๙ วิธี ชนะข้ออ้าง “ไม่มีเวลา” และหยุดเสียเวลาชีวิต

 

 

๙ วิธี ชนะข้ออ้าง “ไม่มีเวลา” และหยุดเสียเวลาชีวิต

 

ภาค ปรับวิธีคิด
.
๑ เรากำลังเผลอโทษสิ่งนอกตัวหรือไม่ :
.
การกล่าวว่า “ไม่มีเวลา” หรือ “ต้องใช้เวลามาก” เป็นการโทษสิ่งนอกตัว คือโทษเวลาหรือภาระทั้งหลาย นี่เป็นการบอกปัดความรับผิดชอบออกไปนอกตัว ทั้งที่สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เรา “ทำไม่ได้” หรือ “ไม่ได้ทำ” เกิดจากความเพียรมากน้อยของตนเอง และการบริหารจัดการชีวิต
.
การกล่าวโทษเวลาและภาระจึงยังเป็นการปฏิเสธตัวเองและความจริงที่ว่า เรายังมีความเกียจคร้านอยู่ เรายังมีความหลงอยู่ การกระทำของเราเองเป็นเหตุของความผิดพลาด มิใช่เวลาเป็นเหตุผลสำคัญ
.
หากเรามัวเฝ้าโทษเวลาน้อย และภาระต่างๆ อันเป็นของนอกตัวแล้ว เมื่อนั้นเราก็กำลังเสียเวลา เพราะไม่เรียนรู้และไม่สำนึกตนว่าเราต้องพัฒนาตนเอง ความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นต่อไป จึงเป็นเหตุทำให้เสียเวลาไม่รู้จบ แม้เพียงแค่เรามีความเพียรมากขึ้นกว่านี้ โทษตนเองไม่โทษสิ่งนอกตัวเกินไป เราก็มีเวลามากขึ้นแล้ว เพราะเหตุที่จะทำให้เสียเวลาในวันหน้าได้ลดน้อยลง
.
ชีวิตของตัวเราเองคือสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง การใช้ชีวิตในแต่ละวันคือสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง เวลาไม่ใช่สิ่งที่จะรับผิดชอบภาระต่างๆ ให้ได้ เราต้องเคารพตนเองให้มากพอ เป็นผู้ใหญ่ให้มากพอที่จะรู้ดูแลสิ่งต่างๆ ในขอบเขตที่ควร
.
เมื่อใดที่ผิดพลาด รับรู้ความผิดหวังและความเสียดาย อย่าปกป้องความรู้สึกนั้นด้วยการกล่าวโทษเวลาและภาระทั้งหลาย เมื่อนั้นเราจะมีใจที่เข้มแข็งและใช้ชีวิตอย่างแข็งแรง การรับผิดชอบต่อความผิดพลาดคือการฝึกเป็นผู้ใหญ่และผู้เคารพตนเองอย่างแท้จริง ไม่ต้องโทษสิ่งนอกตัวกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตนเองอีกแล้ว
.
.
๒ การมีเวลาทำสิ่งใด คือการให้ความใส่ใจกับสิ่งนั้น :
.
สิ่งที่เราไม่อยากทำ สิ่งที่เราไม่ชอบทำ จิตมักจะหาข้ออ้างต่างๆ มากมายเพื่อให้เราไม่ต้องทำหรือมีเวลาทำน้อยที่สุด แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เราอยากทำหรือชอบทำ ต่อให้แม้มีธุระยุ่งเพียงใด เราก็จะหาทางทำให้ได้
.
การมีเวลา จึงไม่ได้เกี่ยวกับ “เวลา” อย่างแท้จริง แต่เกี่ยวกับ “ความใส่ใจ” ของเราเองว่า ใส่ใจในสิ่งดังกล่าวมากเพียงใด หากยังใส่ใจน้อยทั้งที่เป็นสิ่งที่ควรทำแล้ว เราก็จะรู้สึกไปเองว่าไม่มีเวลาทำสิ่งเหล่านี้เลย ต้องสังเกตความคิดพินิจสาเหตุว่าเพราะอะไรจึงไม่ค่อยใส่ใจ เราเห็นคุณค่าความสำคัญของเรื่องนั้นน้อยเกินไปหรือไม่
.
การคิดคำนึงถึงโทษหากไม่ได้ทำหรือไม่รีบทำ อาจเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เราใส่ใจกับสิ่งดังกล่าวมากขึ้น แต่จะยั่งยืนมากกว่าหากกลับมาทบทวนว่า เราให้คุณค่ากับอะไรมากเกินไป ซึ่งมักจะเป็นสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ควรทำแต่ไม่ให้เวลาทำ
.
หากเราให้คุณค่ากับเงินและงานมาก เป็นไปได้มากว่าเราจะไม่ให้เวลาในการดูแลสุขภาพเลย แม้เห็นโทษของการไม่ออกกำลังกายแล้ว แต่ก็อาจไม่ทำอยู่ดี เพราะเราทุ่มเทความใส่ใจไปที่เงินและงานมากเกินไป จนไม่เหลือพื้นที่ให้สิ่งสำคัญอื่นๆ อย่างเช่นร่างกายตนเอง
.
หากเราให้คุณค่ากับความสนุกและความเพลิดเพลินมากเกินไป เป็นไปได้ว่าเราจะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องใช้ความอดทนและความเพียรพยายาม เราก็จะล้มเหลวในเรื่องของวินัย
.
ต้องกลับมาถามตนว่าสิ่งที่เราให้คุณค่ามากๆ นั้นแท้จริงแล้วมีประโยชน์ในปัจจุบันมากเพียงใด สิ่งใดในชีวิตตนเองที่เราควรเห็นคุณค่าให้มากขึ้น จึงจะมี “สาม ส.” คือ ความสุข ความสำเร็จ และความสมดุลในชีวิตยิ่งกว่านี้
.
สามารถเปลี่ยนจากสิ่งที่ไม่ชอบหรือเฉยๆ ให้เป็นสิ่งที่ชอบ ด้วยการหาแง่มุมที่ดีๆ เปลี่ยนความคิดใหม่ และหาแง่มุมที่เราสามารถเพลิดเพลินไปกับมันได้ แล้วเราจะรู้สึกเองว่า “มีเวลา” ให้มากขึ้น มันไม่ได้เกี่ยวกับเวลาอย่างแท้จริงเลย แต่เกี่ยวกับการใส่ใจและจิตใจของเราเอง
.
.
๓ เราทุกคนต่างมีวินัย แค่ต้องเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น :
.
เมื่อเราไม่เห็นคุณค่าในตนเองอย่างแท้จริง เมื่อนั้นเราก็จะใส่ใจกับสิ่งนอกตัว สิ่งไร้ประโยชน์ และสิ่งที่เกินความจำเป็นมากเกินไป นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เวลาของเราสูญเสีย
.
การไม่เห็นคุณค่าในตนเองย่อมส่งผลทำให้เราไม่มีวินัยในการดูแลและฝึกฝนตนเอง แต่ไปให้วินัยหรือความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอกับเรื่องไม่เป็นเรื่องแทน เช่นเปิดโทรศัพท์มือถือทุกสิบห้านาทีโดยไม่รู้ตัว เผลอคิดเรื่องเดิมๆ ซ้ำทุกชั่วโมง ดื่มกาแฟฟรือชานมไข่มุกทุกวัน เป็นต้น
.
เราทุกคนต่างก็มีวินัยและความสามารถในการบริหารจัดการเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่มันกระจัดกระจายไปในหลายๆ เรื่อง หรือไปทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่สำคัญแต่ให้ความเพลิดเพลิน เพราะวินัยนั้นยังขาดการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นพื้นฐาน จึงไปใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ได้มีคุณค่าแท้จริง
.
มองดูตัวเราเอง เรามีคุณค่าน้อยกว่าสิ่งนอกตัวที่เราใส่ใจมันหรือไม่ หากเราเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่านี้เราจะทำสิ่งใดเพื่อตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากรักตัวเองจริงยิ่งกว่านี้ เราจะลดเลิกในสิ่งใด และตั้งใจทำอะไรทุกๆ วัน
.
.
๔ ความตายอยู่ใกล้มาก เราจึงไม่มีเวลาอยู่แล้ว :
.
“ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย (ความตายเป็นใหญ่ หนีไม่พ้น) พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ” *[๔]
.
เราอาจมีเวลาอยู่เพียงแค่วันเดียว หรืออาจสิ้นสุดชีวิตลงภายในวันนี้ เราไม่มีเวลาอยู่แล้ว เพราะ “นายโคบาลย่อมต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากิน ด้วยท่อนไม้ฉันใด ความแก่และความตายย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น” *[๕] ความตายอาจเกิดกับเราได้เสมอๆ ด้วยสาเหตุมากมาย แม้ในเวลากลางวันหรือกลางคืน เราจึงเป็นผู้ที่ไม่มีเวลาอยู่แล้ว
.
เวลาเป็นสิ่งสมมติที่ไม่มีอยู่จริง เป็นเครื่องชี้วัดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และการดับไปที่คนเรากำหนดขึ้นเท่านั้น เวลาไม่ใช่ตัวตนและสิ่งที่พึงเอาเป็นเจ้าของได้ ดังนั้นเราจึงเป็นผู้ที่ไม่มีเวลา
.
ดังนั้นเวลาจึงไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างของความสำเร็จและความล้มเหลวได้เลย คนเราเป็นไปตามกรรมที่ก่อไว้เอง ได้แก่กรรมหรือการกระทำทางกาย วาจา และใจ มิได้เป็นไปตามเวลาว่ามีมากหรือน้อย
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดังนั้นแล้ว “พึงทำความเพียรเสียในวันนี้” ชีวิตเราไม่รู้ว่าเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด รู้ได้แต่เพียงว่า ชีวิตนั้นไหลคืนสู่ที่มาคือความตายความสูญสิ้นไป จากมากไปหาน้อย เราต่างเป็นผู้ไม่มีเวลา และมีชีวิตที่ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
.
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราจะเลือกทำสิ่งใด ถ้าหากเรารู้ซึ้งแก่ใจว่าชีวิตกำลังน้อยลง ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เราจะเลือกทำสิ่งใดในชีวิตที่มีจำกัดนี้
.
เมื่อเราพึงระวังความตายไว้เนืองๆ วินัยและความเพียรจะเกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง เมื่อนั้นเราก็ไม่อ้างว่าไม่มีเวลา หากเราใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท แม้อยู่เพียงวันเดียวหรือคืนเดียวชีวิตก็มีคุณค่าดังคำตรัสของท่านว่า “บุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ” จึงไม่เกี่ยวกับว่ามีเวลามากหรือน้อยเลย แม้มีเวลาแค่คืนเดียวก็ทำสิ่งที่มีคุณค่าได้
.
ตราบใดที่เรายังทำตัวเองเสียเวลา อ้างว่าไม่มีเวลา ขาดความเพียรพยายาม เมื่อนั้นเรายังประมาทต่อความตายอยู่ ยังไม่รู้สึกตัวว่าความตายใกล้เข้ามามากเพียงใด แม้อยู่ไปหลายปีหลายทศวรรษชีวิตก็ไม่มีคุณค่า
.
เราไม่มีเวลาแล้วที่จะประมาท เพราะ “ชนเหล่าใดประมาทแล้วย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว” *[๖]
.
.
ภาค ฝึกจิตใจ
.
เราจะเพิ่มความเพียรให้มีเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ที่ก่อประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นได้นั้น นอกจากเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนที่หัวใจของตัวเองอีกด้วย ซึ่งการขาดความเพียรนั้นเป็นเพราะใจยังมีตะปูตรึงตราและมีเครื่องผูกพันธนาการ ทำให้หยุดชะงักกับการไม่พัฒนาตนเอง ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก โดยได้ยกมาสองส่วนดังนี้
.
.
๕ ถอนตะปูตรึงใจ :
.
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบอุปสรรคที่ตรึงใจให้หยุดนิ่งไม่ขวนขวายในการพากเพียรฝึกฝนตนเอง ดั่งตะปูตรึงใจทั้ง ๕ ประการ ประกอบด้วย ความลังเลสงสัยและขาดศรัทธาจำนวน ๔ อย่าง และความขุ่นมัวของจิต ๑ อย่าง
.
ความลังเลสงสัยและขาดศรัทธาที่ทรงจำแนกนั้น คือการเคลือบแคลงต่อศาสดา ต่อธรรม ต่อภิกษุด้วยกันเอง และต่อการศึกษาฝึกฝน เหล่านี้เป็นเหมือนตะปูตรึงใจ ทำให้ “ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร” *[๒] หรือกล่าวคือทำให้ขาดวินัยนั่นเอง
.
ในแง่ของเราผู้เป็นบุคคลทั่วไปแล้ว หากเราลังเลสงสัยต่อครูผู้สอน ต่อความรู้ ต่อเพื่อนร่วมเรียนหรือผู้ฝึกปฏิบัติคนอื่น หรือเคลือบแคลงต่อวิธีการฝึกฝน เราย่อมไม่มีแรงใจพอในการพากเพียรศึกษาเรื่องนั้น
.
ความขุ่นมัวของจิตที่เป็นอีกตะปูตรึงใจ คือมีความโกรธในจิตใจ มีความขุ่นข้องที่พร้อมฉุนโกรธ มีความขุ่นมัวไม่แช่มชื่น ท่านทรงกล่าวว่านี่ก็จะเป็นเหตุให้ไม่เกิดความเพียรด้วยเช่นกัน
.
ความขุ่นมัวของจิตนี้ก็มาจากการถือตัว ความอยากได้อยากเป็น อารมณ์ลบที่สะสมนองเนืองไว้ในจิตใจ รวมถึงความเครียดทั้งหลาย
.
หากเป็นการทำงาน เมื่อมีความลังเลเคลือบแคลงและขุ่นมัวในจิต การกระทำที่ต้องทำร่วมกับคนอื่นก็จะช้าลงและเกิดประสิทธิผลน้อยลง ย่อมเสียเวลาที่ต้องทำใหม่หรือทำมากขึ้น อาจช้าลงไปอีกเพราะการวิวาทกันกับผู้อื่น หากเป็นการศึกษาเล่าเรียน เราก็อาจเสียเวลาไปกับการขาดสมาธิใส่ใจ ทำให้เรียนช้าและเรียนยากกว่าผู้อื่น อ่านตำราจนจบเล่มไปแล้วหรือทำการบ้านส่งไปแล้วก็อาจไม่เกิดการเรียนรู้ มิใช่เพราะผู้สอนผิด แต่เป็นเพราะจิตผู้เรียนไม่พร้อมเรียนรู้นั่นเอง
.
เสมือนผู้รีรอที่จะก้าวไปทางใดทางหนึ่งแต่ไม่ก้าวไปเสียที เวลาย่อมล่วงไปกับความลังเล เมื่อชนะความเคลือบแคลงของจิตและความขุ่นมัวต่างๆ ได้ เราย่อมเรียกเวลาชีวิตคืนกลับมาด้วยความเพียรอีกครั้ง
.
เราควรกลับมาสำรวจใจตนเองว่าเหตุใดจิตจึงระแวงสงสัยและขาดศรัทธา เป็นเพราะการคิดมากไปเอง การระแวงไปเอง เป็นเพราะอคติหรือความเชื่อที่มีมา เป็นเพราะการไม่เปิดใจ ติดในองค์ความรู้ที่มีหรือประสบการณ์ เป็นเพราะการถือตัว หรือเป็นเพราะยังขาดความสำรวมตน หากไม่แล้วก็อาจเป็นเพราะการขาดข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้อง จึงควรศึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติม และปรับเปลี่ยนมุมมองของตนเอง
.
ความขุ่นมัวของจิตอาจมาจากความรู้สึกที่ค้างคาจากความเครียดและเรื่องอื่นๆ ของชีวิต หากเราสะสมไว้อย่างขาดสติก็ย่อมเป็นเหตุทำให้ขาดแรงใจที่จะพากเพียร ย่อมเหนื่อยหน่ายง่าย ป่วยกายใจ หรือจิตฟุ้งซ่านไม่อยู่กับตัว ต้องกลับมาสำรวจอารมณ์ภายในและหาวิธีการดูแลให้ถูกต้องไม่สะสมไว้
.
ทำใจให้สะอาด สว่าง และสงบ เปิดกว้างดังแก้วที่ไม่ปิดและไม่มีน้ำเต็ม จะเรียนรู้หรือทำงานการใดก็ทำได้โดยสะดวกและง่าย เวลาก็ย่อมไม่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์
.
.
๖ ชนะเครื่องผูกพันใจ ทั้งห้าประการ :
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงอุปสรรคทางใจอีกประเภท ซึ่งจะขวางกั้นเราจากการมีความเพียรอย่างแท้จริง ได้แก่เครื่องผูกพันใจทั้ง ๕ อย่าง คือ ความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากใน “กาม” , ความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากใน “กาย” , ความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากใน “รูป” , ความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากใน “การพักผ่อนนอนหลับ” และ ความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากใน “การเป็นเทพเทวดา และการไปจุติในภาวะหรือภพภูมิที่ดีกว่า” *[๓]
.
หรือกล่าวได้ว่า ความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากในสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย คืออุปสรรคที่ผูกพันใจให้อยู่กับอารมณ์ ทำให้ขาดจากความเพียรฝึกฝนตนเองหรือทำสิ่งที่พึงกระทำ
.
กาม ในที่นี้ก็คือความน่าเพลิดเพลินทั้งหลายทางอารมณ์และผัสสะ กาย ในที่นี้ก็คือร่างกายของตนเอง และรูปก็คือสิ่งนอกตัวทั้งหลาย เมื่อหลงใหลไปกับสิ่งเหล่านี้แล้ว จิตก็ขาดพลังที่จะพาตนเองให้ก้าวต่อ จะมัวคลุกคลีอยู่กับกาม กาย และรูปด้วยอารมณ์ ไม่ยอมทำสิ่งที่ควรกระทำด้วยเหตุผล
.
ส่วนการติดใจในการพักผ่อนนอนหลับ เมื่อเราเอนกายหรือหลับลงไปอย่างขาดสติแล้วก็ย่อมมีความเพลินใจไม่อยากลุกไม่อยากตื่น ทำให้ขี้เกียจ ขี้เซา เฉื่อยเนือย ก็ย่อมเสียเวลาไปกับการนอน การง่วง การลุกตื่นช้า และการทำอะไรอย่างไม่คล่องแคล่ว
.
การปรารถนาจะเป็นเทพเทวดาหรือจุติในภพหรือภาวะที่ดีกว่า คือการติดใจในความอยากที่จะไปสู่สภาวะที่ดีกว่านี้ในปัจจุบัน เป็นตัณหาหรือความทะยานอยากแบบหนึ่งเรียกว่า “ภวตัณหา” คืออยากเป็น แม้ทำให้มีความเพียรสะสมบุญหรือทำกิจกรรมที่นำความสงบใจมาให้ แต่ก็จะไม่มีกำลังพากเพียรพอที่จะเรียนรู้มากขึ้นกว่านั้น ไม่ใฝ่ใจในการศึกษาความทุกข์เพื่อการหลุดพ้นหรือแก้ปัญหา ไม่สบตากับด้านมืดหรือสิ่งไม่ดีในตนเอง แต่ติดในความสบาย ความดี และความสงบจนเกินไป จึงยังขาดความเพียรที่แท้จริง ทำให้ขี้เกียจขี้คร้านและเสียเวลา
.
เมื่อใดใจถูกครอบงำด้วยความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยาก เมื่อนั้นชีวิตก็เสียเวลาและไม่มีเวลา เพราะเราย่อมเผลอไปพูด คิด และทำในสิ่งต่างๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ ย่อมเชื่องช้าในการทำสิ่งที่ควรเพราะมัวโอ้เอ้แวะระหว่างทาง เพลิดเพลินกับการคิดและทำสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ เวลาที่มีก็ย่อมหมดไป
.
เราจึงควรฝึกรู้ตัว สังเกตความอยาก ความพอใจ และความหลงใหลในจิตใจตน และหลีกเลี่ยงจากสิ่งยั่วเร้ากิเลสทั้งหลาย หรืออย่างน้อยลดให้น้อยลง ความเพียรในสิ่งที่ควรก็จะมีมาเอง เวลาก็จะมีมากขึ้นเอง เมื่อลดการกระทำและการคิดอย่างขาดสติเหล่านี้
.
.
ภาค เปลี่ยนการกระทำ
.
เราจะชนะข้ออ้างไม่มีเวลาและทำให้ชีวิตเรามีเวลาอย่างเต็มเปี่ยมได้ ต้องปรับที่วิธีคิด จิตใจ และที่สำคัญคือการกระทำในชีวิตประจำวันด้วย โดยได้ยกข้อคิดจากพระไตรปิฎกมาดังนี้
.
.
๗ กินอาหารที่เหมาะสม รักษาร่างกาย และไม่มัวโอ้อวด
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระภิกษุที่ประกอบไปด้วยคุณลักษณะห้าประการ เมื่อได้พำนักที่ฝึกตนที่ดีก็จะบรรลุธรรมได้ในเวลาไม่ช้านาน คุณลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย เป็นผู้มีความศรัทธา โดยเฉพาะต่อผู้เป็นครูและศาสดา , เป็นผู้มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลางควรแก่การบำเพ็ญเพียร , เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริง , ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย และเป็นผู้มีปัญญา *[๑]
.
จะเห็นได้ว่าการมีร่างกายที่แข็งแรงเพียงพอ รับประทานอาหารที่เหมาะสม และประพฤติตนไม่โอ้อวด ต่างช่วยส่งเสริมความเพียรและการปฏิบัติ ทำให้เกิดมรรคผลในเวลาที่ไม่นาน แม้คำแนะนำดังกล่าวท่านตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ แต่ย่อมมีประโยชน์แก่เราผู้ใส่ใจพัฒนาตนเองด้วยเช่นกัน
.
การที่มีร่างกายไม่แข็งแรงก็ย่อมเสียเวลาไปกับการดูแลรักษา และไม่มีกำลังที่จะขยันหมั่นเพียรทำสิ่งที่มีประโยชน์ได้ การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ย่อยยาก หรือมีฤทธิ์ร้อนเย็นเกินไป ย่อมส่งผลทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานในการย่อยมากขึ้น หรือใช้เวลาในการย่อยนาน ทำให้ร่างกายมีสภาวะที่ไม่พอดี ก็จะเป็นผลทำให้จิตใจเฉื่อยเนือยลง ขาดความตั้งมั่น หรือเจ็บป่วย ย่อมเป็นการเสียเวลาหรือต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าที่ร่างกายจะมีสภาวะที่พร้อมสำหรับการทำประโยชน์ต่อไป
.
หากต้องการมีเวลาชีวิต ไม่ให้เสียเวลา ก็ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกาย มีความเป็นกลางควรแก่การใช้กำลังกายกำลังใจในการทำสิ่งที่ดีต่อตนเอง ไม่ติดใจในความจัดจ้านหรือรสเด็ดโดดเด่นของอาหารจนบั่นทอนกำลังของตนเอง
.
อีกประเด็นที่สำคัญในคำตรัสของท่านคือการไม่เป็นผู้โอ้อวด เหตุใดการไม่เป็นผู้โอ้อวดจึงเป็นคุณลักษณะของผู้ใช้เวลาฝึกตนไม่นาน ย่อมตอบได้ง่ายว่าเพราะไม่เสียเวลาไปกับการโอ้อวดตน จนหมดเวลาและสมาธิที่จะฝึกตัวเอง
.
ในชีวิตประจำวันมีช่องทางต่างๆ ให้เราโอ้อวดตนได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน การโอ้อวดนี้มิใช่แค่การวางก้างอวดเบ่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการอวด การโชว์ การป่าวประกาศ และการคุยโว ผ่านการคุยกับคนรอบตัวก็ดี การแชทก็ดี หรือการโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ล้วนเป็นการโอ้อวดและเป็นเหตุที่ทำให้เวลาชีวิตและความเพียรเสื่อมลงไป
.
เราคิดคำนวนได้ว่าหากเราลดเวลาในการโพสต์ การแชท และการท่องเที่ยวในสื่อสังคมออนไลน์แล้ว ชีวิตจะมีเวลาเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าใดในแต่ละวัน หากลดการพูดคุยโวและการอวดโชว์ตัวตนในรูปแบบต่างๆ แล้ว ชีวิตจะมีเวลาเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าใด
.
เปลี่ยนจากเสียเวลาไปกับการกินที่ไม่เกิดประโยชน์ การรักษาโรคเพราะไม่ดูแลร่างกาย การโอ้อวดตนและอวดโชว์ต่างๆ แล้วผัดวันในธุระที่ควรทำ เพราะความประมาทในการอยู่ และในการกิน เปลี่ยนเป็นการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ด้วยความมีสติอยู่เสมอ เมื่อนั้นแล้วเราก็จะลบข้ออ้างไม่มีเวลาออกไปจากชีวิต
.
.
๘ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ :
.
การใช้ชีวิตอย่างไม่เสียเวลาต้องมีสิ่งสำคัญคือ “สติสัมปชัญญะ” คือความรู้ตัวทั่วพร้อม มีสติในปัจจุบัน และสัมปชัญญะในสิ่งที่กำลังทำ ทำไปแล้ว และกำลังจะทำต่อไป คือทำอะไรให้รู้ตัว คิดอะไรให้รู้ตัว และรู้ว่าทำไปอย่างไรเพื่ออะไร
.
เมื่อสติสัมปชัญญะไม่มี หิริโอตัปปะ คือความรู้ผิดชอบชั่วดี อะไรควรทำไม่ควรทำ ก็จะไม่มี เพราะจิตสำนึกจะมีได้แก่คนที่มีสติสติสัมปชัญญะครบถ้วนเท่านั้น เมื่อไม่มีหิริโอตัปปะแล้ว อินทรียสังวร หรือการสำรวมระวังในการรับรู้ต่างๆ ก็จะไม่มี
.
เมื่อขาดการสำรวมก็จะไม่มี ศีล คือกรอบในการประพฤติปฏิบัติ กล่าวโดยง่ายว่าชีวิตก็จะขาดวินัยและหลักยึดในการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เพราะไม่มีการสำรวมระวังการรับรู้ เมื่อขาดศีลครองตนแล้ว สัมมาสมาธิ คือการมีใจจดจ่อใส่ใจอย่างถูกต้องและเหมาะสมก็จะหายไป *[๗]
.
เช่นนั้นแล้วก็ย่อมทำสิ่งต่างๆ อย่างเสียเวลาและเสียประโยชน์ เพราะไม่มีสมาธิ ซึ่งเป็นเช่นนี้ก็เพราะขาดศีลหรือหลักกำกับตน ขาดศีลก็เพราะขาดการสำรวมระวังการรับรู้ทางกายใจของตนเอง โดยจุดเริ่มต้นของการเสียเวลาและเสียธรรมอันเป็นประโยชน์ในตนเหล่านี้ไปก็ด้วยการขาด “สติสัมปชัญญะ” ในการใช้ชีวิตนั่นเอง
.
เราจะใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อเพิ่มสติสัมปชัญญะ เพื่อมิให้เสียเวลาและเสียธรรมอันเป็นประโยชน์ในตนเองไป เราสามารถใช้หลักการปฏิบัติ “สติปัฏฐาน ๔” ในการใช้ชีวิตและการกระทำต่างๆ สติสัมปชัญญะก็จะเพิ่มพูนมากขึ้น
.
สติปัฏฐาน หรือการหาฐานที่มั่นให้สติ ทั้งสี่ประการ กล่าวโดยสรุปคือ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม *[๘] กล่าวโดยง่ายคือ เมื่อทำอะไรอยู่ ให้กำหนดรู้มีสติในการกระทำนั้น รับรู้ร่างกายภายนอกภายในตามอาการที่เกิด นี่คือเห็นกายในกายแต่โดยย่อ มีร่างกายเป็นฐานให้จิตมาจับไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่านไป
.
ส่วนเห็นเวทนาในเวทนา เมื่อทำอะไรอยู่ ให้กำหนดรู้มีสติ เมื่อเกิดเวทนาคืออารมณ์ความรู้สึก รับรู้การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไปของอารมณ์ความรู้สึก ทั้งความรู้สึกที่ชัดเจนและซ่อนเร้น เพียงสักว่ารับรู้ไม่ใช่เจ้าของ นี่คือเห็นเวทนาในเวทนาแต่โดยย่อ มีอารมณ์ที่เกิดในปัจจุบันเป็นฐานให้จิตมาจับไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่านไป
.
ส่วนเห็นจิตในจิต เมื่อทำอะไรอยู่ ให้กำหนดรู้มีสติ เมื่อรับรู้ได้ว่าจิตตนว่าเป็นอย่างไร มีกิเลสใดเกิดขึ้นภายใน คิดไปอย่างไร ดิ้นรนหรือสงบหรือไม่ ทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกหรือลึกกว่า ให้เป็นผู้สังเกตไว้ไม่ถือเป็นเจ้าของ นี่คือเห็นจิตในจิต มีอาการของจิตในปัจจุบันเป็นฐานให้จิตมาจับไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่านไป
.
สุดท้าย เห็นธรรมในธรรม เมื่อทำอะไรอยู่ ให้กำหนดรู้มีสติ เมื่อรับรู้ได้ว่าความเป็นไปภายในกายจิตตนกำลังแสดงธรรมอย่างไร ระลึกได้ถึงกิเลสที่เกิดก็ดี การเสื่อมไปของกิเลสก็ดี การแตกแยกย่อยซึ่งองค์ประกอบน้อยใหญ่ของกายจิต รวมถึงการสละหลุดพ้นจากเหตุแห่งทุกข์ต่างๆ ทั้งเบื้องต้นและเบื้องลึก ให้เป็นผู้สังเกตในสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่ถือเป็นเจ้าของ นี่คือเห็นธรรมในธรรม
.
หลักของสติปัฏฐาน มิได้ให้เราใช้เฉพาะเมื่อนั่งสมาธิหรือเข้าค่ายปฏิบัติธรรมเท่านั้น แต่ในการทำงานและกิจวัตรใดๆ ก็ตาม เราสามารถฝึกสติสัมปชัญญะไปด้วยได้ ให้การกระทำในงานและกิจวัตรประจำวันต่างๆ นั้นเป็นเครื่องมือ เริ่มจากการมีสติที่อาการของร่างกายและความเป็นไปภายในอย่างเฝ้าดู จนจิตรับรู้กายอย่างละเอียด รับรู้เวทนา จิต และธรรมไปตามลำดับ
.
การใช้ชีวิตอย่างมีสติเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดูแลจัดการเวลาเป็นอย่างมาก เพราะเรามักไม่รู้ตัวว่าเสียเวลาชีวิตไปทีละเล็กละน้อย รวมกันในแต่ละวันแล้วมากเพียงใด
.
มักกล่าวกันว่าในวันๆ หนึ่งก็แทบไม่มีเวลาแล้ว ธุระและงานมากเหลือเกิน เพราะเราไม่รู้ตัวว่ามัวเสียเวลาไปกับการคิด พูด และทำ คือกรรมสามประการ อย่างขาดสติ เป็นจำนวนครั้งมากเพียงใด ในแต่ละครั้งก็หมดเปลืองไปเป็นวินาทีบ้าง เป็นนาทีบ้าง หรืออาจนานยาวเป็นชั่วโมง ทีละน้อยๆ เหมือนรูรั่วของโอ่งน้ำ ไหลออกทีละหน่อย แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้เป็นวันก็หมดเปลืองไปไม่ใช่น้อย เฉลี่ยวันหนึ่งเราต่างทำเวลาชีวิตของตนเองหล่นหายไปไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงจากการกระทำที่ขาดสติ
.
เหตุของการเสียเวลาจึงมารวมอยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างขาดสตินั่นเอง ทั้งนี้แม้เราจะเห็นคุณค่าของการฝึกสมาธิเพื่อความมีสติอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อแม้ว่าไม่มีเวลา ต้องรอโอกาส ทั้งที่ความจริงเราไม่จำเป็นต้องหาเวลาไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมหรืออ้างว่าต้องจัดเวลานั่งสมาธิเลย สิ่งที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้และกำลังจะทำต่อไปคือเวลาของการฝึกสมาธิภาวนาแล้ว
.
เมื่อใดที่มีสติ เมื่อนั้นเรากำลังปฏิบัติธรรม เมื่อนั้นเรากำลังรักษาเวลาอันมีค่าไว้ ไม่ว่าจะในการฝึกสติระหว่างการทำงานหรือกิจกรรมใดก็ตาม นั่นคือการภาวนา
.
.
๙ วางแผนชีวิตสวนกระแสใจ :
.
กล่าวในข้อที่หกว่า ตัวต้นเหตุที่ทำให้เสียเวลาและเสียความพากเพียรไปคือกิเลสที่อยู่ในใจเรานี่เอง คือความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากในสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนกระแสความเคยชินในจิตใจเรา ทำให้มัวโอ้เอ้ เชื่องช้า และขาดพลัง ดังนั้นแล้วเราจะใช้ชีวิตด้วยการไม่เสียเวลาและเสียความพากเพียรได้ เราก็ต้องปรับชีวิตตนเองใหม่ให้สวนกระแสดังกล่าว
.
เมื่อปล่อยไปตามความเคยชินเคยตัว จิตก็จะถูกชักนำให้สนใจและลงมือทำในสิ่งที่มีความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากมากก่อน สิ่งที่ควรทำจริงๆ ก็อาจถูกผัดออกไป กว่าจะได้ทำก็เหนื่อยล้าหมดแรงแล้ว
.
ดังนั้นเราจึงต้องทำในสิ่งที่ตรงข้าม เริ่มตั้งแต่การวางแผนและการตั้งเป้าหมายในแต่ละวันให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำก่อน ทำสิ่งที่ไม่ใคร่พอใจ และทำสิ่งที่ไม่ทะยานใฝ่หาก่อนเป็นอันดับแรกๆ
.
หากการวางแผนเช่นนี้เป็นสิ่งที่ฝืนใจมากก็ให้เราบอกตนเองว่า เราจะทำสิ่งที่อยากทำน้อยก่อน ทำสิ่งที่ใคร่พอใจน้อยกว่าก่อน และทำสิ่งที่ทะยานใฝ่หาน้อยที่สุดก่อน สิ่งที่ต้องทำที่เหลือก็จะทำได้อย่างสะดวกมากขึ้น ทำอย่างเบาใจและสบายใจมากขึ้น เหมือนยกหินที่ถ่วงไว้ในอกออกไปก่อน การลงมือทำอย่างอื่นก็จะเบาใจ สบาย และมีความสุข
.
ทำงานที่ยากและหนักก่อน เคลียร์สิ่งที่อยากเคลียร์น้อยที่สุดก่อน หากทำสิ่งเหล่านี้ทีหลัง เรามักจะไม่ได้ทำ ทำได้ไม่สำเร็จ หรือทำได้ไม่เต็มที่ ย่อมเสียเวลาและเสียความขยันลงไปทีละน้อยละน้อย เพราะไปใช้พลังงานและเวลากับสิ่งที่อยากก่อนแล้ว
.
ยิ่งฝืนใจทำสิ่งที่ไม่อยากทำก่อน ฝืนกระแสความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากของตนเอง ยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้กับจิตใจของเรา เสมือนการฝืนยกออกแรงสิ่งที่หนัก ย่อมเพิ่มพูนมวลกล้ามเนื้อความแข็งแรงของร่างกาย ฉันใดฉันนั้น การฝึกออกแรงใจด้วยการทำสิ่งที่ทวนกระแสกิเลสและความเคยชินของใจ ย่อมได้ผลตอบแทนมาซึ่งกำลังใจที่เข้มแข็งมากขึ้น เราย่อมมีแรงบริหารเวลาและความพากเพียรของตนเองอย่างเต็มที่
.
ยิ่งปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามกระแสความใคร่ ความพอใจ และความทะยานอยากของตนเพียงใด ยิ่งบั่นทอนกำลังใจของตนเองลงเท่านั้น ยิ่งทำให้จิตใจเราอ่อนแอลงและเสียธรรมดีๆ ภายในตนไป พร้อมที่จะถูกฉุดลากไปตามอารมณ์และสิ่งนอกตัวมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เวลาชีวิตก็จะเสียไปทีละน้อยอย่างไร้ค่า
.
เสมือนปลาที่ไม่ยอมว่ายทวนน้ำเลย เหมือนนกที่ไม่ยอมสยายปีกบินต้านแรงโน้มถ่วงเลย ย่อมค่อยๆ สูญเสียกำลังความเข้มแข็งและความสามารถที่จะแหวกว่ายหรือโบยบินมากเท่านั้น คุณค่าที่ได้เกิดมาก็ถูกบั่นทอนลง
.
เมื่อเราฝึกฝืนใจตนเองจนเข้มแข็งแล้ว เราจะเป็นนายแก่เวลาอย่างแท้จริง
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๖

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

 

*[๑] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต นาถกรณวรรคที่ ๒ เสนาสนสูตร

*[๒] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เจโตขีลสูตร

*[๓] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (๒๒๙)

*[๔] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๑)

*[๕] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐

*[๖] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒

*[๗] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต สติวรรคที่ ๔ สติสูตร

*[๘] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร (๒๒)