเรียนที่ทำให้เราต้องฟังตัวเรามากขึ้น จากที่ครูบอกว่า “บางทีการฟังเสียงหัวใจคนอื่นมากก็ทำให้เราละเลยเสียงหัวใจตนเองไปครับ การเข้าใจตัวเองแม้ไม่อาจทำได้ทั้งหมด ก็ยังผ่อนคลายมากกว่ามีแต่เสียงหัวใจคนอื่นในหัวเรา แต่ไม่เสียงหัวใจเราเองเลย” และการเอาใจใส่ตัวเราโดยเฉพาะร่างกายเรา
.
” รัก ใส่ใจ ดูแลตัวเองด้วยนะ ”
.
คุณเจษฎา (เจี้ยบ) อาชีพ รับราชการ พยาบาล
.
.
บทเรียน และ ความประทับใจ การอบรม #เขียนเยียวยา หลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต กึ่งออนไลน์ รุ่นที่ ๒๖
ติดตามการอบรม ได้ที่ www.dhammaliterary.org