๔ ข้อคิด “ทำใจ” จากเมฆ (ตอนสอง)

 

ข้อคิดจากเมฆ

 

 

๔ ข้อคิด “ทำใจ” จากเมฆ (ตอนที่สอง)

บทความตอนที่แล้วนั้น ได้ยกข้อคิดที่เราสามารถเรียนรู้จากเมฆ เพื่อ “ทำใจ” หรือแนะนำการทำใจ แก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งสองข้อคิดแรกนั้นคือ “หัวใจหม่นหมองเป็นสิ่งชั่วคราว” กับ “การร้องไห้และความเสียใจมิใช่ความอ่อนแอ” แต่เป็นจุดเริ่มต้นของฟ้าหลังฝน
.
การ “ทำใจ” นั้นมีสองรูปแบบ แบบหนึ่งคือ “การยอมรับ” ในสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง เราสามารถทำอะไรได้มากน้อยเท่าใด อะไรที่เราทำไม่ได้ การยอมรับนั้นคือการปลดความคาดหวังที่เราแบกรับไว้ จนทำให้เศร้าเสียใจและทำร้ายตนเอง
.
แบบที่สองคือ “การปรับปรุง” ในเมื่อเราแก้ไขคนอื่นไม่ได้ จัดการสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ก็เหลือเพียงสิ่งใกล้ตัวที่ควรปรับปรุง นั่นคือ ตัวเรา แก้ไขความคิดที่ทำร้ายตัวเอง ดูแลความรู้สึกในใจ ปรับเปลี่ยนการกระทำที่สร้างปัญหา ปรับมุมมองที่ทำให้เราคาดหวังหรือเป็นทุกข์กับสิ่งนั้นๆ
.
เพราะสิ่งภายนอกตัว เราไม่อาจเข้าไปจัดการให้เป็นไปตามความ “คาดหวัง” ได้หมดสิ้น แม้ “คาดหมาย” ว่าอยากให้เป็นอย่างไรหรือควรเป็นอย่างไร นั่นเพียงมุมมองในหัวใจเราเท่านั้น คนเราทุกข์กับเหตุการณ์ข้างนอกแค่ส่วนหนึ่ง แต่ทุกข์เพราะใจตนเองและมุมมองตนมากกว่า ดังนั้นการทำที่ “ใจ” ตนเองจึงสำคัญมาก
.
ไม่ใช่ความ “คาดหวัง” แต่สิ่งที่เราควรดูแลนั่น จริงๆ แล้ว คือ “ความหวัง” ต่อการมีชีวิต ต่อการได้พบเจอใครสักคนและทำสิ่งที่ตนเองรัก เพื่อมุ่งมั่นตั้งใจและเห็นคุณค่าในทุกสิ่งและทุกเวลาที่มีอยู่ ก่อนถึงวันหมดอายุ เพราะ “ความหวัง” คือพลังใจหล่อเลี้ยงความสุข แต่ความ “คาดหวัง” คือการดิ้นรนอย่างเป็นทุกข์ โดยเฉพาะเมื่อขาดใจที่ยอมรับความจริง
.
แล้วเราควรใส่ใจที่ “ความหมาย” มิใช่ความ “คาดหมาย” แล้วเราจะเป็นสุขได้เสมอ แม้ถึงวันร้างลาจากสิ่งที่เราผูกพัน เพราะความหมายจะอยู่กับเราเสมอไป แต่ความ “คาดหมาย” มิเคยแน่นอน
.
ต่อไปนี้เป็นอีกสองข้อคิด เพื่อ “ทำใจ” จากครูผู้อยู่เหนือศีรษะ
.
ข้อที่ ๓ ยามที่เมฆบดบังท้องฟ้ามืดมน แสงสว่างก็ยังแอบซ่อนอยู่ตรงนั้น : สังเกตในเวลากลางวัน เมื่อหมู่เมฆาเดินทางมาชุมนุมมากมาย ท้องฟ้าก็เริ่มอึมครึม มัวหม่นแสงลง จนกระทั่งแผ่ผืนครึ้มดำไปทั่วผืนฟ้า นับตอนนั้นแสงสว่างแลถูกกลืนหายหมดสิ้น
.
ในท่ามกลางความทุกข์ของชีวิต เปรียบบรรยากาศหัวใจและวันคืนที่ตื่นขึ้นมา ย่อมมีสภาพคล้ายกับบรรยากาศมืดครึ้มอย่างนั้น ความหวังและทางออกของปัญหาดูรางเลือน บ้างราวกับว่าเส้นทางที่จะไปข้างหน้านั้นได้สูญสิ้นแล้ว เหมือนแสงที่ดับลง
.
หากเพียงแต่เมฆบดบังดวงอาทิตย์เท่านั้น แสงสว่างมิได้หายไป เพียงแค่เรายังมองไม่เห็น
.
ในช่วงเวลาที่ยากแสนยาก ความรู้และปัญญาที่เรามีก็พลอยราวหายไปด้วย คิดไม่ออกว่าจะต้องทำและจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร ทั้งที่เราเคยแนะนำคนอื่นได้หรือเคยคิดดีๆ ในยามที่ใจสงบ นั่นก็เพราะว่าหัวใจเรามีเมฆปกคลุม เมฆที่ว่านั้นในทางพุทธศาสนาก็คือ นิวรณ์ สิ่งนี้คือกำแพงขวางกั้นปัญญา เวลาเราถูกความเศร้าเสียใจหรือความผิดหวังรบกวน เราจึงสับสนไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร
.
แสงสว่างยังอยู่ตรงนั้น อยู่เบื้องหลังเมฆเมฆา ทุกเรื่องร้ายในชีวิต มิเคยทำลายแสงสว่างของหัวใจ หรือลบล้างคุณค่าใดใดของชีวิต แค่เพียงกลับบังเท่านั้น แล้วเมื่อวันเวลามาถึง มวลเมฆคลายเปิดผืนฟ้า แสงสว่างของชีวิตก็ย่อมกลับมา
.
ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ จึงสอนให้เรามีศรัทธาเสมอ แม้ในช่วงเวลาที่เลวร้ายเหมือนล่องเรือกลางพายุบ้าคลั่ง เรามองไม่เห็นหนทางและฝั่งใดใด เพราะเมฆนั้นปกคลุมแสงสว่างเสียรางเลือน แต่ “ศรัทธา” นั่นคือการเชื่อและวางใจว่า แม้ไม่เห็นใช่ว่าไม่มี แม้ ณ ตอนนี้ไม่มีแสงสว่างและทางออก ใช่ว่าไม่มีอยู่ แค่เมฆหมองของอารมณ์บังตาไปเท่านั้น
.
ศรัทธา ยังหมายถึง เมื่อในช่วงเวลาที่มืดมน แทนที่เราจะเอาแต่จ้องมองไปในความมืด คือจมอยู่กับความคิดลบและความเศร้าซึม แต่มองหาแสงสว่าง เราย่อมพบทางออกได้ มิใช่ทางจมไปในความมืดมิด
.
เมื่อใดที่เรามองไม่เห็นหนทาง จงมองไปที่แสงสว่าง มิใช่ความมืดดำ การคิดลบตอกย้ำตนเองและกล่าวโทษคนอื่น หรือการปล่อยปล่ะตนเองให้หม่นหมองและป่วยกายใจ เหล่านั้นคือการจ้องมองไปในความมืดทั้งที่เราต้องการหาทางออก แสงสว่างไม่มีอาจเพราะเพียงเราเอาแต่จ้องไปในมุมมืด หรือยืนจดๆ จ้องที่ทางตันตรงนั้น มิได้แหงนหน้าหรือเหลียวดูรอบกายว่า ยังมีหนทางอื่นๆ อีกมากมาย
.
การคิดบวก คิดสร้างสรรค์ นั่นก็คือมองไปที่แสงสว่าง มิใช่ความมืดมิด มี “ความหวัง” แต่ไม่คาดหวัง ใส่ใจ “ความหมาย” มิใช่การคาดหมายให้เป็น
.
ข้อที่ ๔ เมฆเดินทางและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะยืดหยุ่นกับตนเอง : ทุกสิ่งทุกอย่างมิอาจเป็นไปตามใจเราอยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็นได้ตลอด ความคาดหวังนั้นมักคาดคั้นต่อตนเองและชีวิตให้พยายามเป็นไปอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ชีวิตจึงตึงเครียดและหาทางไปต่อไม่ได้
.
เราลองสังเกตจากเมฆ เราเห็นรูปร่างหลากหลาย และหลายครั้งยากจะพรรณาลักษณะของปุยสีขาวสีเทาที่พลิกไหวเคลื่อนคล้อยช้าช้า เปลี่ยนแปรรูปลักษณ์ พร้อมหลอมรวมและแยกห่าง ชีวิตเช่นนี้ดูสงบกว่าชีวิตคนเราหรือไม่ ซึ่งพยายามหวงแหนรักษาสิ่งต่างๆ ให้ได้ดังใจหวัง มีเงื่อนไขมากมายกำหนดตีตราชีวิตของเรา ว่าชีวิตเราจะมีค่าได้ต้องทำอะไรหรือขึ้นอยู่กับใคร ขณะที่เมฆนั้นเดินทางไปได้รอบโลก แต่ชีวิตเรากลับตกร่องจมที่เดิม
.
เมฆนั้นกำลังสอนเราถึงการ “ยืดหยุ่นต่อตนเอง” ไม่บีบคั้นคาดคั้นตนเองจนเป็นทุกข์ และไม่ปล่อยปล่ะละเลยตนเองจนย่ำแย่ เพราะยืดหยุ่นมากพอจึงพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้ เฉกเช่นเมฆเปลี่ยนลายและรวมก้อนกับเมฆอื่น
.
ยามเสียใจก็ยอมรับความเสียใจนั้น ไม่พยายามเข้มแข็งมากเกินไปจนหนีความทุกข์และเก็บกดจนเป็นความเครียด และไม่จมอยู่กับความเสียใจนั้น หากแต่พร้อมจะเทสายฝนเช่นเมฆ ยามอุ้มน้ำหนักอึ้งแล้วก็ปล่อยวางตัวตนลงเป็นสายน้ำรดรื่นแผ่นดิน ยามหัวใจเรามีเมฆฝน พยายามเกาะกุมไม่ให้ตนเองดูอ่อนแอ เรายิ่งบีบคั้นตนเองมากเท่านั้น แค่อนุญาติให้เราตัวเราเศร้าบ้าง ดูแลใจอย่างมีสติ ฝนตกลงมาแม้ยาวข้ามวันเพียงใด ย่อมมีวันสร่างซา
.
เมื่อสิ่งที่หวังไม่ได้อย่างหวัง แม้พยายามจนสุดแรงแล้ว เมฆก็สอนเราว่าควรยืดหยุ่น ไม่ขังตัวเองไว้กับความคาดหวังนี้ พร้อมก้าวต่อไปยังสิ่งใหม่ที่เหมาะสมกว่า ชีวิตเราไม่ได้มีคุณค่าขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แม้สิ่งที่ว่าจะดีมากเพียงใดก็ตาม ทุกอย่างไม่แน่นอน มีวันหมดอายุทั้งสิ้น ถึงคราวก็ต้องพร้อมผละจากกัน เหมือนเมฆสลายคลายตัวจากกัน เกิดเป็นก้อนใหม่ๆ เดินทางไปยังแห่งหนอื่น
.
ยืดหยุ่นกับตนเอง ยังหมายถึง ไม่ตั้งเงื่อนไขกับตนเองมากเกินไป รอให้ตัวเองหายเศร้าแล้วค่อยดูแลตัวเอง นั่นเป็นเงื่อนไขที่ผูกมัดตัวเองให้จมอยู่กับความเศร้า แต่ไม่ยอมมอบความรักแก่ตน
.
เคยหรือไม่ เราใช้ชีวิตมาแสนยาวนาน เพื่อตามหาความรักจากคนอื่น คาดหวังให้คนอื่นยอมรับและรักเราอย่างที่เราเป็น แต่ไม่เคยคิดมอบความรักให้แก่ตนเองอย่างไร้เงื่อนไขเลย
.
เราไม่ควร “ทำต่อตัวเอง” อย่างมีคุณค่า เฉพาะในยามที่เรามีคุณค่าจากเงื่อนไขที่ความเชื่อตั้งไว้ เพราะคุณค่าตัวเราไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเสมอไป เช่นว่า เราเชื่อว่าการประสบความสำเร็จในการทำงานคือคุณค่าของชีวิตหรือทำให้เรามีคุณค่า หากเรายึดเงื่อนไขนี้ไว้มาก ยามทำงานหนักจนร่างกายชำรุด หัวใจก็ย่อมเศร้าพลันพาให้ตนไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง จนพลอยเกิดความเครียด ความซึมเศร้า และรู้สึกล้มเหลวในชีวิต
.
ทั้งที่จริงแล้วคุณค่าของมนุษย์นั้นมีมากเกินกว่าเงื่อนไขและคำตัดสินใดใด ถ้วยรางวัลและ “ความภูมิใจ” ให้ความตื่นเต้นยินดีและเสียงชื่นชม แต่ก็ไม่เคยให้คุณค่าจริงๆ แก่ชีวิต มีเพียง “ความพอใจ” และการ “เคารพตนเอง” เท่านั้นที่ให้เราได้
.
บางคนให้คุณค่าชีวิต ยึดติดอยู่กับวัตถุภายนอก ต้องเปลี่ยนมือถือและพยายามเสพซื้อสิ่งของอยู่ร่ำไป เพียงเพื่อไม่ให้ตัวเองด้อยค่ากว่าใคร แต่ก็ไม่อาจหาความพอใจได้
.
อย่างน้อยที่สุดในหัวใจเรา ก็ต้องการความรักที่ไร้เงื่อนไขอยู่ ไยจึงต้องตั้งเงื่อนไขกับตนเองให้มากมายจนหัวใจสับสนและชีวิตหดหู่
.
ก้อนเมฆไม่เคยร้องขอหรือบอกว่าคุณค่าของตนขึ้นอยู่กับสายตาคนมองหรือรูปลักษณ์ หากแต่ทำหน้าที่อย่างผ่อนคลายและพร้อมปล่อยวางตัวตน แม้ยามเศร้าหมองก็ยังเพาะบ่มต้นไม้ในบ้านเราให้เติบโต
.
นอกจากสี่ข้อนี้ ในบทความทั้งสองตอน เราอาจเรียนรู้ข้อคิดจากครูและผู้เยียวยาที่อยู่เหนือศีรษะ ในด้านการ “ทำใจ” และการใช้ชีวิตได้อีกมาก มีผู้อ่านท่านใด หรือนักเรียนหลักสูตร “ห้องเรียน พลังแห่งจิต” คนใดเห็นข้อคิดที่น่าสนใจจากเมฆและท้องฟ้าก็สามารถแลกเปลี่ยนกับทางผู้เขียนผู้อ่าน ทางช่องความคิดเห็นของบทความนี้หรือการเขียนและโพสด้วยตนเอง เพราะพลังแห่งการเยียวยานั้นอยู่ในเราทุกคนอยู่แล้ว และทุกสิ่งในธรรมชาติเป็นครูแก่เราเสมอ
. . .
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
. . .
(ตอนแรก) www.dhammaliterary.org/ข้อคิดจากเมฆ1/
(หลักสูตร ห้องเรียน พลังแห่งจิต รุ่นที่ ๗)
www.dhammaliterary.org/ห้องเรียน-พลังแห่งจิต/