คุณค่าแท้การให้อภัย

 

 

คุณค่าแท้การให้ “อภัย”

 

การให้อภัยไม่ใช่การให้คนอื่น แต่เป็นการให้แก่ตัวเอง : การให้อภัยนั้นเรามักเข้าใจว่าเป็นการให้กับผู้อื่นที่ทำร้ายหรือกระทำสิ่งผิดต่อเราและสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง ทว่าจริงๆ แล้วนั้นการให้อภัยเป็นการย้อนกลับมาให้ตัวเอง มอบทานที่ล้ำค่าให้แก่จิตใจนี้
.
เมื่อใครอื่นทำให้เราเป็นทุกข์ เราย่อมเสียใจและเจ็บปวด อยากให้เขาชดใช้ หวังให้เขาสาสมแก่สิ่งที่กระทำ เมื่อนั้นแล้วเรากำลังทับถมตนเองด้วยความโกรธ ความเกลียด และกิเลสทั้งหลาย เราคิดจงเกลียดจงชังเช่นนั้น เรารู้สึกพยาบาทเช่นนี้ เพื่อปกป้องหัวใจตัวเองจากความเจ็บปวด แต่เราเองกำลังทำร้ายตนด้วยสิ่งลบร้ายในหัวใจ ซึ่งมีอยู่ในหัวใจของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
.
การให้อภัยแท้จริงแล้วคือการให้ตัวเองเป็นอิสระ จากความโกรธแค้น ความผูกใจเจ็บ และความเจ็บปวดที่เราทับถมตนเอง
.
เพราะแม้อีกฝ่ายจะได้รับผลสาสมดั่งใจเราอยากให้เป็น ความเจ็บปวดที่มีก็ใช่ว่าจะหายไปจากหัวใจ
.
เพราะหัวใจเรานี้จะเปรียบก็เหมือนภาชนะ ทุกสิ่งที่เราคิด พูด และทำโดยขาดสติ ย่อมเหมือนเก็บดองนองเนื่องไว้ภายในหัวใจเรานั้น
.
ความเจ็บปวดอันเกิดจากบุคคลอื่นกระทำต่อเรา มิได้เป็นนรกอันเลวร้าย มากไปกว่าการขังหัวใจตัวเองไว้ในความชิงชังและความเศร้าโศก
.
เราอาจรู้สึกว่าการบอกให้อภัยนั้นมันง่าย แต่ใจที่จะให้อภัยมันยาก ความรู้สึกที่อีกฝ่ายกระทำต่อเรามิได้หายไปง่ายดาย นั่นเพราะการให้อภัยมิใช่คำพูด แต่เป็นการทำที่หัวใจเรา ทำใจของเรา
.
การให้อภัยคือการปลดปล่อยใจจากความคิด ความรู้สึก และการกระทำของความโกรธเกลียดและเศร้าหมอง เพื่อให้หัวใจเราไม่ทิ่มแทงหัวใจตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้เราไม่เก็บดองนองเนื่องสิ่งลบๆ ไว้ในหัวใจตนด้วยตัวเอง หยุดความคิดจองเวรจองกรรม หยุดการกระทำทั้งกาย วาจา และใจซึ่งทำให้เราผูกกรรมลบร้ายต่อจิตและชีวิตตนสืบไป
.
การให้อภัย มิได้หมายความให้เราไม่ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองและคนที่เรารัก แต่ให้ดูแลและรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างตามความเป็นจริง โดยไม่ก่อทุกข์เพิ่มให้แก่ตนเองและผู้อื่น
.
แม้การให้อภัยเกิดที่หัวใจ แต่การพูดให้อภัยแม้หัวใจเรายังมีความเจ็บ ก็เป็นวจีกรรมที่ช่วยน้อมนำจิตเรานี้ หลุดพ้นจากการคิดจองเวร ปลดเปลื้องตัวเราจากการถือตน เพราะคำพูดและความคิดใดใดที่เรามุ่งต่อคนอื่น ล้วนแต่ย้อนกลับมามีผลต่อจิตและกายนี้เสมอ
.
เราอาจต้องใช้ระยะเวลาในการทำใจให้สงบเบา จากความเศร้าหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดของผู้อื่น แต่ระหว่างนี้เมื่อเราไม่ย้ำคิด ไม่ย้ำพูด และไม่ย้ำทำ ในทางบั่นทอนและกักขังตัวเองไว้ในความโกรธแค้นและความเศร้าใจ สิ่งลบในหัวใจย่อมทุเลาและลดเลือน
.
.
การให้อภัยยังมีคุณค่าแท้ที่การเข้าใจธรรมจากความเจ็บปวด : เมื่อเรายอมวางความโกรธ เกลียดชัง อาฆาตแค้น และหมองใจเศร้า เมื่อนั้นหัวใจเราย่อมสงบลง มีปัญญาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยหัวใจเป็นกลาง เราย่อมเข้าใจความจริงได้มากกว่ายามที่เรามีความโกรธหรือเศร้าลุกไหม้ภายใน ซึ่งหัวใจเราย่อมมีควันปกคลุม เราย่อมเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพียงมุมมองเดียวและพร่าเลือนด้วยควันไฟ
.
ชีวิตไม่อาจหลบเลี่ยงความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง แต่เราสามารถเลือกเผชิญกับความทุกข์เพื่อการเติบโตของหัวใจ จนถึงที่สุดแล้วก็จะสละหลุดพ้นจากสิ่งก่อทุกข์ใดใดได้มากขึ้นตามลำดับ แม้ความทุกข์ที่เกิดจากผู้อื่น เราก็สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นโอกาสการเติบโตของหัวใจและทางธรรม
.
บางครั้งสิ่งที่เราโทษคนอื่นเป็นผู้ผิด เราเองก็อาจมีความผิดในเหตุการณ์นั้นร่วมด้วย บางครั้งเราโทษความเลวร้ายในหัวใจของเขาคนนั้น ขณะที่ยามเผลอไผลเราเองก็ทำเช่นเดียวกันกับเขา
.
ทุกความสัมพันธ์และการพบเจอที่เลวร้าย ต่างเป็นกระจกสะท้อนบทเรียนที่ต่างต้องแก้ไขในตัวเอง เมล็ดพันธุ์แห่งกิเลส และความนึกคิดอกุศลที่นองเนื่องในหัวใจของเรา ก็มีอยู่ในเขาเช่นกัน
.
เมื่อหัวใจเราสงบจากความโกรธ ความเกลียด และความไม่พอใจ เราจึงจะสามารถพิจารณาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อเราใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ เราจะสามารถเข้าใจความ “อนิจจัง” ของชีวิตและสิ่งทั้งหลาย แม้ของรักของหวงก็ไม่ใช่ตัวตนของเราตลอดไป ต่อให้เขาไม่พรากเราวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าปัจจัยอื่นก็ย่อมพรากจากเราไป เหตุการณ์ทั้งหลายก็เพียงกลไกของเหตุและปัจจัยมากมายส่งเสริมให้เกิดขึ้น แม้ไม่ใช่เขาเป็นเหตุ เราก็อาจต้องพบเจอคนอื่นที่ทำเช่นนี้กับเรา หากปัจจัยที่เป็นเหตุร่วมยังมีอยู่ ซึ่งเราเองก็อาจเป็นหนึ่งในกรรมที่หนุนเนื่องให้เกิดเหตุการณ์นั้นได้ด้วยเช่นกัน
.
ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้ตลอดไป ไม่มีใครที่มีแต่แสงสว่างโดยปราศจากด้านมืด เมื่อมองย้อนกลับมาที่หัวใจตนเองอย่างแท้จริงแล้ว เราจะตระหนักรู้ว่า ไม่มีใครที่ก่อทุกข์ให้แก่ตัวเรา นอกจากการปรุงแต่งทั้งหลายในจิตใจ ผ่านเวทนา สัญญา และสังขาร
.
พระพุทธศาสนาสอนให้เราฝึกฝนตนเองเพื่อมองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็น “อิทัปปัจจยตา” คือความเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่อง ไม่เพ่งโทษว่าเพราะเขา เพราะใคร แต่ให้โทษที่ อิทัปปัจจยตา เพื่อเกิดปัญญาเข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เรียกว่า “ไตรลักษณ์”
.
หากใครคนหนึ่งทำให้เราเจ็บช้ำ ใครคนนั้นกำลังเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ตัวเรา ครูที่ไม่ต้องการศรัทธา ความชอบตอบกลับ คือคนที่สอนให้เราเข้าใจในความทุกข์
.
ทั้งนี้เมื่อเราพบเจอกับเหตุการณ์ที่เลวร้าย ก่อนที่เราจะพยายามลบเลือนความทุกข์ด้วยข้อคิดใด เราควรกลับมาใส่ใจดูแลและรับฟังใจของตนเองอย่างลึกซึ้ง อย่างไม่หน่ายหนีหรือรังเกียจใจตนเองยามบอกช้ำ
.
แม้สิ่งใดหรือใครจะพลัดพรากจากเราไป เราต้องไม่ทิ้งหัวใจของตนเอง มิว่าใครเป็นเหตุก่อทุกข์ เราต้องไม่เป็นเหตุก่อทุกข์แก่ใจและร่างกายเราซ้ำเติม เรามีคุณค่าเสมอ หัวใจและร่างกายเรามีคุณค่าเกินกว่าที่จะทำสิ่งเลวร้ายอย่างเดียวกับกับที่ทำร้ายเรา ต่อตัวเราเอง และต่อใคร
.
ความโกรธเกลียด เสมือนคบเพลิงที่ส่งต่อกันมา คนที่ทำร้ายเราก็ได้รับคบเพลิงนั้นจากพ่อแม่ การถูกกลั่นแกล้ง รับมาจากสื่อ และปัจจัยต่างๆ หากเราเลือกรับคบเพลิงนั้นมาแล้วส่งต่อไป เพลิงก็จะลุกลามไหม้ไปทั้งสังคม
.
สิ่งที่เรากระทำไปด้วยโทสะ โมหะ หรือโลภะ ย่อมเป็น อิทัปปัจจยตา ก่อวงจรทุกข์ต่อตัวเองและคนอื่นๆ เป็นกงกรรมกงเกวียน เบียดเบียนกันเรื่อยไป ท้ายที่สุดคบเพลิงนี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังลูกหลานและเด็กๆ ทั้งหลาย หากเราเลือกแก้แค้น แค้นนี้ไม่ได้สนองแก่บุคคลที่เรามุ่งหมายอย่างเดียว แต่ยังลงทัณฑ์คนอื่นๆ อีกเท่าทวี
.
การเคารพตนเองเป็นปัจจัยสำคัญของการทำใจให้อภัย เมื่อเราเคารพตนเองมากพอ เราจะปฏิเสธคบเพลิง หรือเลือกรับมาเพื่อดับลง เราจะไม่ก่อทุกข์ซ้ำให้แก่ตนหรือใครอื่นอีกต่อไป เพราะเรามีคุณค่าเกินกว่าที่จะทำเช่นนั้น
.
.
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต  ตอนที่ ๒๗
.
โดย อนุรักษ์ ครูโอเล่
สถาบันธรรมวรรณศิลป์
{ ติดตามบทความ และ การอบรมได้ที่ } www.dhammaliterary.org